เพลงไทยหรือที่หลายคนเรียกว่าเพลงไทยเดิมมีความเป็นมา มีรูปแบบ มีขนบ การเล่นและการร้องจึงต้องรักษาขนบไว้ให้มั่นคง เพราะมันคือการแสดงออกถึงความเคารพในภูมิปัญญาของบรรพชนที่สร้างสรรค์คีตศิลป์นี้ไว้สำหรับคนไทยทุกคน
ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัยชวนคุณไปสนทนากับตัวแทนนิสิตสาขาวิชาดุริยางคศิลป์ไทยภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานดนตรีไทยไว้ให้ยืนยง
นางสาวกชกร เรืองทุ่ง นิสิตชั้น ปี 4 สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ไทย ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
● ขับร้องเพลงไทยเดิมมาตั้งแต่อายุเท่าไร หรือเรียนอยู่ชั้นอะไรครับ
น.ส.กชกร : หนูเริ่มเรียนขับร้องเพลงไทยเดิมตอนเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนสวนอนันต์วิทยา จังหวัดสุโขทัย แต่จริงๆ หนูชอบร้องเพลงมา
ตั้งแต่เด็กๆ ที่บ้านหนูนั้นคุณปู่ คุณอาก็ร้องเพลงกันค่ะ แต่ตอนเด็กหนูร้องเพลงลูกทุ่ง ไม่ได้ร้องเพลงไทยเดิม แต่มาฝึกเมื่อเรียนมัธยมปลายค่ะ เพราะครูเห็นว่ามีแววร้องเพลงไทยเดิมได้ จึงฝึกให้ค่ะ
● ที่บ้านมีใครทำอาชีพเล่นดนตรีไทย หรือร้องเพลงไทยเดิมไหมครับ
น.ส.กชกร : ไม่มีค่ะ
● ครั้งแรกที่น้องร้องเพลงไทยเดิมในงานที่มีสาธารณชนไปชม ตอนนั้นเรียนชั้นไหนครับ
น.ส.กชกร : มัธยมศึกษาปีที่ 4 เลยค่ะในงานแข่งศิลปหัตถกรรมไทย และดนตรีไทยในจังหวัดสุโขทัยค่ะ
● การร้องเพลงลูกทุ่งมาก่อนแล้วมาปรับเป็นเพลงไทยเดิม ต้องปรับเสียง ปรับสไตล์การร้องนานไหมครับ และการร้องเพลงลูกทุ่งมาก่อนช่วยให้ร้องเพลงไทยเดิมได้ดีขึ้นไหมครับ
น.ส.กชกร : ต้องปรับเสียงร้อง และท่วงทำนองการร้องนานพอประมาณค่ะ ต้องกราบขอบพระคุณคุณครูผู้ฝึกสอนให้ค่ะ คุณครูที่สอนหนูท่านก็จบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยค่ะ ท่านตั้งใจฝึกซ้อมให้หนูอย่างมาก กว่าหนูจะปรับเสียงได้ก็นานพอควร เพราะแรกๆ จะร้องติดสำเนียงเพลงลูกทุ่ง ส่วนการร้องเพลง
ลูกทุ่งมาก่อนก็ดีตรงที่ช่วยในเรื่องการออกเสียงภาษาไทย เพราะเพลงลูกทุ่งนั้นต้องออกเสียงร้องให้ชัดเจนมากๆ ดังนั้นการร้องเพลงลูกทุ่งมาก่อนก็ช่วยให้ร้องเพลง
ไทยเดิมได้ดีขึ้น เพราะลูกทุ่งมีเสียงเอื้อน มีลูกคอ มีการออกเสียงภาษาไทยชัดเจน และทำให้รู้จังหวะของเพลง แล้วก็มาปรับใช้เวลาร้องเพลงไทยเดิม
● เวลาร้องเพลงไทยเดิมให้ที่สาธารณะ มีผู้ชมมากมาย และบางครั้งต้องร้องหน้าพระที่นั่งด้วยภาคภูมิใจมากไหมครับ
น.ส.กชกร : หนูภูมิใจมากค่ะ และดีใจที่มีส่วนร่วมสืบสานเพลงไทยเดิม เพราะเป็นมรดกสำคัญด้านคีตศิลป์ของไทยเรา
● ตอนที่ตัดสินใจเลือกศึกษาต่อในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ตอนนำเสนอผลงานก่อนจะเข้าสู่การสัมภาษณ์รอบแรก น้องทำอย่างไรบ้างครับ
น.ส.กชกร : หนูสอบรอบแรกโดยการยื่นผลงานการร้องเพลงไทยเดิม ด้วยการส่งเสียงที่บันทึกเป็นคลิปวีดีโอไว้ให้กับคณะฯ ได้พิจารณาค่ะ โดยส่งเพลงสุดสงวนสามชั้นเข้ามาค่ะ
● เพลงไทยเดิมที่ร้องยากที่สุดคือเพลงจำพวกไหนครับ
น.ส.กชกร : จริงๆ แล้วก็ยากง่ายต่างกันไปค่ะ ขึ้นกับว่าคนร้องชอบแบบไหน เช่น เพลงตับ เพลงเถา ซึ่งเพลงเถาก็มีตั้งแต่ 1-3 ชั้น แล้วยังขึ้นกับว่าร้องกับวงปีพาทย์ชนิดไหน ไม้แข็ง ไม้นวม เครื่องสาย ซึ่งก็จะต่างกันไปในแต่ละชนิดของวงดนตรีค่ะ สำหรับหนู หนูเห็นว่าเพลงที่ร้องยากที่สุดคือเพลงที่ต้องแสดงอารมณ์ในน้ำเสียงอย่างชัดเจน เช่น เพลงเดี่ยวพญาโศก เพราะต้องใช้ลีลา และอารมณ์ รวมถึงน้ำเสียงในการร้องอย่างมากค่ะ แต่บางคนอาจจะบอกว่าเพลงเถาสามชั้นร้องยาก ซึ่งก็แล้วแต่คนค่ะ และหนูเห็นว่าการร้องกับวงปี่พาทย์ไม้แข็ง ร้องยากที่สุดค่ะ เพราะว่าต้องร้องด้วยเสียงสูงมากให้ไปกับเสียงระนาดไม้แข็งได้
● การร้องเพลงไทยมีขนบแบบแผนใช่ไหมครับ เราเปลี่ยนแปลงได้ไหมครับ ผมสังเกตเห็นนักร้องเพลงรุ่นนี้กับนักร้องเพลงรุ่นครู ร้องเกือบจะเหมือนกันแบบถอดแบบกันมาเลย
น.ส.กชกร : มีขนบของเพลงไทยค่ะ เราต้องรักษาขนบไว้ อย่างหนูเองนั้น เวลาซ้อมร้อง หรือต่อเพลงก็จะฟังจากเทป หรือซีดีให้ขึ้นใจก่อน แล้วก็ไปร้องให้ครูฟังสดๆ ครูท่านก็จะแก้ไขให้หากมีตรงไหนที่ผิดเพี้ยนไปจากของเดิม ท่านจะชี้ให้เห็นว่าต้องลงรายละเอียดตรงไหนบ้าง ต้องฟังมากๆ แล้วฝึกออกเสียงให้ได้เหมือนครูมากที่สุด แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนต้นฉบับเป๊ะ เพราะเสียงเรากับเสียงครูอาจไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่ก็ต้องรักษาขนบการร้องไว้ให้มากที่สุดค่ะ
นายก้องภพ บุญเต็ม นิสิต ปี 2 สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ไทย ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
● เล่นดนตรีไทยชนิดไหนครับ เล่นดนตรีชนิดเดียวหรือหลายชนิดครับ
นายก้องภพ : ซอด้วงครับ ผมเล่นซอด้วงเท่านั้นครับ แต่เคยฝึกเครื่องดนตรีอื่นบ้าง แต่สุดท้ายก็ลงตัวที่ซอด้วงครับ
● เล่นซอด้วงมาตั้งแต่อยู่ชั้นประถมหรือมัธยมครับ จบมัธยมมาจากโรงเรียนอะไรครับ
นายก้องภพ : เล่นซอด้วงจริงๆ ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมที่ 2 ผมมาจากโรงเรียนวัดสุทธิวรารามครับ
● ทำไมจึงชอบซอด้วงครับ
นายก้องภพ : เป็นเพราะสมัยเด็กๆ เรียนในโรงเรียนแล้วได้ยินเสียงซอด้วง แล้วเห็นพี่ๆ เขาเล่นดนตรีไทย ได้เห็นลีลาการสีซอด้วง แล้วได้ยินเสียงของซอชนิดนี้ เลยประทับใจ และตั้งใจจะฝึกซ้อมให้ดีที่สุด เพื่อจะได้แสดงร่วมกับวงดนตรีไทยของโรงเรียนได้ครับ แล้วผมก็ได้เล่นกับวงดนตรีไทยของโรงเรียนครับ
● ซอมีหลายชนิด เช่น ซออู้ ซอด้วง และซอสามสาย ในฐานะคนเล่นดนตรีไทยจำพวกซอซอชนิดไหนเล่นยากที่สุดครับ
นายก้องภพ : ซอสามสายเล่นยากที่สุดครับ ผมเคยฝึกมาก่อนจึงทราบว่าเล่นค่อนข้างยาก เมื่อเทียบกับซอด้วงหรือซออู้
● สาเหตุที่ซอสามสายเล่นยาก เพราะอะไรครับ
นายก้องภพ : เพราะลักษณะการวางตัวซอจะต่างจากซออู้และซอด้วง คือซอสามสายจะวางไว้หน้าคนเล่น การจับตัวซอก็จะต่างกันด้วย คือจะต้องวางท่าทางการเล่นที่แตกต่างไปจากซออู้และซอด้วงครับ
● ผมสังเกตว่าเวลานักดนตรีไทยเล่นดนตรี ไม่เห็นต้องดูโน้ตเพลงเลย เพลงก็แสนจะยาว และมีหลายเพลงมาก ใช้วิธีการอย่างไรจึงจำได้ และเล่นกันได้แบบราบรื่น โดยไม่มี conductor ด้วย
นายก้องภพ : ต้องซ้อมมากๆ ครับ ต้องทำความเข้าใจกับบทเพลงก่อนด้วยครับ เพราะแต่ละเพลงมีจังหวะและลีลาต่างกัน จึงต้องซ้อมให้มาก แล้วทำความเข้าใจเนื้อเพลง และท่วงทำนองของเพลงให้ดีก่อนครับ การเล่นร่วมกันเป็นวงต้องมีจังหวะรับส่ง ต้องรู้มือ รู้จังหวะเพลงครับ ส่วนเรื่องโน้ตเพลงนั้น แรกๆ ของการเล่น ก็ต้องดูก่อนครับ ดูจนจำได้ขึ้นใจครับ
● ก่อนจะออกงานแต่ละครั้ง ต้องซ้อมนานกี่วันครับ
นายก้องภพ : อย่างน้อยๆ ก็เป็นอาทิตย์ครับ โดยแต่ละคนก็ต้องซ้อมเล่นเครื่องดนตรีของตัวเองมาให้ดีก่อนครับ แล้วจึงมาซ่อมโดยร่วมกันเป็นวงอีกครั้ง ต้องฟังเสียงเครื่องให้จังหวะให้ดี คือเสียงฉิ่ง เสียงกลองครับ
● การเล่นดนตรี หากเล่นมาตั้งแต่เด็กๆ กับมาฝึกเล่นตอนอายุเกิน 20 ปีไปแล้ว มีผลต่างกันมากไหมครับ
นายก้องภพ : ต่างกันครับ เพราะหากเล่นมาตั้งแต่เด็กๆ จะคุ้นเคยมากกว่า มีความชำนาญมากกว่ามีทักษะมากกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเล่นดนตรีตอนโตแล้วจะเล่นไม่ได้ สามารถเล่นได้ แต่ความชำนาญจะต่างกันกับการเล่นดนตรีมาตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ครับ เด็กๆ ยังจำได้ง่าย และฝึกได้ง่ายครับ และพัฒนาได้ดีกว่าครับ
นายพชร ดวงใหญ่ นิสิต ปี 3 สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ไทย ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
● น้องเล่นดนตรีชนิดไหนครับ
นายพชร : เล่นจะเข้ครับ
● เลือกเล่นจะเข้เพราะอะไรครับ มีผู้แนะนำ หรือเลือกเองครับ
นายพชร : สมัยเด็กๆ เห็นเครื่องจะเข้แล้วชอบ แล้วเมื่อได้ยินเสียงก็ยิ่งชอบ เลยเลือกเล่นจะเข้ครับ
● เสน่ห์ของเสียงจะเข้ และเครื่องดนตรีนี้อยู่ตรงไหนครับ
นายพชร : อยู่ที่เสียงของเครื่องสายนี้ครับ สมัยก่อนเสียงจะเข้จะทุ้มกว่านี้ครับ ผมฟังแล้วชอบมาก ปัจจุบันเสียงแหลมมากขึ้น เพราะเปลี่ยนไปตามบริบทของการเล่นในวงครับ เสียงแหลมอาจทำให้ได้ยินเสียงชัดขึ้น แต่สำหรับผมชอบเสียงทุ้มมากกว่าครับ
● สมัยที่เริ่มเล่นจะเข้ เพื่อนๆ ถามไหมว่าทำไมไม่เรียนดนตรีสากล
นายพชร : เจอคำถามนี้บ่อยมากครับ เจอประจำแต่ก็ตอบไปว่าผมชอบจะเข้ครับ อยากเล่นจะเข้ เพราะเสียงมีเสน่ห์ เครื่องดนตรีก็แสนจะเท่ ผมหลงรักจะเข้ครับ เมื่อรักแล้วก็เล่นได้ แม้อาจจะดูว่าเล่นยาก แต่เมื่อรักแล้วไม่ยากเลยครับ เมื่อเราเริ่มต้นด้วยความรัก เราจะไปกับมันได้ดีครับ
● เรียนจบแล้วอยากทำงานด้านไหนครับ
นายพชร : อาจจะเป็นอาจารย์ครับ หรืออาจจะทำอาชีพนักดนตรีไทยควบคู่ไปด้วยครับ หรือไม่ก็ทำงานในหน่วยงานด้านดนตรีไทยที่มีมากมายในประเทศของเรา ทั้งที่กรมประชาสัมพันธ์ และกรมศิลปากร ครับ หรือกับวงของเอกชนก็ยังมีครับ
● ตอนสมัยเด็กๆ เพื่อนๆ เขาฟังเพลงแบบ K Pop หรือ J Pop เขาเคยช่วยเราไปฟัง หรือเคยฟังบ้างไหมครับ
นายพชร : ก็ฟังบ้างครับ แต่ไม่ได้ชอบมาก ฟังได้ แต่ฟังได้ไม่นานครับ ไม่ in ไปกับดนตรีทำนองนั้นครับ ไม่ได้คัดค้านนะครับ แต่ฟังแล้วไม่ in ครับ ผมรู้ตัวว่าชอบดนตรีไทย ชอบจะเข้ ก็เล่นไปเรื่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ ครับ เราชอบของเราแบบนี้ ก็ไปตามทางของเรา แต่ละคนชอบต่างกันไป ตามรสนิยมการฟังดนตรี ไม่มีใครผิดหรือถูกครับ ผมชอบดนตรีไทยก็ซึมซับกับดนตรีไทยครับ ฟังแล้วชอบ ก็ฟังไปเรื่อยๆ ใครจะว่าเชย ก็เรื่องของเขา เรารักของเราครับ ผมว่าดนตรีทุกชนิดดีเหมือนๆ กันครับ
ดีทุกอย่าง เพราะอันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์
● มีข้อเสนอแนะอย่างไรให้ดนตรีไทยเป็นที่นิยมของสังคมให้มากขึ้นครับ
นายพชร : ขอบอกว่าดนตรีไทยเป็นพัฒนาการทางเสียง เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยครับ เป็นเอกลักษณ์สำคัญของชาติไทย มีพัฒนามาจนถึงจุดสูงสุด มีความงาม
สูงสุด ผมมองว่าดนตรีไทยมีคุณค่ามาก มีความสูงส่งในตัวเองอย่างมาก ดนตรีไทยมีค่าสูงมาก มีความวิจิตรงดงาม เป็นสมบัติและเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย แต่ใครจะชื่นชอบหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของปัจเจก เราบังคับกันไม่ได้ แต่หากเขาเห็นคุณค่า เขาจะรักษาดนตรีไทยไว้เมื่อเรารักดนตรีไทย เราจะช่วยกันรักษาไว้ ใครจะสบประมาทดนตรีไทยก็ปล่อยเขาไป แต่เราต้องรักและร่วมกันรักษาเอาไว้ เราต้องทำให้คนไทยเห็นคุณค่าของดนตรีไทย เขาจะได้ช่วยกันรักษาไว้ ผมมองว่าปัจจุบันดนตรีไทยได้รับการผลักดันโดยรัฐบาลมากพอประมาณ มีการวางหลักสูตรการเรียนการสอนระดับในมัธยมศึกษา และอุดมศึกษาด้วย แต่หากรัฐบาลจะสนับสนุนให้มากขึ้นก็คือช่วยผลักดันให้มีงานรองรับด้านดนตรีไทยให้มากขึ้นปัจจุบันต้องยอมรับว่าผู้ที่จบดนตรีไทยยังอาจจะมีงานรองรับไม่มากนัก ถ้ารัฐบาลจะส่งเสริมเรื่องนี้ให้มากขึ้นก็จะดีครับ
นางสาวชนันท์กานต์ พลัดเชื้อนิล นิสิต ปี 3 สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ไทย ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
● น้องเล่นดนตรีชนิดไหนครับ
น.ส.ชนันท์กานต์ : หนูเล่นซอด้วงค่ะ เพราะคุณยายชอบซอด้วง แต่คุณยายไม่ได้เล่นดนตรีค่ะ ท่านชอบเสียงซอด้วง ท่านบอกหนูว่าเสียงไพเราะดี หนูเลยเล่นซอด้วงให้คุณยายค่ะ คุณยายชอบฟังเพลงไทยเดิมมากตอนเด็กๆ หนูเล่นระนาดเอกมาก่อนค่ะ แต่คุณครูก็แนะนำว่าลองเล่นซอด้วงด้วยไหม หนูก็ลองเล่น เพราะอย่างที่บอกว่าคุณยายชอบซอด้วง แล้วสุดท้ายก็เปลี่ยนมาเล่นซอด้วง เลิกเล่นระนาดเอกไปเลยค่ะ
● ซอด้วงมีความสำคัญอย่างไรเวลาเล่นในวงดนตรีไทย
น.ส.ชนันท์กานต์ : จริงๆ เสียงซอด้วงเป็นเสียงหลักเสียงหนึ่งในวงดนตรีนะคะ โดยเฉพาะในวงเครื่องสายเสียงซอด้วงจะเด่นพอๆ กับเสียงจะเข้ แต่ตัวซอด้วงจะเป็นผู้ดำเนินทำนองมากกว่าค่ะ
● ที่บ้านมีใครเล่นดนตรีไทยไหมครับ
น.ส.ชนันท์กานต์ : ไม่มีเลยค่ะ มีหนูคนเดียว เพราะคนอื่นๆ ในบ้านเล่นดนตรีสากล แบบวงสตริงทั่วไป คนในบ้านยกเว้นคุณยายมองว่าดนตรีสากลดีเด่น แต่
คุณยายหนูชอบเพลงจากดนตรีไทย ก็จึงผสมผสานกันไปค่ะคือที่บ้านหนูนั้นคุณพ่อ คุณแม่เล่นดนตรีสากลค่ะ เราก็เล่นดนตรีไทยกับสากลกันในบางครั้ง แต่หนูรักดนตรีไทยมากค่ะ เวลาเรารักสิ่งใด เราก็จะทุ่มเทให้กับสิ่งนั้นค่ะ
● วางอนาคตหลังจากจบศิลปกรรมฯ ไว้อย่างไรครับ
น.ส.ชนันท์กานต์ : เรียนต่อระดับปริญญาโทก่อนแล้วอาจจะหางานทำไปด้วย แล้วหากเป็นไปได้จะเรียนให้จบชั้นปริญญาเอกด้านดนตรีไทยค่ะ แล้วก็อยากเป็นอาจารย์สอนดนตรีไทยค่ะ หรือไม่ก็ทำงานในสังกัดสังคีต กรมศิลปากรค่ะ
● เคยมีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดบอกไหมว่า ดนตรีไทยเชย
น.ส.ชนันท์กานต์ : ก็มีบ้างค่ะ ก็ว่ากันไป แต่เราชอบก็ฟังแล้วไม่คิดอะไร เราชอบของเรา เราก็เล่นดนตรีไทยไปเรื่อยๆ จริงๆ แล้วหนูก็ฟังเพลงสากล เพลงเกาหลี เพลงญี่ปุ่นนะคะ แต่ชอบเพลงไทยเดิมมากกว่าค่ะ หนูเคยแสดงดนตรีไทยผสมสากล โดยเปิดแสดงแบบเปิดหมวกด้วยนะคะ ในงานที่คลองผดุงกรุงเกษมค่ะ ก็มีคนให้ความสนใจมากนะคะ มันเป็นแบบผสมผสาน เป็น contemporary music ซอด้วงสามารถเล่นกับดนตรีสากลได้หลายชนิด เช่น เปียโน กีตาร์ กลองก็ยังได้ ขึ้นอยู่กับเราจะ tune เสียงของดนตรีให้ไปในทิศทางไหน เวลาผสมกันแล้ว เล่นเพลงต่างๆ เช่น ลาวดวงเดือน เขมรไทรโยค ลาวดำเนินเกวียนอะไรเหล่านี้เป็นต้น
● คนบางคนบอกว่าฟังดนตรีไทยแล้วจะหลับ เพราะทำนองมันช้ามาก
น.ส. ชนันท์กานต์ : ก็ไม่ผิดนะคะ เพราะดนตรีไทยที่ทำนองช้าๆ นั้นเขาทำเพื่อกล่อมนอน เพื่อใช้ประโคมก่อนนอน เป็นการขับกล่อม แต่ก็ไม่เสมอไปนะคะ ดนตรีไทยที่มีทำนองเร็วๆ กระฉับกระเฉงก็เยอะนะคะ เช่น ซัดชาตรี เป็นต้น มันขึ้นกับการบรรเลงด้วยทำนองแบบไหน ดนตรีไทยไม่ได้มีแต่เพลงช้าๆ เท่านั้นค่ะ มีหลากหลายทำนอง หลายบริบทในการนำเสนอ
● คิดว่าดนตรีไทยถูกละเลยจากคนบางกลุ่มในยุคปัจจุบันไหมครับ
น.ส.ชนันท์กานต์ : ก็มีบ้างแต่ไม่ทั้งหมดค่ะ ก็มีผู้สนับสนุนอยู่บ้างค่ะ แม้อาจจะไม่มากเท่าที่ควรก็ตาม
● มีความเห็นอย่างไรที่จะให้ดนตรีไทยได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้ครับ
น.ส.ชนันท์กานต์ : ก็ต้องทำให้ดนตรีไทยเข้าถึงคนให้มากขึ้น และคนก็ต้องเปิดใจฟังดนตรีไทยมากขึ้น หน่วยงานรัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุนด้วย อย่าปล่อยให้ดนตรีไทยดำเนินไปตามยถากรรม คนไทยก็ต้องเปิดใจฟังดนตรีไทยให้มากขึ้นด้วยค่ะ
คุณสามารถรับชมรายการไลฟ์ วาไรตี รายการที่ให้ทั้งสาระและความรู้ โดยชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี
หมายเหตุ ขอเรียนให้ทราบว่า รายการไลฟ์ วาไรตี ยุติการออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ NBT แล้ว โดยออกอากาศรายการครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี