ผ่านปีใหม่มาจวนจะหมดเดือนแรกของปีแล้ว เรามาดูกันสิว่ายาต่างๆ ในบ้านของเรามีอะไรที่เหลืออยู่บ้าง ใกล้หมดอายุหรือยัง หรือหมดอายุไปแล้ว เราจะได้เคลียร์ยาออกไปให้หมด ดีกว่าเก็บไว้แล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์
ยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ทุกๆ บ้านมียา ทั้งแบบที่ตั้งใจเก็บ และแบบที่เก็บไว้โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะฉะนั้น สัปดาห์นี้จึงขอชวนคุณผู้อ่านมาสำรวจตรวจสอบยาในบ้านกัน เพื่อจะได้จัดระเบียบยา
ขอถามว่าคุณผู้อ่านเก็บยากันไว้ที่ไหนบ้าง บางบ้านมีตู้ยาเป็นกิจลักษณะ บางบ้านไม่มีตู้ยาเป็นทางการ ก็อาจเก็บยาไว้ในลิ้นชัก หรือในกล่อง ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นตู้ยาของเรา ไม่ว่าจะเก็บยาไว้ที่ไหนก็ตาม อยากให้ทุกคนนำยาทุกตัวออกมา แล้วทำความสะอาดที่เก็บยา แล้วพิจารณาว่าจะเก็บยาอะไรไว้บ้าง หรือตัวไหนต้องทิ้งไป หรือตัวไหนควรนำไปบริจาคให้โรงพยาบาล
เรามาเริ่มจากยากินก่อน ยาน้ำจำพวกยาธาตุน้ำแดงน้ำขาว ยาลดกรด ยาระบาย ยาน้ำเชื่อม ยาแก้ไอที่เปิดขวดแล้ว หากไม่ได้เขียนวันที่เปิดไว้ แล้วจำไม่ได้แล้วว่าล่าสุดใช้ครั้งสุดท้ายเมื่อไร ขอให้ทิ้งไปเลย แม้จะยังไม่หมดอายุก็ตาม เพราะเมื่อเปิดขวดแล้วย่อมมีโอกาสที่เชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ จะเข้าไปก่อโรค หรือยาน้ำได้ระเหยจนความเข้มข้นเปลี่ยนไป มีความเสี่ยงต่อสุขภาพหากนำไปใช้ และย้ำว่าในครั้งต่อไปเมื่อต้องใช้ยาน้ำต้องเขียนวันที่ใช้ยาครั้งแรกไว้เสมอ แต่อันที่จริงแล้วเป็นเรื่องยากกับการควบคุมคุณภาพยา หากผู้ผลิตยาไม่ได้ระบุว่ายาที่เปิดใช้แล้วจะอยู่ได้นานเท่าไร เพราะยาแต่ละชนิดมีความคงตัวไม่เท่ากัน สภาวะการเก็บรักษาที่ต่างกันไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ความชื้น และแสง คงบอกได้คราวๆ แค่ว่ายาน้ำเปิดใช้แล้วเกิน 6 เดือนก็ต้องทิ้งไป หรือแม้ว่าอาจไม่ถึง 6 เดือนแต่ถ้าสีและกลิ่นเปลี่ยนไปจากเดิมก็ต้องทิ้งเช่นกัน และยาที่เราจิบจากขวดโดยตรง จำพวกยาแก้ไอ หากใช้ไม่หมดภายใน 2-3 วันก็ควรทิ้งเช่นกัน ไม่ควรนำมาเก็บไว้ เพราะปนเปื้อนเชื้อจากในช่องปากเราแล้ว
ส่วนยาเม็ด ถ้าเป็นยาที่บรรจุในแผงแบบแยกเม็ด ก็อาจจะเก็บไว้ได้จนถึงวันหมดอายุ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ควรตรวจสอบก่อนว่าแผงยายังอยู่ในสภาพดี ไม่ฉีกขาด รั่วซึม หรือบวมเต่งผิดไปจากเดิมเพราะนั่นหมายความว่ายาในแผงอาจจะเสื่อมคุณภาพแล้ว ซึ่งต้องทิ้งเช่นกัน
สำหรับยาแบบเม็ดเปลือยที่บรรจุในขวดแบบ 30, 60 หรือ 100 เม็ด อันนี้ก็ยึดหลักการคล้ายกันกับยาน้ำคือ หลังเปิดขวด 6 เดือนควรทิ้งไป เพราะอาจมีปัญหาความชื้น การปนเปื้อนเชื้อ ทำให้ไม่ปลอดภัยในการใช้ และถ้ามีลักษณะทางกายภาพเปลี่ยนไป เช่น สีเม็ดยาเปลี่ยน เข้มขึ้น ซีดจางลง ยาเม็ดเคลือบที่เคยมันวาวมีลักษณะด้านๆ ขึ้นๆ มีจุดเหมือนตกกระบนเม็ดยา หรือยาเม็ดแคปซูลนิ่มมีลักษณะบวมเยิ้มติดกัน ก็ต้องทิ้งเช่นกัน
สำหรับยาใช้ภายนอก เช่น ยาทาแผลโพวิโดน-ไอโอดีน น้ำเกลือล้างแผล แอลกอฮอล์เช็ดแผล ของพวกนี้มักเจอว่าเปิดใช้แล้วตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้ ก็อาจต้องทิ้งเช่นกัน หากเปิดใช้ครั้งแรกนานมากแล้ว แต่หากเป็นแอลกอฮอล์ขวดใหญ่ 450 มิลลิลิตร ที่เหลือเกินครึ่งขวด แต่เปิดเมื่อไรก็ไม่รู้ ก็ขอให้ตัดใจทิ้งไป เพราะแอลกอฮอล์ที่เหลืออยู่นั้นไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าเหลืออยู่กี่เปอร์เซ็นต์
ส่วนยาใช้ภายนอกอื่นๆ เช่น ยาครีมทาแก้คัน ยาน้ำคาลาไมน์ ยาเหล่านี้หากเปิดใช้แล้วก็ควรทิ้งหลัง 6 เดือนเช่นกัน
สุดท้ายคือยาสำหรับตา ไม่ว่าจะเป็นยาหยอดตา หรือยาป้ายตาที่ใช้รักษาโรคที่เป็นครั้งๆ เมื่อหายจากโรคแล้วก็ไม่ควรเก็บไว้อีก โดยเฉพาะเมื่อไม่แน่ใจว่าใช้ยาครั้งแรกเมื่อไร เพราะเสี่ยงจากการปนเปื้อนเชื้อโรค ทำให้เกิดอันตรายกับดวงตา อาจตาบอดได้ โดยทั่วไปยาสำหรับตาที่เปิดใช้แล้ว ถ้าเก็บรักษาอย่างถูกต้อง สามารถเก็บไว้ได้ 30 วัน
นอกจากยา แล้วในตู้ยาอาจมีเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา เช่น พลาสเตอร์ปิดแผล ผ้าก๊อซ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ควรอยู่ในภาชนะบรรจุปิดสนิทที่มีวันหมดอายุกำกับ เพราะของพวกนี้ใช้กับแผล จึงต้องปราศจากเชื้อ ดังนั้นหากพบว่ามันถูกเปิดแล้วแต่ไม่ได้ใช้หรือใช้ไม่หมด ก็ทิ้งได้เลย เพราะมันอาจไม่อยู่ในสภาพปลอดเชื้อ แต่สำหรับพลาสเตอร์ชนิดที่ไม่ได้สัมผัสกับแผลตรงๆ อาจจะพอเก็บไว้ใช้ได้ถ้ากาวยังไม่เยิ้มหรือเปื่อยยุ่ย แต่ถ้าเป็นแบบสัมผัสกับแผลเปิดตรงๆ ก็ไม่ควรเสี่ยงนำมาใช้อีก เพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อได้
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ต้องย้ำว่าข้อพึงปฏิบัติสำหรับการจัดการยาสามัญประจำบ้าน คือ
1 ไม่ควรมียาสำรองไว้มากเกินความจำเป็น
2 ควรเลือกซื้อขนาดบรรจุที่เล็กที่สุด
3 ยาเม็ดนั้น ถ้าเลือกได้ควรเลือกแบบบรรจุในแผง
4 ควรเขียนวันที่เปิดใช้ยาไว้เสมอ
5 ตรวจสอบวันหมดอายุก่อนใช้ยาและเวชภัณฑ์ทุกครั้ง
6 สังเกตและจดจำลักษณะปกติของยาที่ใช้บ่อยๆ เพื่อจะทราบได้ทันทีที่ยาเกิดความเปลี่ยนแปลงก่อนใช้หรือไม่
7 หมั่นตรวจสอบตู้ยาและกล่องยาทุก 6 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงการเก็บยาเสื่อมคุณภาพไว้ในบ้าน
8 ยาเสื่อมคุณภาพหรือยาหมดอายุคือขยะพิษ ห้ามทิ้งรวมกับขยะอื่นๆ เพราะจะปนเปื้อนเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม วิธีทิ้งที่ถูกต้องคือนำใส่ภาชนะบรรจุปิดสนิท เช่น ถุงพลาสติกมัดปากให้แน่น เขียนบนถุงว่าขยะพิษยาหมดอายุ แยกไว้ให้พนักงานเก็บขยะเอาไปจัดการให้เหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่ายาเสื่อมคุณภาพจะไม่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือไม่ก็รวบรวมใส่ถุงแล้วนำไปฝากทิ้งที่ร้านยาคุณภาพ เพราะร้านยาเหล่านี้ช่วยรวบรวมไปทำลายอย่างถูกต้อง โดยหนึ่งในร้านยาคุณภาพก็คือ โอสถศาลา สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ที่ถนนพญาไทตรงข้าม MBK โดยคุณแวะไปขอคำแนะนำการใช้ยา และปรึกษาปัญหาสุขภาพได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-18.00 น.วันเสาร์ 10.00-18.00 น.
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี