การบริจาคโลหิต เป็นการที่ผู้บริจาคจะบริจาคโลหิตของตนเองเพื่อให้ผู้อื่น เพื่อนำไปใช้รักษาโรคหรือช่วยชีวิตผู้ป่วย การบริจาคโลหิตสามารถบริจาคได้ทั้งโลหิตรวม (whole blood) และนำไปแยกเป็นส่วนประกอบเลือด ได้แก่ เกล็ดเลือด พลาสมา และเม็ดโลหิตแดง และอีกรูปแบบหนึ่งการบริจาคโลหิตเฉพาะส่วน (Apheresis) โดยใช้เครื่องแยกส่วนประกอบของเลือด การบริจาคเลือด คือ การเก็บโลหิตจากผู้มีความประสงค์จะบริจาค โดยโลหิตนั้นนำไปใช้สำหรับการถ่ายเลือด และ/หรือการเยียวยาทางชีวเภสัชวิทยาโดยกระบวนการ
ที่เรียกว่าการแยกส่วน (การแยกองค์ประกอบของเลือดครบ) การบริจาคอาจบริจาคเลือดครบหรือเฉพาะองค์ประกอบหนึ่งของเลือดโดยตรง ก็ได้
ข้อมูลจาก ปิยนันท์ คุ้มครอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติเปิดเผยว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ทำหน้าที่ในการจัดหาโลหิต กำหนดมาตรฐานงานบริการโลหิตของประเทศไทย โดยมีภารกิจในการส่งเสริมการบริจาคโลหิตและส่งเสริมการใช้โลหิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการบริจาคโลหิต หรือการบริจาคโลหิตเฉพาะส่วน เช่น การบริจาคเม็ดเลือดแดง การบริจาคเกล็ดเลือด และการบริจาคพลาสมา
การบริจาคเม็ดเลือดแดง (Single Donor Red Cells)
เม็ดเลือดแดง (Red Cells) เป็นส่วนประกอบชนิดหนึ่งของโลหิต มีหน้าที่ส่งถ่ายออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย อายุการทำงานในกระแสโลหิต ประมาณ 120 วัน ซึ่งผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการบริจาคเม็ดเลือดแดงคือ ผู้ป่วยโรคเลือดที่สร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อยเช่น ธาลัสซีเมีย ไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น รวมทั้งผู้ป่วยที่สูญเสียเลือดจากการผ่าตัดหัวใจ อุบัติเหตุ ตกเลือดในการคลอด
สำหรับคุณสมบัติผู้สามารถบริจาคเม็ดเลือดแดง คือ อายุ 18 ปีบริบูรณ์-60 ปี ถ้าบริจาคครั้งแรก อายุไม่เกิน 50 ปี, ผู้บริจาคชายน้ำหนักเท่ากับหรือมากกว่า 59 กิโลกรัมส่วนสูงมากกว่า 155 เซนติเมตร, ผู้บริจาคหญิงน้ำหนักเท่ากับหรือมากกว่า 70 กิโลกรัมส่วนสูงมากกว่า 165 เซนติเมตร, เป็นผู้ที่มาบริจาคโลหิตชนิดโลหิตรวม ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ อย่างน้อย 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี,มีเส้นเลือดที่ข้อพับแขนมองเห็นชัดเจน,หลีกเลี่ยง อาหารที่มีไขมันสูงก่อนมาบริจาค เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่เป็นต้น, มีค่าความเข้มข้นโลหิต หรือค่า Hct มากกว่า 40%, มีค่าเข้มข้นของโลหิต Hb มากกว่า 14.0 g/dl มีค่า Body Mass Index คือ ค่าอัตราส่วนระหว่างน้ำหนักต่อส่วนสูง น้อยกว่า 25
การบริจาคเม็ดเลือดแดง บริจาคด้วยเครื่องแยกส่วนประกอบโลหิตอัตโนมัติ (Blood Cell Separator Device) จะแยกเก็บเฉพาะเม็ดเลือดแดงไว้ โดยคืนส่วนอื่นกลับสู่ร่างกาย และชดเชยส่วนที่บริจาคออกมาด้วยน้ำเกลือ 400 มิลลิลิตร ให้แก่ผู้บริจาค ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที บริจาคได้ทุก 4 เดือน ให้ผู้ป่วยได้ 2 ราย
การบริจาคเกล็ดเลือด (Single Donor Platelets)
เกล็ดเลือด (Platelets) คือ ส่วนประกอบของเลือดช่วยทำให้เลือดแข็งตัว และช่วยอุดรอยฉีกขาดของเส้นเลือด เกล็ดเลือดมีอายุสั้นเก็บได้เพียง 7 วัน ในร่างกายของคนเราจะมีเกล็ดเลือดประมาณ 1-5 แสนตัว/ลูกบาศก์มิลลิลิตร ผู้ป่วยที่ต้องใช้เกล็ดเลือดในการรักษา ได้แก่ ไขกระดูกสร้างได้น้อย เช่น โรคไขกระดูกฝ่อ ลูคีเมีย ผู้สูญเสียเกล็ดเลือดจำนวนมากจากการเสียเลือด เช่น ไข้เลือดออก ผ่าตัดใหญ่ ตกเลือดในการคลอดบุตร อุบัติเหตุ เป็นต้น
สำหรับคุณสมบัติผู้บริจาคเกล็ดเลือด คือ เพศชาย, อายุ 18-60 ปี ถ้าบริจาคครั้งแรก อายุไม่เกิน 50 ปี, น้ำหนักมากกว่า 55 กิโลกรัมขึ้นไป, มีค่าเกล็ดเลือด มากกว่า2 แสนตัว ต่อโลหิต 1 ลูกบาศก์มิลลิลิตร, เป็นผู้ที่มาบริจาคโลหิตชนิดโลหิตรวม ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ อย่างน้อย 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี, มีเส้นเลือดที่ข้อพับแขน มองเห็นชัดเจน, ไม่กินยาแก้ปวดแอสไพรินก่อนบริจาค 3 วัน
วิธีการบริจาค การบริจาคเกล็ดเลือด (Single Donor Platelets) สามารถบริจาคได้ทุก 1 เดือน โดยผู้บริจาคจะต้องบริจาคด้วยเครื่องแยกส่วนประกอบโลหิตอัตโนมัติ (Blood Cell Separator Device) เครื่องจะปั่นแยกเกล็ดเลือดไว้ โดยคืนส่วนอื่นกลับสู่ร่างกายใช้เวลาในการบริจาคแต่ละครั้งประมาณ 2 ชั่วโมง
การบริจาคพลาสมา (Single Donor Plasma)
พลาสมา (Plasma) คือ ส่วนประกอบของโลหิตที่มีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลืองใสซึ่งประกอบไปด้วยสารโปรตีน ได้แก่ อัลบูมิน โกลบูลิน อิมมูโนโกลบูลิน ปัจจัยการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรักษาปริมาณน้ำภายในหลอดเลือด ต่อต้านเชื้อโรค และช่วยในการแข็งตัวของเลือด ตามลำดับ
ผู้ป่วยที่ต้องใช้พลาสมาในการรักษา ได้แก่ ผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ขาดปัจจัยแข็งตัวของเลือด โดยพลาสมา จะถูกนำไปผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ 3 ชนิด
-แฟคเตอร์ VIII (Factor VIII) รักษาโรคฮีโมฟีเลีย เอ
-อิมมูโนโกลบูลิน รักษาโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง
-อัลบูมิน (Albumin) รักษาไฟไหม้น้ำร้อนลวก และโรคตับ
-ผลิตเซรุ่มป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ในโครงการ บริจาคพลาสมาเพื่อทำเซรุ่ม
สำหรับคุณสมบัติผู้บริจาคพลาสมาเพื่อทำเซรุ่ม คือ อายุ 18-60 ปี ถ้าบริจาคครั้งแรก อายุไม่เกิน 50 ปี, มีน้ำหนักมากกว่า 55 กิโลกรัม ขึ้นไป, เป็นผู้ที่มาบริจาคโลหิตชนิดโลหิตรวม ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ อย่างน้อย1 ครั้ง ภายใน 6 เดือน, เส้นเลือดที่ข้อพับแขนมองเห็นชัดเจน, หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงก่อนมาบริจาค เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ เป็นต้น, ผู้บริจาคต้องอยู่ในโครงการอย่างน้อย 3 ปี
ทั้งนี้ ผู้ที่เคยบริจาคโลหิตอยู่แล้วสามารถเปลี่ยนเป็นผู้บริจาคพลาสมาได้โดยเว้นระยะเวลา 3 เดือน และต้องสมัครเข้าโครงการฉีดวัคซีนก่อน และสามารถกลับมาเป็นผู้บริจาคโลหิตได้ โดยให้เว้นระยะเวลาหลังจากบริจาคพลาสมา 2 สัปดาห์
สำหรับวิธีการบริจาคพลาสมา จะบริจาคด้วยเครื่องแยกส่วนประกอบโลหิตอัตโนมัติ (Blood Cell Separator Device) ใช้เวลาในการบริจาค ประมาณ 45 นาที
ครั้งละ 500 ซีซี บริจาคได้ทุก 14 วัน
หากได้มีโอกาสบริจาคโลหิต จึงนับเป็นการช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยได้มีชีวิตใหม่ และกลับไปอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขรายละเอียดดูได้ที่ www.blooddonationthai.com หรือโทร.02-2564300
ผศ.(พิเศษ)ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์
ประธานกรรมการ มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี