มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จับมือภูมิสถาปนิกชื่อดัง และทีมเกษตรกรท้องถิ่นนับร้อยรังสรรค์ “สวนแม่ฟ้าหลวง” โฉมใหม่ อวดดอกไม้เมืองหนาวกว่า 100,000 ต้น ดึงนักท่องเที่ยวชมสวนสวยตลอดปี
หากใครเดินทางมาเที่ยวชม “สวนแม่ฟ้าหลวง” ภายในโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงรายในช่วงเวลานี้ ภาพที่จะเห็นอย่างชัดเจน คือ ภูมิทัศน์ใหม่ของ “สวนแม่ฟ้าหลวง” ที่งามสะพรั่ง และแปลกตาจากเดิม สอดรับทิวทัศน์ภูเขาทุกฤดูกาล และให้ทุกคนได้สัมผัสกับความหมายอันลึกซึ้งของวิถีชีวิต วัฒนธรรม ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพและกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนในพื้นที่
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการปรับโฉมของสวนแม่ฟ้าหลวง เพื่อต้อนรับเทศกาล “สีสันดอยตุงครั้งที่ 10” ภายใต้แนวคิดดอกไม้ระบายดอย ว่า “สวนแม่ฟ้าหลวงเปิดให้เข้าชมครั้งแรกประมาณ 30 ปีที่แล้ว เมื่อ พ.ศ. 2535 ตามพระราชกุศโลบายของสมเด็จย่าในการตัดเส้นทางลำเลียงฝิ่นและอาวุธสงครามในขณะนั้น โดยมีพระราชประสงค์ให้สร้างสวนดอกไม้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้คนไทยได้ชมไม้เมืองหนาวโดยไม่ต้องไปต่างประเทศ และสวนแม่ฟ้าหลวงแห่งนี้ยังมีคุณค่าทางสังคม เกี่ยวพันกับประชาชนรอบพื้นที่ เพราะเป้าหมายของสวนคือการแก้ปัญหายาเสพติด ทั้งช่วยพัฒนาอาชีพและรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกและจัดสวนด้วย”
นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา สวนไม้ประดับบนพื้นที่กว่า 30 ไร่ที่เล่นระดับความสูงตามไหล่เขา พร้อมไม้ดอกไม้หลากสีสดใสจึงเป็นภาพจำอันคลาสสิกของสวนแม่ฟ้าหลวง ต้อนรับนักท่องเที่ยวมากว่าสิบล้านคน
“สวนแม่ฟ้าหลวงเติบโตมากับผู้ใหญ่รุ่น baby boomer, gen X และ gen Y เมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มนักท่องเที่ยวก็เปลี่ยน พฤติกรรมและความคาดหวังก็เปลี่ยน เราต้องการปรับภาพลักษณ์ของสวนแม่ฟ้าหลวงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับคนรุ่นใหม่ ในขณะเดียวกันก็รักษาเจตนารมณ์เดิมในการพัฒนาศักยภาพชุมชนในพื้นที่ และกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงรายด้วย” หม่อมหลวงดิศปนัดดากล่าว
ธัชพล สุนทราจารย์ ภูมิสถาปนิกชื่อดัง หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริษัท ภูมิสถาปนิก Landscape Collaboration จำกัด ที่สร้างชื่อเสียงไกลถึงต่างประเทศมาแล้ว คือผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบสวนแม่ฟ้าหลวงในครั้งนี้
ธัชพล กล่าวว่า “ผมเคยได้ไปเที่ยวและคุ้นเคยกับสวนแม่ฟ้าหลวงมาตั้งแต่เด็ก คิดว่าสวนแม่ฟ้าหลวงโดดเด่นเรื่องที่ตั้งกลางหุบเขา ลวดลายการจัดวางดอกไม้ และการดูแลผลัดเปลี่ยนดอกไม้ให้สวยงามตลอดปี เป็นโจทย์ที่น่าสนใจว่าจะปรับสวนแม่ฟ้าหลวงรูปแบบใหม่อย่างไรให้ร่วมสมัยขึ้น แต่ยังคงเอกลักษณ์เดิมไว้ด้วย”
ธัชพล เล่าต่อว่า “ผมออกแบบโดยปรับสวนไม้ประดับแบบเดิม ให้เป็นทุ่งดอกไม้ยาวเป็นทิวแบบทุ่งดอกไม้ ที่มีความเป็นธรรมชาติ เป็นป่า และไม่ต้องมีกรอบตายตัว เราอยากให้มองแล้วเหมือนภาพวาดที่ดอกไม้ที่ให้ผู้เข้าชมลงไปเป็นส่วนหนึ่งของภาพมากกว่าจะเพียงมองจากภายนอก โดยจัดให้สวนไล่สีเหมือนแถบสีรุ้ง แต่ลดสีสันที่ซับซ้อนให้สีอ่อนลง และสบายตามากขึ้น ที่สำคัญคือจะเน้นเรื่องการให้ผู้มาเยี่ยมชมรับรู้ถึงฤดูกาล และลักษณะทางพฤกษศาสตร์และสีของดอกไม้ที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล เพราะดอยตุงในแต่ละช่วงเวลาก็มีเสน่ห์แตกต่างกัน ทั้งนี้ในแต่ละฤดูกาลจะมีชุดของสีสันที่ต่างกันออกไปอย่างชัดเจน เมื่อผู้ชมมาชมในแต่ละช่วงเวลาของปีจะเกิดเป็นปรากฤการณ์ของชุดสีที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน”
จ๊อดเป็นหัวเรือใหญ่ในการออกแบบ โดยมีทีมเกษตรกรของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ อีกประมาณ 100 คนปลูกไม้ดอกและรังสรรค์ภาพฝันให้กลายเป็นจริง ถือเป็นการร่วมแรงร่วมใจครั้งสำคัญ และเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่เปรียบเสมือนบ้านของชาวดอยตุงให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่มากขึ้นเราพยายามเน้นความเป็นภูมิทัศน์ให้มากขึ้น และสร้างการรับรู้และการตีความของสวนแม่ฟ้าหลวงให้ง่ายขึ้น
เชิญชวนทุกท่านเที่ยวสวนแม่ฟ้าหลวงโฉมใหม่ภายใต้แนวคิด “ดอกไม้ระบายดอย” ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น. พร้อมร่วมสนุกในกิจกรรมประกวดถ่ายภาพสวนแม่ฟ้าหลวงและโพสต์ลงโซเชียลมีเดียลุ้นรับของรางวัลวันนี้ – 28 มกราคม 2567
#สีสันแห่งดอยตุงครั้งที่10 #ดอกไม้ระบายดอย #ColorsofDoiTung10 #PaletteofFlowers #เทศกาลแห่งความสุขที่สูงที่สุดในประเทศไทย
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี