จัดต่อเนื่องมาถึงปีที่ 3 แล้วสำหรับ โครงการ RID Goods ที่กรมชลประทานส่งเสริมการสร้างสรรค์ไอเดียแปรรูปผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบท้องถิ่นอันเกิดจากการใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำ โดยจับมือกับสุดยอดเชฟชื่อดังของไทย อาจารย์ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ กลับมาแชร์ความครีเอทอีกครั้ง หลังจากเคยสร้างความประทับใจอย่างมากในโครงการ RID Goods ครั้งก่อน ปีนี้ เขื่อนขุนด่านปราการชล คือพื้นที่เป้าหมายที่โครงการจะส่งต่อพลังสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นเมนูใหม่จากวัตถุดิบขึ้นชื่อของท้องถิ่น ทั้งปลาในอ่างเก็บน้ำและพืชผลการเกษตรอย่างมะม่วง เป็นต้น
มหิทธิ์ วงศ์ษา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า “หลังจากที่เรามีเขื่อนขุนด่านฯแล้ว เราไม่พบเรื่องการบุกรุกอุทยาน พื้นที่ส่วนหนึ่งของอ่างเก็บน้ำฯ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ฉะนั้นสิ่งที่ตามมา คือมีน้ำตก มีเรื่องการท่องเที่ยวในอ่างเก็บน้ำ คนมาท่องเที่ยวนครนายกได้ทั้งปี โครงการ RID Goods ที่มาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นก็จะทำให้สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่อีกประเภทหนึ่ง นอกเหนือจากการท่องเที่ยว การส่งน้ำให้สวนผลไม้ การที่มีอ่างเก็บน้ำทำให้มีปลา เกิดการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลาก็จะสร้างรายได้ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่”
ความสำเร็จที่ผ่านมาของโครงการ RID Goods คือการสร้างรายได้ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ประชาชนได้ต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สำหรับปีนี้ มหิทธิ์ วงศ์ษา มองว่าถ้าหากไม่นับเรื่องการกักเก็บน้ำและการจัดการน้ำอันเป็นหน้าที่สำคัญของเขื่อนแล้ว การที่เขื่อนขุนด่านปราการชลทำให้เกิดการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องที่เกินคาดอยู่แล้ว
“ส่วนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาจากโครงการ RID Goods ถือเป็นผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดรายได้ เพราะที่นี่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มาเที่ยวนครนายก ถ้าเรามีผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ก็จะทำให้เกิดการสร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่” มหิทธิ์ กล่าว
นี่ไม่ใช่ปีแรกที่ อาจารย์ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ เข้ามาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการคิดเมนู แต่การกลับมารับหน้าที่อีกครั้งย่อมหมายถึงความไว้เนื้อเชื่อใจ ความตั้งใจที่จะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น โดยอาจารย์ยิ่งศักดิ์กล่าวว่า “ดีใจและภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ RID Goods ในฐานะผู้สร้างสรรค์เมนู เพราะด้วยศักยภาพของพื้นที่ก็มีวัตถุดิบคุณภาพอยู่มากมาย ไม่ว่าเป็นปลาในอ่างเก็บน้ำ ไปจนถึงผลไม้อย่างมะม่วง ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้ก็เป็นของขึ้นชื่อของนครนายกอยู่แล้ว อาจารย์เองเพียงแค่มาช่วยคิดค้นดึงจุดเด่นของวัตถุดิบออกมา แล้วใส่ไอเดียลงไปเพื่อให้เกิดเป็นรสชาติใหม่ๆ เมนูใหม่ๆ และทุกคนนำไปต่อยอดเป็นสินค้า เป็นผลิตภัณฑ์ของพื้นที่ได้ด้วย ซึ่งเมนูที่อาจารย์คิดขึ้นคือแยมมะม่วง, ปลานิลหยอง และคอนเฟลกปลา”
อมร ไชยเสน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านท่าชัยกล่าวว่า “ผลิตภัณฑ์ของชุมชนส่วนมากคือ ปลาและผลไม้ โดยปกติแล้วจะซื้อขายกันในราคาไม่แพง และที่ผ่านมา ยังขาดการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพื้นที่รอบเขื่อนขุนด่านปราการชล ในฐานะเป็นตัวแทนของชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ RID Goods ปีนี้ การที่กรมชลประทานและอาจารย์ยิ่งศักดิ์ ได้มาช่วยแบ่งปันความรู้เรื่องการแปรรูปอาหารให้น่าสนใจมากขึ้น ก็รู้สึกยินดีมากที่ได้ความรู้กลับไปเพื่อพัฒนาสินค้าและผลผลิตที่มีอยู่ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นปลาต่างๆ และผลไม้ที่ชาวบ้านรอบๆ เขื่อนขุนด่านฯ ปลูกเป็นอาชีพ นอกจากเราจะนำปลาและพืชผลมาประกอบอาหารหรือขายสดอยู่แล้ว ต่อไปนี้เราจะได้นำมาต่อยอดเป็นของฝากของจังหวัดนครนายกได้ ให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลอง ได้ซื้อเป็นของฝากกลับไปเวลามาเที่ยวนครนายก”
สำหรับบทบาทสำคัญของเขื่อนขุนด่านปราการชล จักราวุธ สุนธรวิภาต ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนขุนด่านปราการชลกล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่จังหวัดนครนายกเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาติดกับเขาใหญ่ เมื่อฝนตกจะมีน้ำหลากลงสู่ที่ราบสร้างความเสียหายเป็นอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำนครนายก ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการสร้างเขื่อนนี้ขึ้น เพื่อ “ลดน้ำยามท่วม เติมน้ำยามแล้ง แก้ปัญหาดินเปรี้ยว”
“หลังจากมีเขื่อนขุนด่านฯ เราบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการรักษาระบบนิเวศในน้ำ พอมีเขื่อนก็จะส่งน้ำได้ตลอดทั้งปี ชาวบ้านส่วนมากจะเลี้ยงปลาในกระชัง ส่วนการเกษตรก็จะเป็นมะม่วงกับมะยงชิด ก็ขึ้นชื่อว่ามีคุณภาพมาก มีการแปรรูปต่อยอด ทำแยม ทำน้ำ ทำไอศกรีม มีหลายอย่างที่แปรรูปจากผลไม้สด ซึ่งสวนผลไม้เหล่านี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างของผู้ที่ได้ใช้ประโยชน์จากเขื่อนขุนด่านปราการชล เพราะมีน้ำทำการเกษตรตลอดทั้งปี และการที่โครงการ RID Goods มาจัดที่เขื่อนขุนด่านฯ ก็ถือว่าเป็นโอกาสดี เพราะเรามีน้ำ มีปลา มีผลผลิตทางการเกษตร เราก็จะได้ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้มีความมั่นคงทางอาหารและสร้างรายได้ต่อไป”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี