เป็นผู้เบื้องหลังความสำเร็จของรายการโทรทัศน์ดังๆ มากมาย อาทิ รายการบ้านเลขที่ ๕ รายการสมาคมชมดาว รายการวีไอพี รายการเจาะใจ หรือรายการที่สร้างกระแสได้ทุกๆ เช้าอย่าง วู้ดดี้เกิดมาคุย ในฐานะ ครีเอทีฟ และโปรดิวเซอร์ ยังไม่นับการเป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสสาร รวมถึง ผู้เรียบเรียงพ็อกเก็ตบุ๊คประวัติชีวิตให้กับดารา คนดัง จนติดอันดับขายดี ซึ่งเรียกว่าชายหนุ่มคนนี้ประสบความสำเร็จในอาชีพที่รัก สามารถสร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับตัวเองได้ไม่น้อย แต่ กราฟ – สัญญพงศ์ อัคณัฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดังสิบทิศ จำกัด ยังมีอีกหนึ่งงานที่รักและนำพามาซึ่งความภาคภูมิใจ และความสุขที่แท้จริงให้กับชีวิตของตนเอง นั่นคือ การนำความรู้ความสามารถของตนเองกลับไปพัฒนาถิ่นอิสานบ้านเกิด ให้คนในชุมชนรู้สึกรักและหวงแหน ศิลปวัฒนธรรม เอกลักษณ์ความเป็น “อิสาน” ให้ยั่งรากลึกสืบต่อไปถึงลูกหลานภายหน้า
กราฟ – สัญญพงศ์ เล่าว่า พื้นเพเป็นคน อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ เกิดและเติบโตมาในวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ผู้คนในสังคมมีความเอื้ออารี และใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา ความงดงามของศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นอิสาน ได้ซึมซับอยู่ในจิตสำนึกของเขาอย่างเหนียวแน่น กระทั่งได้มีโอกาสมาเล่าเรียนและทำงานในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและความวุ่นวาย โดยเฉพาะในสายอาชีพที่ทำอยู่ ยามใดที่ท้อแท้ เหนื่อยจากงาน เขาเลือกที่จะกลับ “บ้านเกิด” ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก หากแต่ความเจริญทางวัตถุ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไม่เว้นแต่ “วัด” ในชุมชนเล็กๆ ที่บ้านเกิดของเขา ศาสนวัตถุที่เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจ เป็นศิลปะบริสุทธิ์ที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้น กำลังจะถูกทดแทนด้วยสถาปัยกรรมใหม่ๆ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขาคิดที่จะรักษาธำรง “ความบริสุทธิ์” นั้นไว้
“ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาที่ผมกลับบ้าน ผมรู้สึกว่าวัดมณีจันทร์ ซึ่งเป็นวัดในหมู่บ้านมีอะไรเปลี่ยนไป ที่วัดจะมีอุโบสถมหาอุตม์ ปูนเปลือย ที่สร้างจากความร่วมแรงร่วมใจของบรรพบุรุษช่วยกันขนดิน หิน ทราย มาปั้นอิฐเผา ปั้นพญานาคที่หัวบันได ปั้นพระประธานในโบถส์ ตั้งแต่เด็กผมรู้สึกว่าโบสถ์หลังนี้มีความงดงามในแง่ของศิลปะที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นอิสานแท้ๆ มีประวัติศาสตร์ แต่คนในชุมชนกลับมองไม่เห็นความสำคัญ ต่างเห็นว่าเป็นโบถส์ที่มีความเก่า ไม่สวย อย่างได้โบถส์แบบภาคกลาง อยากได้รั้วอัลลอยด์ในวัด ซึ่งไม่ใช่ความผิดของใคร แต่ผมมองว่าเกิดจากความไม่เข้าใจของชาวบ้านมากกว่า และไม่มีใครให้ความรู้พวกเขาว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่มีค่าที่ลูกหลานต้องช่วยกันรักษาไว้ ซึ่งไม่ใช่แค่วัดมณีจันทร์แห่งเดียวแต่ยังมีวัดอื่นๆ ในชุมชนอีก
ผมจึงคิดว่าอยู่เฉยไม่ได้แล้ว จึงไปพูดคุยกับชาวบ้านซึ่งก็เหมือนเป็นพี่เป็นน้อง เป็นเครือญาติกัน เข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ให้เขาเห็นค่าของสิ่งเหล่านั้น จนในที่สุดก็สามารถดึงชาวบ้านมาร่วมกันดูแลวัดอันเป็นสมบัติของชุมชนได้สำเร็จ สามารถอนุรักษ์ทำนุบำรุงอุโบสถ์ของวัดให้มีความสวยงามในแบบที่บรรพบุรุษของเราสร้างไว้ ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะมีสถานศึกษาในอำเภอ และในจังหวัด และต่างจังหวัดมาขอดูงานทั้งในแง่การศึกษาศิลปะ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และการจัดการบริหาร และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ของจังหวัดบุรีรัมย์ด้วย”
เมื่อประสบความสำเร็จกับวัดมณีจันทร์ ไปแล้ว จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเริ่มสำรวจวัดรอบๆ หมู่บ้าน และพบว่า วัดป่าบ้านแดง ที่ดงบ้านแดง อยู่ห่างจากตัวอำเภอพุทไธสงประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นวัดป่าธรรมยุตสายหลวงปู่ศรี มหาวีโร มี พระอาจารย์คำตา วังสวโร เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งตัวท่านและพระลูกวัดล้วนวัตรปฏิบัติที่สมถะงดงาม สอดคล้องกับธรรมชาติอย่างสมดุลย์และกลมกลืน ด้วยจริตของตนเองที่ชอบงานศิลป์ โดยเฉพาะศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา จึงมองว่าการสร้างานศิลป์จะเป็นสิ่งที่ดึงให้คนหันมาสนใจพระพุทธศาสนามากขึ้น จึงขออนุญาต พระอาจารย์คำตา ในการจัดสร้างอุโบสถ์ พระประธาน ที่ออกแบบให้สอดคล้องตามวัตรปฏิบัติและปฏิปทาของพระสายธรรมยุตให้มากที่สุด เน้นประโยชน์ใช้สอย เรียบง่าย สอดคล้องกับภูมิทัศน์ที่ร่มรื่นของวัด
“ในการทำงานผมก็ได้ไปพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ให้เขามามีส่วนร่วม เพราะวัดเป็นของเขา การสร้างสิ่งนี้ก็เพื่อพวกเขาด้วย ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากชาวบ้าน ร่วมถึงกัลยาณมิตรของผมที่รู้ว่าผมทำอะไรอยู่ ก็มีจิตศรัทธามาช่วยกัน จนตอนนี้หล่อพระประธานได้แล้วเรียบร้อย เหลือเพียงอุโบสถที่อยู่ระหว่างการระดมทุนก่อสร้าง ไม่เพียงเท่านั้นผมยังมีความคิดที่สร้างงานจิตรกรรม สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 40X50 เซนติเมตร เป็นภาพของ บูรพกษัตริย์ที่ทรงมีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา อริยสงฆ์ ครูบาอาจารย์ ประดับภายในอุโบสถ์ ประวัติของท่านเหล่านี้น่าจะเป็นแรงบันดาลที่จะน้อมนำให้ผู้ที่ศรัทธา โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ หันมาใส่ใจ ศึกษาพระพุทธศาสนาในมิติต่างๆ มากขึ้น ซึ่งความจริงผมอาจจะไปจ้างจิตรกรฝีมือดีๆ ให้วาดก็ได้ แต่ผมอยากให้งานครั้งนี้เป็นบุญซ้อนบุญ จึงนำเรื่องไปปรึกษากับอาจารย์อุตสาห์ ไวยศรีแสง ที่เพาะช่าง ให้ท่านคัดเลือกนักศึกษาที่มีความจำเป็นต้องใช้ทุนการศึกษา และนักศึกษาที่จบใหม่ที่แต่ไม่มีงานทำให้มาทำงานนี้ เพราะท่านที่เป็นเจ้าภาพวาดเหล่านี้ภาพละ 6,000 บาท เท่ากับได้ให้ทุนการศึกษาน้องๆ นักศึกษา และให้กำลังใจนักศึกษาที่จบใหม่ด้วย ตอนนี้เริ่มดำเนินการวาดแล้วเสร็จแล้วประมาณ 20 ภาพ และยังต้องการเจ้าภาพอีกมากนะครับ”
สัญญพงศ์ บอกอีกว่า การได้นำความรู้ความสามารถมาทำงานตอบแทนแผ่นดินเกิดแล้ว ยังทำให้เขาได้มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้ามากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เขามี “สติ” ไม่ทำร้ายตัวเองด้วยมิจฉาทิฏฐิ ไม่ทำร้ายคนอื่นด้วยวาจา หรือการกระทำ เพ่งจิตตนเองมากกว่าเพ่งโทษคนอื่น ที่สำคัญธรรมะยังสอนให้เขาเป็นสื่อมวลชน เป็นคนเบื้องหลังที่มี จริยธรรม คุณธรรม มีสติ มีความรับผิดชอบต่องานที่ทำอีกด้วย นี่คือความภาคภูมิใจในการทำเพื่อเพื่อพระพุทธศาสนา และแผ่นดินเกิด
พุทธศาสนิกชน ผู้อ่านที่สนใจมีจิตศรัทธา ร่วมสร้างอุโบสถ และภาพจิตรกรรมประดับอุโบสถ วัดป่าบ้านแดง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ สามารถแสดงสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้กับ กราฟ-สัญญพงศ์ อัคณัฐพงษ์ เจ้าของโครงการได้โดยตรงที่เบอร์โทรศัพท์ 08-1712-4224
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี