ความสำคัญของปัญหาสุขภาพของชุมชนเมือง การดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลภาวะ การขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้านสุขภาพ รวมทั้งขาดการปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดของประชาชนในชุมชนเมือง เมื่อเร็วๆ นี้ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงได้จัดอบรม “โครงการอาสาจุฬาภรณ์” ขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของอาสาจุฬาภรณ์ ให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพอนามัยของตนเองได้ดี สามารถถ่ายทอดความรู้ระหว่างกัน และสามารถดูแลสุขภาพคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ณ CRA Hall ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วิสุทธิ์ ล้ำเลิศธน รักษาการรองคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน เป็นประธานเปิดโครงการอาสาจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “กิจกรรมนี้ ประชาชนที่มาตั้งใจอยากได้ความรู้ ส่วนนักศึกษาของเราได้เรียนรู้ รับทราบ มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน เขาจะได้รู้ด้วยว่าชุมชนที่มามีสุขสภาวะดีขึ้นอย่างไร จากการที่ทุกฝ่ายช่วยกัน นอกเหนือจากนั้นยังมีประโยชน์ด้านงานวิจัย นำความรู้จากการทำงานเชิงรุกไปต่อยอดและแก้ปัญหาตรงจุด ซึ่งแผนงานในอนาคตเราอยากสร้างชุมชนต้นแบบที่มีความยั่งยืน ให้เป็นไปตามสามหลักการ สร้างคนให้อาสาสมัครจุฬาภรณ์ได้ตระหนักรู้ เอาความรู้ไปดูแลตัวเอง ครอบครัว ชุมชน จากนั้นใช้เทคโนโลยีมาช่วย เก็บข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในการดูแลตัวเอง รวมถึงการทำงานวิจัยของนักศึกษา ท้ายที่สุดสามารถเชื่อมต่อ สร้างระบบบริการให้ประชาชนส่งต่อข้อมูลจากชุมชนสู่สถานบริการได้อย่างไม่ติดขัด”
วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ดำเนินโครงการอาสาจุฬาภรณ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และตามรอยพระปณิธานในศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาสุขภาพของประชาชนในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนเมือง ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลภาวะในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมีจำนวนมาก แต่ประชาชนจำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้านสุขภาพ รวมทั้งขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนด้วยกันเอง โครงการอาสาจุฬาภรณ์เป็นโครงการที่เน้น 3 หลักการ ได้แก่ 1.การสร้างคน ได้แก่ อาสาจุฬาภรณ์ ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ได้รับการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ มีความมั่นใจในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน 2.การสร้างเครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูล ในรูปแบบแอปพลิเคชั่นอาสาจุฬาภรณ์ และ 3.การสร้างระบบการบริการสุขภาพ ที่เชื่อมโยงจากชุมชนสู่สถานบริการ เพื่อให้เกิดระบบชุมชนต้นแบบที่มีความเข้มแข็งด้านสุขภาพสู่ความยั่งยืน ของประเทศไทย
จากการดำเนินงานโครงการอาสาจุฬาภรณ์ที่ผ่านมาพบว่าอาสาจุฬาภรณ์รุ่นที่ 1 และ 2 มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพอนามัยของตนเองได้ดี สามารถถ่ายทอดความรู้ระหว่างกัน และสามารถดูแลสุขภาพคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพเห็นได้จากการที่ชุมชนดังกล่าว ได้ผ่านวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของ โรค COVID-19 ที่ผ่านมาได้อย่างเข้มแข็งและปลอดภัย
โครงการอาสาจุฬาภรณ์ได้รับการตอบรับที่ดีจากชุมชน มีผู้เข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่องสู่รุ่นที่ 3 และมีนักศึกษาจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒนเข้าร่วมเป็นอาสาจุฬาภรณ์ในทุกรุ่นด้วยวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน จึงได้จัดโครงการอาสาจุฬาภรณ์ขยายผล และขยายพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาศักยภาพของประชาชนรวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนและบุคลากรในหน่วยงานท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพ ปฏิบัติหัตถการทางการแพทย์ในเบื้องต้นได้ อีกทั้งมีส่วนร่วมในการสร้างระบบการดูแล ส่งเสริมสุขภาพชุมชน และสนับสนุนการวิจัยชุมชนที่อาจช่วยพัฒนาชุมชนในระยะยาว ทั้งนี้ ยังให้อาสาจุฬาภรณ์เสนอแนวคิดในการพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองและชุมชนไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
โครงการอาสาจุฬาภรณ์ ขยายผลสู่ชุมชนเมือง ครั้งนี้ อาสาจุฬาภรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ อาสาจุฬาภรณ์ รุ่นที่ 1-3 ของชุมชนเมืองได้แก่ ชุมชนการเคหะหลักสี่และชุมชนโดยรอบ ประกอบด้วยอาสาจุฬาภรณ์ รุ่นที่ 1 จำนวน 40 คน อาสาจุฬาภรณ์ รุ่นที่ 2 จำนวน 31 คน อาสาจุฬาภรณ์ รุ่นที่ 3 จำนวน 44 คน นักศึกษาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน จำนวน 57 คน รวม 172 คน
กิจกรรมพัฒนาอาสาจุฬาภรณ์ ชุมชนเมือง ประกอบด้วย กิจกรรมสานสัมพันธ์ และกิจกรรมภาคปฏิบัติ 9 ฐาน ที่ให้ความรู้ทางวิชาการที่หลากหลาย อาทิ กะหล่ำปลีบรรเทาปวด ฐานการวัดความดัน ฐานการทำแผลอย่างถูกต้อง ฐานการเจาะวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง ฐานการวัดสัดส่วนร่างกายที่ถูกต้อง ฐานการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ฐานสุขภาพจิตในชุมชน ฐานการช่วยเหลือชีวิตขั้นพื้นฐาน หรือ Basic Life Support และการระดมความคิดเพื่อทำกิจกรรมในชุมชน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม “ค้นหาของดี เรียนรู้ชุมชน” เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างรายได้เสริมผ่านการมีส่วนร่วมด้านสุขภาพของประชาชนในชุมชนอีกด้วย
นับได้ว่า โครงการอาสาจุฬาภรณ์ เป็นโครงการที่จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งในการวางรากฐานให้ประชาชนในเขตชุมชนเมืองได้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเองและชุมชน ทั้งในด้านการป้องกันโรค และการดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้น ภายใต้การดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากคณาจารย์และบุคลากรของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้มีสุขภาพที่ดี สมดังพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงจัดตั้งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ขึ้น เพื่อความเป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต (Beexcellent for lives)
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก อาจารย์พชรพล พะระรามันห์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอาหารในชุมชน เพื่อค้นหาของดีในชุมชนที่สามารถนำไปพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์ ในการดูแลสุขภาพนำไปสู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ทั้งนี้ อาสาจุฬาภรณ์ได้ค้นพบสิ่งที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดมากกว่า 10 อย่าง เช่น การนำพืชสมุนไพรในชุมชน มาทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และสร้าง Gastronomy Tourism เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวบริเวณรอบชุมชนอีกด้วย ฯลฯ ท้ายสุดอาสาจุฬาภรณ์ยังได้ระดมความคิดเสนอโครงการพัฒนาสุขภาพในชุมชน เช่น โครงการรำกลองยาวเพื่อสุขภาพ บาสโลปเพื่อสุขภาพกายและใจที่ดี และ โครงการหมอมาแล้ว ฯลฯ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี