การแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้รับการยกย่องจากสาธารณชนที่ได้ไปชมการแสดงแล้ว โดยทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า งดงาม วิจิตร อลังการ เมื่อได้ชมแล้วแสนจะภาคภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย เพราะเราทุกคนมีบรรพบุรุษผู้ทรงคุณ ที่ได้รังสรรค์ศิลปะการแสดงชิ้นสำคัญนี้ไว้เป็นมรดกของชาติไทย
โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในวันนี้ มีกำเนิดการแสดงครั้งแรก ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2550 โดยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ จากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทานชุบชีวิตการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงของแผ่นดินให้กลับฟื้นคืนมาสู่สาธารณชน ด้วยความที่พระองค์ท่านทรงเอาพระทัยใส่ในการทรงทำนุบำรุงและส่งเสริมให้โขนอยู่คู่กับแผ่นดินไทยสืบต่อไปอีกทั้งทรงอุทิศทั้งพระวรกาย พระสติปัญญา และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อให้การแสดงโขนตามแบบฉบับของราชสำนัก ซึ่งเป็นการสืบทอดรักษาภูมิปัญญาของงานศิลป์ทุกสรรพแขนงเข้าด้วยกัน ทั้งด้านวรรณกรรม นาฏกรรมคีตกรรม การขับร้องบรรเลง ศิลปกรรมทุกแขนง ทั้งหัตถศิลป์ และงานช่างฝีมือสารพัดชนิด อีกทั้งด้านพัสตราภรณ์ ศิราภรณ์ จนในที่สุดโขนได้กลับมาเป็นที่นิยมอย่างสูงในสังคมไทยอีกครั้ง และที่น่าภาคภูมิใจมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่งคือองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) ได้ขึ้นทะเบียนและประกาศให้โขนของไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ เมื่อปี 2561
สำหรับในปีล่าสุดนี้ โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ตอนกุมภกรรณทดน้ำ โดยจะเปิดการแสดงถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2566 เท่านั้น ซึ่งบัดนี้บัตรเข้าชมการแสดงทุกรอบได้ถูกจำหน่ายหมดไปเกือบสองสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ดังนั้น ผู้ที่พลาดชมการแสดงในปีนี้ ก็ต้องอดใจรอชมการแสดงตอนใหม่ในปีหน้า
การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯครั้งแรกเมื่อปี 2550 นำเสนอตอนพรหมาศ และในปี 2552 ได้นำตอนพรหมาศ กลับมาแสดงอีกครั้ง ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ชมอย่างมากมาย จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดการแสดงโขนเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2552 มาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการแสดงตอนต่างๆ ไปแล้ว ดังนี้ ปี 2553 ตอนนางลอย ปี 2554 ตอนศึกมัยราพณ์ปี 2555 ตอนจองถนน ปี 2556 ตอนโมกขศักดิ์ ปี 2557 ตอนนาคบาศ ปี 2558 ตอนพรหมาศ ปี 2559 ตั้งใจจะนำเสนอตอนพิเภกสวามิภักดิ์ แต่ต้องยกเลิกการแสดงเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต ต่อมาปี 2560 จึงจัดแสดงโขนพิเศษขึ้นสามตอน คือสีดาหายถวายพล และพิเภกสวามิภักดิ์ ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ ท้องสนามหลวง
ครั้นในปี 2561 จึงจัดการแสดงตามปกติ ณ โรงละครศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ตอน พิเภกสวามิภักดิ์ ปี 2562 ตอนสืบมรรคา ต่อมาเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้ต้องงดการแสดงจนกระทั่งในปี 2565 ได้กลับมาจัดการแสดงตอนสะกดทัพ และปีล่าสุด 2566 ตอนกุมภกรรณทดน้ำ
วันนี้ Mr. Flower ขอนำภาพเบื้องหลังบางช่วงบางตอนของคณะทำงานเพื่อให้การแสดงโขนได้ปรากฏความวิจิตรอลังการต่อสายตาผู้ชม เหตุที่บอกว่าเบื้องหลังบางช่วงบางตอน เพราะอันที่จริงยังมีบุคคลอยู่เบื้องหลังการทำงานนี้อีกมากมาย ตั้งแต่คณะทำงานเริ่มต้นผู้เขียนบท ผู้ทำฉาก ผู้คัดเลือกนักแสดง ผู้ฝึกซ้อมนักแสดง ตัวของนักแสดง นักร้อง นักดนตรีนักพากย์ ช่างเทคนิคต่างๆ ช่างแต่งตัว ช่างแต่งหน้า ช่างทำผม เจ้าหน้าที่ดูแลอุปกรณ์ประกอบการแสดง เจ้าหน้าที่จัดเตรียมอาหารการกินให้นักแสดง ฯลฯ
ส่วนภาพที่นำมาเสนอในวันนี้ ก็เป็นภาพบนเวทีการแสดงที่แสนวิจิตรตระการตากับภาพเบื้องหลังการแสดง ที่ชี้ให้เห็นถึงการแต่งหน้า แต่งตัว ทำผม บอกได้เพียงคำเดียวว่าทุกคนทุ่มเทกับการแสดงโขนครั้งนี้มากที่สุด เพื่อให้ออกมางดงามสมกับที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ ที่ทรงชุบฟื้นให้โขนได้กลับมาโลดแล่นอย่างโดดเด่นสมศักดิ์ศรีของการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี