อาหารปิ้งย่างจัดเป็นอาหารประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากคนทุกเชื้อชาติ เนื่องจากกลิ่นที่ได้จากการปิ้งหรือย่างทำให้อาหารประเภทนี้น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น สำหรับเมนูปิ้งย่างในประเทศไทยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือ เนื้อสัตว์ย่าง อย่างไรก็ตามหลายคนเลือกที่จะหลีกเลี่ยงอาหารประเภทปิ้งย่างเนื่องจากกังวลว่าอาหารเหล่านี้จะเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง
ข้อมูลจาก อาจารย์ ดร.ภญ.ชญานิน กีรติไพบูลย์ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มีผลการวิจัยในปัจจุบันที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานอาหารปิ้งย่างและความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งนั้นยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เนื้อสัตว์ที่ได้รับความร้อนสูงโดยตรงหรือการย่างจะสร้างสารก่อมะเร็ง 2 ชนิด ได้แก่ สาร heterocyclic amines (HCAs) และ polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) โดยสาร HCAs เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างโปรตีนและความร้อน ส่วน PAHs เกิดจากควันและการเผาไหม้ บทความนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อนำเสนอเทคนิคที่ช่วยให้การรับประทานเมนูปิ้งย่างของทุกคนมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ดังนี้
1.การหมักเนื้อสัตว์ด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ
ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่าสารก่อมะเร็งที่เกิดขึ้นขณะย่างเนื้อสัตว์นั้นจะพบที่บริเวณผิวด้านนอกของเนื้อ และลึกเข้ามา 3-4 มิลลิเมตร ดังนั้น การหมักหรือพอกเนื้อสัตว์ด้วยเครื่องเทศที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระก่อนนำไปย่างอย่างน้อย 30 นาที สามารถลดการสร้างสารก่อมะเร็งได้ถึง 90% ตัวอย่างเครื่องเทศที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น กระเทียม ตะไคร้ พริกไทยโหระพา สะระแหน่ โรสแมรี่ และออริกาโน่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ Misagh Karimi ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางมะเร็งทางเดินอาหาร ประจำ City of HopeOrange County Lennar Foundation Cancer Center ในประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการหมักด้วยสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจะลดโอกาสของการเกิดมะเร็งจากเนื้อสัตว์ย่างได้หรือไม่นั้น ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย
2.หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์บางชนิด
เนื้อสัตว์ทุกประเภทเมื่อนำมาผ่านความร้อนสูงโดยตรงหรือการย่างจะมีการสร้างสารก่อมะเร็งขึ้น หลักฐานจากงานวิจัยพบว่าเนื้อสัตว์ปีกและปลา เมื่อนำมาย่างจะพบสารก่อมะเร็งปริมาณน้อยกว่าสัตว์เนื้อแดง ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อแกะ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนผักย่างจะไม่พบการสร้างสารก่อมะเร็ง ดังนั้น นอกเหนือจากการหลีกเลี่ยงเนื้อแดงแล้ว การแทนที่เนื้อสัตว์ด้วยผักในเมนูปิ้งย่างจึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
3.ทำให้สุกเพียงบางส่วนด้วยความร้อนต่ำ
การสร้างสารก่อมะเร็งจะเกิดขึ้นขณะที่เนื้อสัตว์สัมผัสกับความร้อนสูงโดยตรง หรือเปลวไฟในระหว่างการย่าง ดังนั้นหากลดระยะเวลาที่เนื้อสัตว์สัมผัสกับความร้อนสูงได้
การสร้างสารก่อมะเร็งก็จะลดลงตามไปด้วย นักกำหนดอาหารจึงแนะนำให้ปรุงเนื้อสัตว์ด้วยความร้อนต่ำก่อนนำไปย่าง เช่น การอุ่นด้วยไมโครเวฟ หรือการนึ่ง โดยใช้ความร้อนที่ไม่สูงมากชั่วขณะหนึ่ง เพื่อทำให้เนื้อสัตว์สุกเพียงบางส่วน จะช่วยให้ลดระยะเวลาที่ใช้ในการย่างลงได้ นอกจากนี้ การห่อเนื้อสัตว์ด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ หรือการวางอะลูมิเนียมฟอยล์บนตะแกรงย่าง เพื่อให้ความร้อนหรือเปลวไฟไม่สามารถสัมผัสกับเนื้อสัตว์โดยตรงได้ สามารถลดปริมาณสารก่อมะเร็งที่เกิดขึ้นขณะย่างได้อีกด้วย
4.พลิกหรือกลับบ่อยๆ
แพทย์เฉพาะทางมะเร็งทางเดินอาหารให้คำแนะนำว่าการพลิกหรือกลับเนื้อสัตว์บ่อย ๆ ในขณะย่างเพื่อลดรอยไหม้เกรียม สามารถลดปริมาณสารก่อมะเร็งที่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีระยะเวลาที่แน่นอนว่าหลังจากย่างเนื้อสัตว์แล้วนานแค่ไหนจึงควรพลิกดังนั้น การสังเกตด้วยตัวเราเองขณะย่างเนื้อสัตว์จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด
โดยสรุป จากข้อมูลการศึกษาในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้ว่าการรับประทานเนื้อสัตว์ย่างบ่อยแค่ไหน จึงจะทำให้เป็นมะเร็ง เนื่องจากปริมาณสารก่อมะเร็งที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย และความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในแต่ละคนไม่เท่ากัน แพทย์เฉพาะทางมะเร็งทางเดินอาหารจึงแนะนำว่า ควรเว้นการรับประทานเนื้อสัตว์ย่างติดต่อกันทุกวัน และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานบริเวณที่ไหม้เกรียม สำหรับผู้สนใจข้อมูลสุขภาพและการใช้ยาของคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล สามารถติดตามได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/service-knowledge.php
ข้อมูลจาก ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง เลขาธิการกองทุนโรคมะเร็งในเด็กในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีกรมหมื่นสุทธนารีนาถ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงรับกองทุนโรคมะเร็งในเด็กไว้ในพระอุปถัมภ์ จวบจนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วที่ทรงมีพระเมตตาช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเด็กที่ยากไร้ทั่วประเทศในโรงพยาบาลกว่า 20 แห่ง รูปแบบในการให้ความช่วยเหลือคือ ช่วยค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษา รวมทั้งค่ายาค่าเดินทางมาตรวจรักษา ค่าที่พัก เวชภัณฑ์ต่างๆ ด้วย สามารถร่วมบริจาคได้ที่บัญชี “กองทุนโรคมะเร็งในเด็กในพระอุปถัมภ์ฯ” SCB สาขาอ่อนนุช เลขที่บัญชี 133-2-08742-3 โทร.02-7183800 ต่อ 123 ใบเสร็จนำไปลดหย่อนภาษีได้ รายละเอียดที่ http://www.thaichildrencancerfund.org/
ผศ.(พิเศษ)ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์
ประธานกรรมการ มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี