ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมรณรงค์ชวนคนไทยดูแลสุขภาพหัวใจ “USE ♥ KNOW ♥ ใช้ใจรู้หัวใจตัวเอง สร้างเสริมสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงไปด้วยกัน” เนื่องในวันหัวใจโลก ณ ชั้น 1 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 5 เขตหลักสี่ ด้วยสมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) กำหนดให้ทุกวันที่ 29 กันยายนของทุกปี เป็นวันหัวใจโลก (World Heart Day) และในปี 2566 นี้เชิญชวนรณรงค์ภายใต้แนวคิด USE ♥ KNOW ♥ เพื่อให้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึงอันตรายของโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะโรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทยและทั่วโลก โดยมี ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดงาน และเปิดเวทีเสวนาให้ความรู้เรื่องโรค “หัวใจห้องบนสั่นพลิ้วอันตรายเกินคาดเสี่ยงสมองขาดเลือด” แก่ประชาชน นำทีมโดย นพ.ดำรงค์ สุกิจปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย นพ.ธารา เรืองวีรยุทธ และ พญ.ชนกพร ลักขณานุรักษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ อนุสาขาสรีระไฟฟ้าหัวใจฯ ดำเนินรายการโดย ดีเจ ดาด้า วรินดา ดำรงผล
ภายในงานยังได้จัดบริการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว และร่วมรณรงค์ใช้ใจรู้หัวใจตัวเองเพื่อที่จะสามารถดูแลหัวใจของตัวเองและคนที่เรารักได้ดีขึ้นกับนิทรรศการ “รู้จักหัวใจกันให้มากขึ้น” รู้ภารกิจ 4 ห้องหัวใจ รู้ถึงปัจจัยเสี่ยงต่อหัวใจจากสัญญาเตือนของร่างกายและพฤติกรรมการดำเนินชีวิต รู้สมรรถภาพหัวใจและหลอดเลือดด้วยการเข้าถึงการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจตามคำแนะนำของแพทย์และรู้จังหวะอัตราการเต้นของหัวใจเพื่อวางแผนฟื้นฟูและการออกกำลังกายที่เหมาะสม และกิจกรรมฮิลใจสุดพิเศษ กับบทเพลงเพราะ ๆ จาก โตโต้-ธนเดช โอภาสธัญกร และ Workshop สอนการปลูกต้นไม้ และชวนผู้ร่วมกิจกรรมออกกำลังกายสร้างเสริมสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงไปด้วยกันกับ พญ.พรภา เลิศอุตสาหกูล แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู และทีมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ปอดและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดตั้งศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขึ้นเมื่อปี 2561 เพื่อให้บริการผู้ป่วยในทุกสิทธิการรักษาแบบครบวงจร ตั้งแต่การให้คำปรึกษา การตรวจวินิจฉัย การรักษาทางห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ การผ่าตัดไฮบริดรักษากลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีศักยภาพในการทำหัตถการได้อย่างครอบคลุม รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ปอด และหลอดเลือด ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพเครือข่ายและพัฒนานวัตกรรมบริการสุขภาพที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในทุกพื้นที่เป้าหมายให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
โดยในปี 2566 นี้ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด ได้เล็งเห็นความสำคัญถึงกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ( Atrial Fibrillation ) หรือ AF เนื่องจากพบได้บ่อยทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากหัวใจห้องบนซ้ายเต้นผิดจังหวะที่มีความน่ากลัว ส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ แต่เป็นสาเหตุความเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดเฉียบพลัน เพราะภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว จะทำให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจห้องบนซ้าย จากนั้นจะถูกส่งมาที่หัวใจห้องล่างซ้ายที่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย
ดังนั้น ถ้าลิ่มเลือดนี้ออกไปอุดในอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะในสมองก็จะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะสมองขาดเลือดได้ และการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา อีกทั้งภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ยังบั่นทอนและลดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้วยอาการที่หลากหลาย โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว มักพบในกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดัน นอนกรน หลอดเลือดหัวใจตีบ ไตเรื้อรัง และพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ น้ำหนักตัวมาก เป็นต้น
ด้วยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมักไม่มีอาการ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว จะมีส่วนน้อยมากที่รู้ตัวเพราะมีอาการชัดเจน เช่น ใจสั่น เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม นอนหลับไม่เพียงพอ ส่วนคนที่ไม่รู้และไม่ได้คัดกรองก็จะไม่รู้ตัว อาจรู้ตัวอีกทีตอนที่มีภาวะของโรครุนแรงแล้ว เช่น การเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งการรักษาก็จะยากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วสามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ EKG โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีแนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุกปี รวมทั้งการดูข้อมูลการเต้นของหัวใจในสมาร์ทวอช หากมีการแจ้งเตือนว่ามีภาวะ AF ก็ให้รีบไปพบแพทย์ ซึ่งปัจจุบันเครื่องมือนี้ก็มีความน่าเชื่อถือถึง 80% และหมั่นวัดความดันด้วยเครื่องวัดความดันอัตโนมัติ ซึ่งมีคุณสมบัติวัดอัตราการเต้นหัวใจด้วย
การรักษาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ซึ่งภาวะนี้มีหลายชนิดทั้งชนิดชั่วคราว ชนิดเป็นนานและชนิดถาวร แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาต่างกันออกไป ปัจจุบันมีการรักษาด้วยยา เช่น ยาป้องกันเลือดแข็งตัวหรือที่รู้จักกันว่า ยาละลายลิ่มเลือด ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งการให้ยาจะช่วยลดโอกาสเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต และการเสียชีวิต ซึ่งจะต้องทานไปตลอดชีวิตและมีส่วนน้อยเท่านั้นที่หยุดยาได้ โดยส่วนใหญ่จะใช้ในกลุ่มที่เป็นถาวร รวมทั้งมีนวัตกรรมการรักษาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วด้วยวิธีการจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นวิทยุที่ทำให้เกิดความร้อน (Radiofrequency Ablation) เพื่อลดอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น ใจสั่น เหนื่อยง่าย แต่การจี้ด้วยความร้อนก็จะมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้เล็กน้อย ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาใช้การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยความเย็น (Cryoablation) ซึ่งทั้งสองวิธีเป็นวิธีการรักษาที่ได้มาตรฐานสากล อันมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสามารถลดอาการของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้ สามารถฟื้นฟูสภาพการบีบตัวของหัวใจในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ รวมถึงยังสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ในผู้ป่วยบางกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม การใช้เทคนิคการจี้ไฟฟ้าด้วยความร้อนหรือเย็นนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาด้วย โดยศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้เห็นถึงความสำคัญในการรักษากลุ่มผู้ป่วยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว จึงได้พัฒนาศักยภาพการให้บริการด้วยวิธีการรักษาให้ได้เท่าเทียมระดับสากล รวมถึงยกระดับมาตรฐานการรักษาโดยนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนาเพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพหัวใจที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี นายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และองค์ประธานผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์
ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เปิดให้บริการตรวจรักษากลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ณ ชั้น 2 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 5 เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ครอบคลุมบริการตั้งแต่การให้คำปรึกษา การตรวจวินิจฉัย การดูแลรักษา รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ปอด และหลอดเลือด ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและบุคลากรสหสาขาวิชาชีพที่ร่วมปฏิบัติงาน โดยมีศักยภาพในการทำหัตถการได้อย่างครอบคลุม พร้อมยกระดับมาตรฐานการรักษาด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมทั้งส่งเสริมองค์ความรู้สู่ประชาชนในทุกมิติ “USE ♥ KNOW ♥ ใช้ใจรู้หัวใจตัวเอง สร้างเสริมสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงไปด้วยกัน” โดยมุ่งหวังให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี