ไตเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สำคัญต่อร่างกายไม่น้อยกว่า สมอง หัวใจ หรือตับ หน้าที่หลักของไตคือการกรองของเสียให้ร่างกายตลอดเวลา แล้วยังต้องรักษาสมดุลของน้ำ และเกลือแร่ต่างๆ ในเลือดอีกด้วย หากไตเสื่อมจนไม่สามารถทำหน้าที่กรองของเสียออกจากร่างกายได้ หรือเกิดอาการไตวายจึงมีผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก จะทำให้ของเสียต่างๆ คั่งในเลือด เกิดอาการบวมน้ำ ความดันเลือดสูง เลือดจาง กระดูกบางหรือหัก หัวใจทำงานผิดปกติ จนอาจเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการล้างไตทันเวลา
ไตวายแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ไตวาย เฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง ไตวายเฉียบพลันคือการที่จู่ๆ ไตไม่สามารถทำหน้าที่กรองของเสียได้ภายในเวลาเป็นวันหรือสัปดาห์ เมื่อเทียบกับปัญหาไตวายเรื้อรังแล้ว กรณีไตวายเฉียบพลันถือว่าเกิดไม่บ่อย สาเหตุหลักๆ ของไตวายเฉียบพลัน นอกจากเรื่องน้ำ หรือปริมาณเลือดที่ไหลเวียนไปที่ไตลดลงจนเกิดการบาดเจ็บของตัวไตแล้ว ก็คือการใช้ยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่มีพิษต่อไต ตัวอย่างยาที่พบบ่อยว่าทำให้ไตวายเฉียบพลัน ได้แก่ ยาบรรเทาปวด ลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า NSAIDs ตัวอย่างชื่อยาในกลุ่มนี้ เช่น Naproxen, Diclofenac, Ibuprofen, Celecoxib และ Etoricoxib เป็นต้น
จึงต้องใช้ยากลุ่มนี้อย่างระมัดระวัง และใช้ในระยะสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ กรณีที่มีการบาดเจ็บ ปวด หรืออักเสบเรื้อรังของกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย หากจำเป็นต้องต้องใช้ยาระยะยาว ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ไตวายเรื้อรังคือภาวะที่ไตค่อยๆ เสื่อมสภาพและเสียหน้าที่ในการกำจัดของเสียได้น้อยลงเรื่อยๆ ใช้เวลาเป็นหลักปีถึงหลายปี แต่ความเสื่อมที่เกิดขึ้นในที่สุดจะทำให้เกิดความผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกาย จนถึงขั้นต้องทำการบำบัดทดแทนไต เพื่อให้ผู้ป่วยยังดำเนินชีวิตต่อไปได้ การบำบัดที่ว่าก็คือการปลูกถ่ายไตใหม่ หรือการล้างไตไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต แต่ไม่ว่าจะปลูกถ่ายไตหรือจะล้างไต ชีวิตของผู้ป่วยก็ไม่มีทางกลับไปปกติเหมือนเดิม กรณีรับการปลูกถ่ายไตผู้ป่วยจะต้องกินยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต
ส่วนการล้างไต ก็เป็นการรักษาต่อเนื่อง คือล้างวันเว้นวัน หรือเว้นสองสามวัน โดยต้องควบคุมการกินอาหารอย่างเคร่งครัด ไม่ให้ของเสียเกินจากความสามารถของการบำบัดทดแทนไต ซึ่งก็แปลว่า ถึงจะล้างไต ก็ไม่ได้หมายถึงจะกินของต้องห้ามได้ตามใจต่อไป
โรคไตวายเรื้อรังที่พบในคนส่วนใหญ่มาจากสาเหตุหลักๆ คือ การมีความดันโลหิตสูงนาน ๆ และการเป็นโรคเบาหวานและคุมน้ำตาลไม่ดี การมีน้ำหนักตัวมากเกินไปมีไขมันในเลือดสูง รวมไปถึงการสูบบุหรี่ ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามาคือเรื่องที่สามารถเปลี่ยนแปลง และป้องกันได้ ดังนั้นถ้าหากไม่อยากให้ไตเสื่อมจนถึงระดับที่จะต้องล้าง หรือปลูกถ่ายไตใหม่ ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำลายไตต้องตรวจร่างกายประจำปีเพื่อดูว่าค่าไตปกติหรือไม่ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หยุดสูบบุหรี่ คนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง หรือมีไขมันในเลือดสูง ต้องหมั่นกินยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่งเพื่อคุมค่าต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อลดการบาดเจ็บ และการเสื่อมของไตให้ได้มากที่สุด หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่เป็นพิษต่อไต รวมถึงอาหารเสริมหรือยาสมุนไพรที่ไม่มีข้อมูลความปลอดภัย
ลดการกินเกลือ และอาหารรสเค็ม ความเค็มที่มากเกินไปในอาหาร ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น เพื่อกำจัดของเสีย และรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ การไม่กินเค็มเกินไป จะช่วยถนอมไตไว้ให้อยู่กับเรานานๆ เมื่อพูดถึงความเค็มหลายคนอาจระวังแค่เกลือและน้ำปลา แต่ที่จริงแล้วความเค็ม หรือเกลือโซเดียมมีอยู่ในซอสต่างๆ ซีอิ๊ว ผงปรุงรสปลาร้า รวมถึงน้ำซุป ขนมขบเคี้ยว และอาหารกึ่งสำเร็จรูปและอาหารแปรรูปอื่นๆ ด้วย เราจึงควรระมัดระวังจำกัดการบริโภคสิ่งเหล่านี้ไม่ให้มากเกินไป
โดยสรุป เราต้องคุมความดันเลือดให้ดี ถ้าเป็นเบาหวานก็ต้องคุมน้ำตาลให้ได้ คุมไขมันและน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดละเลี่ยงการบริโภคเกลือมากเกินไป หลีกเลี่ยงยาที่เป็นพิษต่อไตหรือใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น หากทำได้ครบถ้วนก็น่าจะลดความเสี่ยงการต้องล้างไต หรือปลูกถ่ายไต แล้วไตที่ดีก็จะอยู่กับเราไปตลอดอายุขัยของเรา
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี