คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักหรือเรียกยาฆ่าเชื้อ และมักเรียกยาปฏิชีวนะว่าเป็น “ยาแก้อักเสบ” ซึ่งไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าการใช้ยาปฏิชีวนะจะทำให้โรคที่เป็นอยู่หายเร็วขึ้นเพราะเข้าใจว่ายาจะรักษาหรือต้านการอักเสบได้
ยาปฏิชีวนะ หมายถึง ยาที่ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ตัวอย่างเช่น เพนนิซิลิน อะม็อกซีซิลิน ลีโวฟลอกซาซิน ไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ส่วนยาฆ่าเชื้อโรคกลุ่มอื่นๆ มักจะเรียกว่า “ยาฆ่าเชื้อหรือยาต้าน” แล้วต่อด้วยกลุ่มของเชื้อโรค เช่น ยาฆ่าเชื้อราหรือยาต้านเชื้อรา ยาฆ่าเชื้อไวรัสหรือยาต้านไวรัส ซึ่งมีชนิดของยาที่ใช้น้อยกว่ายาปฏิชีวนะและแพทย์มักใช้ในทางคลินิกน้อยกว่า ยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทานที่ใช้บ่อย ๆ เช่น ฟลูโคนาโซล ส่วนยาต้านเชื้อไวรัสที่ใช้บ่อย ๆ เช่น ยารักษาเริม ยาต้านเอชไอวี สำหรับรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ยาต้านไวรัสสำหรับรักษาไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ซึ่งใช้สำหรับผู้ติดเชื้อบางรายที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ที่รุนแรง ไม่ได้ใช้สำหรับผู้ติดเชื้อทุกราย โดยทุกครั้งที่กินยาฆ่าเชื้อ ซึ่งรวมถึงยาปฏิชีวนะด้วย ต้องรับประทานให้ครบตามที่แพทย์สั่งหรือที่เภสัชกรแนะนำ เพราะการหยุดใช้ยาเมื่ออาการดีขึ้น การหยุดยาก่อนกำหนด จะมีผลเสียอาจทำให้โรคกลับเป็นซ้ำหรือเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการติดเชื้อที่ยังรักษาไม่หายดี รวมไปถึงเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเชื้อดื้อยาในอนาคต โดยเฉพาะกรณีการรับประทานยาปฏิชีวนะไม่ครบในกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียที่ไวต่อยาได้ถูกฆ่าไปบางส่วน แต่เชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยายังอยู่ในร่างกาย และมีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การใช้ยาปฏิชีวนะชนิดเดิมขนาด (โดส) เดิมรักษาไม่ได้ ถ้ากินยาปฏิชีวนะเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นยาแก้อักเสบ ทั้งที่ความจริงเป็นยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อหรือยับยั้งแบคทีเรียอย่างเดียว ไม่ได้ฆ่าเชื้อไวรัสหรือเชื้ออื่น ๆ และไม่ได้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ นอกจากไม่เกิดประโยชน์ในการรักษาการอักเสบที่เกิดขึ้นแล้ว ยังจะทำให้เชื้อโรคดื้อยามากขึ้นด้วย เมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียครั้งต่อไป ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ที่แรงและแพงขึ้น ซึ่งเหลือให้ใช้อยู่ไม่กี่ชนิด สุดท้ายก็จะไม่มียารักษา และเสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้ ควรใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ยาแรงหรือกว้างเกินไปเพื่อมุ่งให้หายจากอาการป่วยโดยเร็ว หากใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์แรงในการรักษาเริ่มแรกทันทีบ่อยๆ จะส่งผลให้เกิดการดื้อยา และเมื่อเกิดการดื้อยาแล้ว จะทำให้ไม่มียาปฏิชีวนะชนิดต่อไปในการรักษา
มี 3 กลุ่มโรคที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ คือ โรคหวัด โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และแผลสด เนื่องจากเป็นโรคที่หายได้เองและส่วนใหญ่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ยกเว้น ในกรณีที่มีอุจจาระร่วงที่มีอาการรุนแรง เช่น ถ่ายเป็นมูกเลือดและมีไข้ ควรไปพบแพทย์
ส่วนยาแก้อักเสบหรือยาต้านการอักเสบ เป็นยาที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ บรรเทาปวด หรือลดบวม รวมถึงลดไข้ได้ด้วย ตัวอย่าง เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ไดโคฟรีแนคไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือฆ่าเชื้อโรคอื่นๆ ใช้สำหรับกรณีที่เกิดอาการดังกล่าวจากการบาดเจ็บจากการทำงาน เล่นกีฬา หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ ซึ่งไม่ได้เป็นการติดเชื้อ ดังนั้นเราไม่ควรเรียก ยาปฏิชีวนะว่า “ยาแก้อักเสบ” เพราะเมื่อใช้ยาไม่ถูกต้องจะก่อให้เกิดโทษ โดยมีผลข้างเคียงของยา โรคไม่หาย แพ้ยาหากแพ้ไม่มากอาจมีแค่ผื่นคัน ถ้ารุนแรงมากขึ้น ผิวหนังจะเป็นรอยไหม้ หลุดลอก หรืออาจเสียชีวิต และเสียเงิน นอกจากนี้ ยาแก้อักเสบหลายชนิดอาจทำให้มีอาการปวดท้องการระคายเคืองกระเพาะอาหาร มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ภาวะบวมน้ำ ความดันเลือดสูง และเกิดพิษต่อไต (ที่เรียกว่า “ไตวาย”) ได้ ซึ่งการรับประทานยาแก้อักเสบนี้ ให้กินและหยุดตามอาการ กล่าวคือ ถ้าอาการดีขึ้นแล้ว ก็สามารถหยุดกินได้ และไม่ควรกินต่อเนื่องระยะยาว
วิธีที่ดีและปลอดภัยที่สุดในการใช้ยาฆ่าเชื้อ ยาปฏิชีวนะ และยาแก้อักเสบ คือ การใช้ยาภายใต้การดูแลหรือคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เพื่อการใช้ยาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด และเกิดประโยชน์สูงสุด
ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี