อย่าให้ยุงกัด เดี๋ยวเป็นโรคไข้เลือดออก เรามักได้ยินคำเตือนแบบนี้บ่อยๆ ซึ่งก็จริงอยู่ แต่ทว่าคนที่ถูกยุงกัดจะไม่ได้เป็นแค่โรคไข้เลือดออกเท่านั้น เพราะยังมีโรคอื่นๆ ตามมาด้วย ขึ้นอยู่กับชนิดของยุง
ในช่วงฝนตกบ่อย แล้วมีน้ำขังตามที่ต่างๆ สภาพมีน้ำขังจะทำให้การแพร่ขยายพันธุ์ยุงลายได้ดี เมื่อยุงลายชุกชุมมากๆ ก็เป็นพาหะนำโรคมาสู่คนและสัตว์ได้โดยง่าย ยุงลายนำมาซึ่งโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อ จากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา และไข้ซิกา จากเชื่อไวรัสซิกา
สัปดาห์นี้ขอกล่าวถึงอีก 2 โรค อันเกิดจากยุงลาย คือไข้ปวดข้อยุงลาย และไข้ซิก้า ไข้ปวดข้อยุงลาย เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาหลังจากถูกยุงลายกัด อาการโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับไข้เลือดออกมากแต่อาการที่เด่นชัดมากกว่าคืออาการปวดข้อ ปวดกระดูกไข้ปวดข้อยุงลายไม่มียาใช้รักษาเฉพาะ มีแต่การให้ยารักษาตามอาการ แม้ว่าการป่วยจากเชื้อไวรัสชนิดนี้จะไม่ได้ทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำและเลือดออกได้เหมือนกับไข้เลือดออก แต่ถ้าเกิดโรคในผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กหรือกลุ่ม 608 ที่ไม่แข็งแรง อาการป่วยก็จะรุนแรง จนต้องนำตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล
สำหรับสถานการณ์การระบาดของไข้ปวดข้อยุงลาย ล่าสุดจนถึงประมาณวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 พบผู้ติดเชื้อแล้ว 598 ราย แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ในปีนี้
โรคต่อมาคือ ไข้ซิกา ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกาซึ่งมียุงลายเป็นพาหะเช่นกัน อาการของโรคก็ไม่แตกต่างกันมากกับไข้ปวดข้อยุงลาย ก็คือ มีไข้ ตาแดง มีผื่นขึ้น ปวดหัว ปวดเมื่อย ซึ่งก็ใช้วิธีรักษาตามอาการเช่นเดียวกับทั้งไข้เลือดออกและไข้ปวดข้อยุงลาย แต่ที่ต้องระวังเป็นพิเศษสำหรับไข้ซิกาคือ การติดเชื้อในหญิงมีครรภ์ เพราะไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อไปยังทารกได้ และทำให้ทารกพิการทางระบบประสาทและสมอง คลอดออกมามีความผิดปกติ เช่น ศีรษะเล็ก พัฒนาการช้า เป็นต้น
ดังนั้น นอกจากการระวังไม่ให้ถูกยุงกัด หากเกิดไข้ระหว่างตั้งครรภ์ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจว่าเป็นไข้ซิกาด้วย เพราะหากเป็นไข้ซิกาขึ้นมาจริงๆ ก็จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ที่ไปฝากครรภ์
สำหรับสถานการณ์การระบาดของไข้ซิกาในปีนี้ จนถึง 9 สิงหาคม 2566 พบผู้ป่วยแล้ว 172 ราย แม้จะไม่มากเท่าไข้ปวดข้อยุงลาย แต่ผลกระทบน่ากังวลมากกว่า
สำหรับไข้จากยุงลายทั้ง 3 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย หรือไข้ซิกา คำแนะนำเกี่ยวกับการบรรเทาอาการไข้คือ ควรเช็ดตัวและหรือยาลดไข้บรรเทาปวดพาราเซตามอลเท่านั้น ไม่ควรใช้ยาลดการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า NSAIDs (เช่น ไอบูโพเฟน แอสไพริน เป็นต้น) เพราะอาจเป็นอันตรายจากผลข้างเคียงของยาได้ เช่น ระคายเคืองกระเพาะ เลือดออกหรือเกิดแผลในกระเพาะ หรืออาจเป็นพิษต่อไตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs ในกรณีของไข้เลือดออกยิ่งอันตรายต่อผู่ป่วยมาก
ในรายที่ไข้สูงและมีภาวะขาดน้ำร่วมด้วย หากเช็ดตัวและใช้ยาลดไข้พาราเซตามอลแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมงก็ควรพาผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ประเมินว่าต้องได้รับการรักษาอื่นเพิ่มเติมหรือไม่
สำหรับในกลุ่มผู้ที่ก่อนจะป่วยด้วยโรคนี้ แต่ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพอะไรมากนัก ไข้ซิการวมทั้งไข้ปวดข้อยุงลายมักจะหายได้เอง แต่สำหรับเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่เต็มที่ การติดเชื้อก็อาจรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัดตั้งแต่แรก รวมถึงการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยปฏิบัติการ 3 เก็บ ได้แก่ เก็บบ้านให้สะอาดไม่ให้ยุงลายมาเกาะพัก เก็บขยะให้มิดชิดไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและเก็บน้ำให้มิดชิด ไม่ให้ยุงลายไปวางไข่ หากทำได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในบ้านของเราและชุมชนรอบๆ ก็จะลดโอกาสเสี่ยงไข้ทั้งสามอย่างจากยุงลายตัวร้ายได้
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี