ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงชักชวนให้นิสิตจุฬาฯ ที่ไปถวายพระพรแด่สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์ใหม่ที่เพิ่งประสูติ อยู่เล่นดนตรีด้วยกันก่อน แล้วทรงบอกว่าวันหน้าจะไปเล่นดนตรีที่จุฬาฯ ด้วย พวกเราได้ฟังแล้วปลื้มใจมาก และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่นิสิตจุฬาฯ (อาจารย์สันทัด ตัณฑนันทน์ อดีตหัวหน้าวงดนตรี สจม.)
ในปีนี้ นับเป็นวาระครบรอบ 60 ปี ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จฯมาทรงดนตรี ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นวาระครบ 50 ปีที่เสด็จฯทรงดนตรี ณ จุฬาฯ ครั้งสุดท้าย พวกเราจึงเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ในพระองค์ท่านที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในช่วง 2501-2516 มาเป็นขวัญและกำลังใจ(ผศ.ดร.ณัชพล ศิริสวัสดิ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อดีตนักร้อง CU Band)
ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย นำคุณไปสนทนากับ อาจารย์สันทัด ตัณฑนันทน์ อดีตหัวหน้าวงดนตรีสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผช.ดร.ณัชพล ศิริสวัสดิ์ อดีตนักร้องวง CU Band ถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงดนตรี ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2501-2516 ดังนั้น จุฬาฯ จึงนับเอาวันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันที่ระลึก วันทรงดนตรี
l เรียนถามอาจารย์สันทัด ในฐานะอดีตหัวหน้าวงดนตรีสากลสโมสรนิสิตจุฬาฯ หรือ วง สจม. ในอดีต แต่ปัจจุบันคือ วง CU Band เพราะเป็นบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ กรุณาช่วยเล่าความเป็นมาของการเสด็จพระราชดำเนินทรงดนตรีที่จุฬาฯ ครับ
อาจารย์สันทัด : ในยุคนั้นผมเรียนอยู่ที่จุฬาฯ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปี 2498 แต่ผมได้เข้าไปถวายงานสนองพระยุคลบาท โดยเข้าไปเล่นดนตรีกับวง อ.ส. วันศุกร์ อยู่ก่อนแล้ว พระองค์ท่านทรงสนับสนุนการดนตรี โดยเฉพาะเมื่อทรงทราบว่ามหาวิทยาลัยใดมีวงดนตรีสากล ก็ทรงสนับสนุนให้จัดการประกวดดนตรี แล้วทรงเปิดโอกาสให้วงดนตรีสากลของมหาวิทยาลัยเข้าไปร่วมแสดงที่สถานีวิทยุ อ.ส. ในยุคนั้น จุฬาฯ มีวงดนตรี สจม. หรือปัจจุบันคือ CU Band ก็ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมเล่นดนตรีด้วย ผมรับตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีของจุฬาฯ ในปี 2501 เท่าที่ผมจำได้คือในปี 2498 อาจารย์สดใส พันธุมโกมล แห่งคณะอักษรศาสตร์ ท่านตั้งวง
ดนตรีสากลแล้ว แล้วพัฒนามาเป็นวง Big Band ในภายหลัง ใช้ชื่อว่า วง สจม. ส่วนการที่พระองค์ท่านทรงพระกรุณาฯ เสด็จฯมาทรงดนตรีที่จุฬาฯ นั้น เนื่องจากในปีหนึ่ง พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาฯ แล้วตรัสหลังเสร็จพระราชภารกิจว่า วันนี้ไม่สามารถอยู่ได้นาน เพราะต้องรีบกลับ เนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงมีพระประสูติกาลสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์ใหม่ แล้วพวกเราชาวจุฬาฯ ก็ได้ทราบว่าพระราชทานพระนามสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์ใหม่ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เนื่องจากมีพระประสูติกาลในวันที่เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาฯ เราก็ดีใจมากที่พระราชทานเกียรติยศนี้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้น พวกเราชาวจุฬาฯก็ขอพระราชทานพระราชานุญาตเข้าเฝ้าฯเพื่อถวายพระพรแด่สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์ใหม่ ก็ได้รับพระราชานุญาต พวกเราก็ไปกันที่สวนอัมพร ไปที่เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อถวายพระพรแล้ว ในหลวง รัชกาลที่ 9 ก็เสด็จทรงดนตรีกับวง อ.ส. วันศุกร์ ผมจำได้ว่าพระราชทานอาหารเลี้ยงพวกเราทุกคนด้วย แล้วระหว่างนั้นตรัสว่า หากไม่มีธุระอะไรต้องรีบกลับ ก็อยู่เล่นดนตรีด้วยกันก่อนนะ พอได้ยินพระสุรเสียงเท่านั้นแหละ พวกเราไม่กินข้าวกินปลาเลย ดีใจมาก รีบไปนำเครื่องดนตรีบนรถยนต์ของจุฬาฯ กลับเข้าไปในเวทีลีลาศเป็นการด่วน เพราะนับว่าเป็นโอกาสดีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ร่วมเล่นดนตรีกับวง อ.ส. วันศุกร์ วันนั้นเป็นการเล่นดนตรีแบบ Big Band เต็มวงโดยพระราชทานโน้ตดนตรีให้เล่น หลังจากนั้นก็ตรัสว่า สัปดาห์หน้าจะไปเล่นดนตรีที่จุฬาฯ ด้วยนะ เมื่อเราได้รับพระมหากรุณาธิคุณเช่นนี้ ก็รีบนำความกลับไปแจ้งม.ร.ว.แหลมฉาน หัสดินทร บรรยเวกษก์ของจุฬาฯ หรือปัจจุบันก็คือตำแหน่งรองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนิสิต ประมาณนี้ เมื่ออาจารย์แหลมฉานทราบเรื่องก็ให้ประกาศให้นิสิตทราบทั่วมหาวิทยาลัย ครั้นเมื่อถึงวันเสด็จฯทรงดนตรี วันนั้นในหอประชุมจุฬาฯ แน่นขนัดไปทั้งหอประชุม นิสิตน้องใหม่ไปรอรับเสด็จตั้งแต่ปากประตูมหาวิทยาลัยด้านถนนพญาไท แล้วเรียงแถวยาวมาจนถึงบันไดขึ้นหอประชุมจุฬาฯ ภาพแห่งความประทับใจยังตราตรึงมาจนบัดนี้
l อาจารย์คาดคิดมาก่อนไหมครับว่าจะเสด็จพระราชดำเนินทรงดนตรีที่จุฬาฯ
อาจารย์สันทัด : ไม่กล้าคิดเลย แต่เมื่อได้ยินรับสั่งว่าจะเสด็จฯทรงดนตรีที่จุฬาฯ ก็แสนจะดีใจ และปลื้มใจมาก คือไม่ได้คาดคิดมาตั้งแต่ทรงชวนให้เล่นดนตรีที่เวทีลีลาศสวนอัมพรแล้ว แต่ก็ทรงมีพระเมตตาต่อชาวจุฬาฯ มากจริงๆ นับเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของชาวจุฬาฯ
l เสด็จพระราชดำเนินทรงดนตรีที่จุฬาฯ ตั้งแต่ 2501 ถึง 2516 นับว่าเป็นเวลากว่าทศวรรษเลยนะครับ
อาจารย์สันทัด : ใช่ครับ แต่มีปีหนึ่งที่ไม่ได้เสด็จฯ เพราะเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปและสหรัฐฯ แต่ก็ต้องนับว่าทรงมีพระเมตตาต่อชาวจุฬาฯ มากจนเกินพรรณนาเลยครับ
l วันเสด็จฯทรงดนตรีที่จุฬาฯ ทรงนำวง อ.ส. วันศุกร์มาด้วยใช่ไหมครับ แล้ววง สจม. ได้แสดงช่วงไหนครับ นักร้อง นักดนตรีของ สจม. ได้ถวายงานหน้าพระที่นั่งไหมครับ
อาจารย์สันทัด : จริงๆ แล้วก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จฯมาถึง นิสิตก็อยู่เต็มหอประชุมแล้ว วง สจม. ก็บรรเลงเพลงให้ฟังไปก่อน วง สจม. จะเล่นตรงด้านหน้าเวที
บริเวณโค้งบันได เมื่อพระองค์ท่านและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯมาถึง วง สจม. ก็ยังคงบรรเลงเพลงไปก่อน จะยุติการเล่นก็เมื่อพระองค์ท่านประทับในวงดนตรีเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ต้องถือว่าวง สจม. ได้เล่นถวายหน้าพระที่นั่งด้วย เพราะระหว่างนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จเจ้าฟ้าทุกพระองค์ที่โดยเสด็จด้วย ประทับนั่งที่พระเก้าอี้แล้ว และในหลวง รัชกาลที่ 9 ก็ได้ทรงฟังเพลงที่วง สจม. เล่นถวาย
l มีบางปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ เสด็จฯทรงดนตรีด้วย และบางปีสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์อื่นๆ ทรงขับร้องและทรงเล่นดนตรีด้วยใช่ไหมครับ
อาจารย์สันทัด : ใช่ครับ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เคยเสด็จฯทรงดนตรีในวันทรงดนตรีด้วยครับ พระองค์ทรงแซกโซโฟน และในบางปีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ก็ทรงขับร้อง และทรงเล่นดนตรีพระราชทานด้วย นับเป็นภาพประวัติศาสตร์ของชาวจุฬาฯ อย่างแท้จริง เป็นภาพแห่งความประทับใจตลอดกาล และจะตราตรึงในใจชาวจุฬาฯ ตลอดไป
l เรียนถามอาจารย์ณัชพลครับ ในฐานะนักร้อง CU Band แม้อาจารย์จะไม่ได้ถวายงานในวันเสด็จพระราชดำเนินทรงดนตรี แต่อาจารย์คือนักร้อง CU Band อาจารย์จะบอกกล่าวถึงความสำคัญวันทรงดนตรีอย่างไรครับ
ผศ.ดร.ณัชพล : ผมเข้าเรียนคณะอักษรฯ ปี 2549 ได้เป็นนักร้อง CU Band มาตั้งแต่ปีหนึ่งถึงปีสี่ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากของชีวิตนิสิตจุฬาฯ แม้ว่าผมจะไม่ได้มีโอกาสอันดีในการถวายงานในวันทรงดนตรี เพราะช่วงนั้นผมยังไม่เกิด แต่ผมก็ได้รับรู้ความพิเศษของวันทรงดนตรีมาตั้งแต่เข้ามาศึกษาในจุฬาฯ สำหรับปีนี้นับเป็นโอกาสสำคัญ เพราะเป็นปีที่ครบ 60 ปี วันเสด็จฯทรงดนตรีครั้งแรก ณ จุฬาฯ และครบ 50 ปี ของปีสุดท้ายที่เสด็จฯทรงดนตรี ณ จุฬาฯ ดังนั้น การแสดงดนตรีในปีนี้
เราจึงเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ในพระองค์ท่านที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในช่วง พ.ศ. 2501-2516 มาบรรเลงคือบทเพลงพระราชนิพนธ์ แสงเดือน ถึงบทเพลงพระราชนิพนธ์ เราสู้ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง CU Band กับ Old CU Band และยังมีวง CU Chorus มาร่วมงานด้วย เพราะ CU Chorus ตั้งในปี 2516 แต่ CU Chorus จะเชิญเพลงพระราชนิพนธ์มหาจุฬาลงกรณ์ ยูงทอง และเกษตรศาสตร์ มาฝากคุณผู้ชมในงานด้วยครับ
l ในฐานะคนรุ่นใหม่เมื่อเทียบกับอาจารย์สันทัด มีความประทับใจอะไรในวันทรงดนตรีบ้างครับ เพราะอาจารย์ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จริง แต่เชื่อว่าต้อง
รับทราบความสำคัญวันทรงดนตรีอย่างแน่นอน
ผศ.ดร.ณัชพล : ผมเข้าจุฬาฯ ปี 2549 ไม่ทันเหตุการณ์สำคัญวันทรงดนตรี แต่ทราบประวัติวันทรงดนตรีเป็นอย่างดี ในฐานะสมาชิกวง CU Band เราทุกคนตั้งตารอคอยวันแสดงดนตรี เนื่องในงานวันที่ระลึกวันทรงดนตรี แม้ CU Band จะมีงานต่างๆ มากมาย แต่ในปฏิทินของเราจะกำหนดไว้ว่าวันที่เราต้องทำงานให้ดีที่สุดอีกวันหนึ่งคือวันที่ระลึกวันทรงดนตรี นิสิตปัจจุบันในวง CU Band ตั้งใจทำงานนี้เต็มความสามารถ โดยปรึกษาหารือกับรุ่นพี่ๆ จากวง Old CU Band อย่างใกล้ชิด เลือกเพลง เลือกนักร้อง ซ้อมอย่างหนัก ทุกคนยินดีร่วมทำงานกันด้วยความเต็มใจยิ่ง เราได้เห็นน้องๆ CU Band ตั้งใจฝึกซ้อมทั้งร้องและเล่นดนตรีบทเพลงพระราชนิพนธ์ด้วยความตั้งใจ เพราะบทเพลงพระราชนิพนธ์นั้นนับว่าทั้งดนตรีและการขับร้อง เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ของง่ายเลย เป็นความท้าทายที่พวกเราตั้งใจมาก การขับร้องและเล่นดนตรีก็ต้องทำให้ถูกต้องทุกอย่างแล้วเราก็ร่วมกันสร้างสรรค์ให้บทเพลงพระราชนิพนธ์มีความงดงาม ไพเราะ มีเสน่ห์ เราใช้ทั้งรูปแบบขับร้องเดี่ยว ร้องแบบคอรัส และ A Cappella คือการขับร้องโดยไม่มีดนตรีประกอบ การขับร้องก็มีทั้งนักร้องเสียงเบส (เสียงต่ำผู้ชาย) เทเนอร์ (เสียงสูงผู้ชาย) อาลโต (เสียงต่ำผู้หญิง) โซปราโน (เสียงสูงผู้หญิง) เรียกได้ว่าเราทำงานนี้ด้วยการยึดหลักสร้างสรรค์ และสืบสานไปพร้อมๆ กัน
l อาจารย์เชิญเพลงพระราชนิพนธ์ใดมาขับร้องบ้างครับ
ผศ.ดร.ณัชพล : มีหลายเพลงเลยครับ แต่ละปีก็จะต่างกันไป เคยเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ เมื่อโสมส่อง แสงเทียน ใกล้รุ่ง ชะตาชีวิต มาขับร้องครับ ปีนี้เชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ แว่ว มาขับร้องครับ
l แต่ละบทเพลงถือว่าขับร้องยากมากไหมครับ
ผศ.ดร.ณัชพล : ก็ไม่ถือว่าง่ายนะครับ ต้องพยายามฝึกซ้อมให้มาก และทำให้ดีที่สุด โดยเฉพาะบทเพลงแว่วนั้น ผมเห็นว่าขับร้องยากมากพอสมควรครับ การออกเสียงร้อง การขึ้นลงของเสียงร้อง ก็นับว่ายาก แต่ทว่ามีความไพเราะมาก และมีเสน่ห์มากครับ
l เท่าที่อาจารย์สังเกตดู นิสิตยุคนี้สนใจงานวันที่ระลึกวันทรงดนตรีมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับยุคอาจารย์เป็นนิสิต
ผศ.ดร.ณัชพล : ยังมีนิสิตปัจจุบันให้ความสำคัญและสนใจมากนะครับ ผมเชื่อว่านิสิตจุฬาฯ ส่วนใหญ่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน เรามีนิสิตปัจจุบันช่วยทำงานนี้มากมายเลยครับ และมหาวิทยาลัยก็พยายามประชาสัมพันธ์ให้นิสิตและคนทั่วไปทราบด้วย เพราะต้องการให้สาธารณชนได้รับทราบงาน และเข้ามาร่วมชมงานนี้ อันที่จริงจุฬาฯ จัดงานวันที่ระลึกวันทรงดนตรีมาตลอด แม้กระทั่งในช่วงโควิดแพร่ระบาด เพียงแต่ปรับรูปแบบงานเป็น online ในช่วงนั้น ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากนิสิตจุฬาฯ และคนทั่วไปมากพอสมควรครับ เมื่อโควิดผ่านพ้นไป เราก็กลับมาจัดงานในหอประชุมจุฬาฯ ตามเดิม ก็ได้รับความนิยมอย่างมากครับ ผู้คนเข้าชมงานเกือบเต็มหอประชุมครับ
l นอกจากการชมดนตรี และรับฟังบทเพลงพระราชนิพนธ์แล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวจุฬาฯ เน้นมาโดยตลอดคือ การร่วมสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล อาจารย์ช่วยบอกเล่าเรื่องนี้ด้วยครับ
ผศ.ดร.ณัชพล : ใช่ครับ ขอเชิญชวนทุกคนร่วมบริจาคสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล มูลนิธินี้ทรงก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2498 โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนประเดิม และทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิฯ วัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ คือ ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาชั้นสูงของวิชาแขนงต่างๆ ในระดับปริญญาโทและเอก โดยพระราชทุนการศึกษาให้ไปศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศ เพื่อให้กลับมาพัฒนาประเทศไทย และส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยระดับสูง ทุนการศึกษาของมูลนิธิอานันทมหิดล ช่วยให้การศึกษาระดับสูงของไทยได้รับการพัฒนามากขึ้น สร้างบุคลากรด้านวิชาการ และการวิจัยระดับสากล เราทุกคนร่วมบริจาคสมทบทุนได้ที่หมายเลขบัญชี 045-298-1399 ธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี สมทบทุนอานันทมหิดล วันที่ระลึกวันทรงดนตรี สำหรับผู้ที่ต้องการใบเสร็จรับเงินเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคล กรุณาติดต่อ 02-2187373 ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เป็นทุนการศึกษาที่ให้เปล่า ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ แต่ส่วนมากผู้ได้รับพระราชทานทุนนี้ก็จะกลับมาทำประโยชน์ให้บ้านเมืองของเราต่อไป
คุณจะรับชมรายการไลฟ์ วาไรตี รายการที่ให้ทั้งสาระและความรู้ ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 14.05-14.30 น.ทางโทรทัศน์ NBT ช่องหมายเลข 2และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี