สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ฉายภาพหมู่กับผู้รับพระราชทานรางวัลพร้อมคู่สมรสและคณะกรรมการมูลนิธิฯ (จากซ้าย) ศ.คลินิก นพ.สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิ, ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล รองประธานมูลนิธิ, พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี, เปาโล ดิโอนิซี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย, จิกะ ไซโต-ศ.นพ.นาโปเลโอเน เฟอร์รารา, ศ.นพ.แบร์รี่ เอช. รูแมค-ศ.พญ.แครอล มาสเตอร์ รูแมค, โรเบิร์ต แฟรงก์ โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย, เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา, ศ.นพ.เจมส์ รูแมค และ พญ.แมรี่ บรอสโทวิช
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จฯ แทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยผู้ได้รับพระราชทานรางวัลในปีนี้ ได้แก่ ศ.นพ.นาโปเลโอเน เฟอร์รารา สาขาการแพทย์และ ศ.นพ.แบร์รี่ เอช. รูแมค สาขาการสาธารณสุขการนี้ ได้พระราชทานพระราชดำรัส พร้อมกับพระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล พร้อมด้วยคู่สมรสเข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ และพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2566 พร้อมคู่สมรส ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล พระราชทานพระราชดำรัสแสดงความชื่นชมความตอนหนึ่งว่า
“การศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อรักษาโรคใดโรคหนึ่งหรือรักษาภาวะพิษจากยาชนิดใดชนิดหนึ่งนั้น จำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจถึงพยาธิสภาพ กลไกการเกิดโรคหรือภาวะพิษ รวมทั้งพยาธิสรีรวิทยาของโรคหรือภาวะพิษนั้นๆ จึงจะสามารถค้นพบวิธีการรักษาโรค และต้านภาวะพิษดังกล่าวได้ ดังเช่นผลงานของ ศ.นพ.นาโปเลโอเน เฟอร์รารา ที่ได้ค้นพบและสกัดโปรตีนวีอีจีเอฟ ซึ่งเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรคมะเร็งหลายชนิดและโรคศูนย์กลางจอตาเสื่อมจากอายุรุนแรงขึ้นนำไปสู่การพัฒนายาต้านโปรตีนวีอีจีเอฟเพื่อรักษาโรคดังกล่าว กับผลงานของ ศ.นพ.แบร์รี่ เอช. รูแมค ที่ได้ศึกษาภาวะพิษจากการกินยาพาราเซตามอลเกินขนาด แล้วประดิษฐ์เครื่องมือประเมินความเสี่ยงอันนำไปสู่การวินิจฉัยและรักษาภาวะพิษจากยาพาราเซตามอลได้อย่างเหมาะสม เป็นประโยชน์แก่สุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความนิยมชื่นชมกับทั้งสองท่านที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 ด้วยผลงานอันเกิดจากความวิริยะอุตสาหะ ความเสียสละอดทน และความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์อย่างสูงยิ่ง”
ศ.นพ.นาโปเลโอเน เฟอร์รารา (Napoleone Ferrara, M.D.) จาก สหรัฐอเมริกา / อิตาลี ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566สาขาการแพทย์ เป็นผู้ค้นพบและสกัดโปรตีนที่เร่งการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด หรือโปรตีนวีอีจีเอฟ ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด โดยได้ทำการศึกษาทั้งในด้านชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุลของโปรตีนวีอีจีเอฟรวมถึงตัวรับโปรตีนวีอีจีเอฟชนิดต่างๆ และกลไกในการกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่ทั้งในภาวะปกติและภาวะที่เกิดพยาธิสภาพที่สำคัญคือโรคมะเร็งบางชนิด และโรคศูนย์กลางจอตาเสื่อมจากอายุ หรือโรคเอเอ็มดี นำไปสู่การพัฒนายาชนิดแอนติบอดีต่อโปรตีนวีอีจีเอฟ ได้แก่ ยาบีวาซิซูแมบ (เอวาสติน) ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะที่มีความรุนแรงร่วมกับมีการสร้างหลอดเลือดอย่างหนาแน่น ได้แก่ มะเร็งสมอง มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งลำไส้ อีกทั้งช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเอเอ็มดี ด้วยผลิตภัณฑ์ยาที่มีองค์ประกอบหลักเป็นส่วนของแอนติบอดี และมีฤทธิ์ต้านการทำงานของโปรตีนวีอีจีเอฟ ผลสำเร็จดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในผู้ป่วยโรคมะเร็ง และโรคตา เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลก
ศ.นพ.นาโปเลโอเน เฟอร์รารา ได้เผยความรู้สึกว่า เมื่อทราบว่าตนเองได้รับเลือกมีความประหลาดใจมาก เพราะไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองได้รับการเสนอชื่อ ตนได้ไปศึกษาเกี่ยวกับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จึงทำให้ทราบพระราชประวัติของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกทำให้ทราบว่าพระองค์ท่านทรงทุ่มเทในการพัฒนาด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยเป็นอย่างมาก ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้กับบุคคลทั่วโลกในด้านการแพทย์และสาธารณสุข จึงรู้สึกเป็นเกียรติและดีใจอย่างมาก ที่มูลนิธิฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญในสิ่งที่ตนเองทำอยู่ว่าเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ
“การได้รับพระราชทานรางวัลนี้จึงเป็นกำลังใจสำคัญต่อการทำงาน ซึ่งยังมีงานที่ต้องทำต่อไปจากการพัฒนายาต้านโปรตีนวีอีจีเอฟใช้ในการรักษาโรคศูนย์กลางจอตาเสื่อมจากอายุ ยังมีสิ่งที่ตรงกันข้ามกันคือศูนย์กลางจอตามีหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ถือเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ต้องเร่งทำการศึกษาค้นคว้าเพื่อหาแนวทางการป้องกันรักษาต่อไป รวมถึงการนำยาต้านโปรตีนวีอีจีเอฟไปใช้รักษาโรคอื่นๆ ได้หรือไม่ ในตอนที่เริ่มต้นทำเรื่องนี้ผมไม่คิดว่าจะเห็นผลสำเร็จเร็วขนาดนี้ จนกระทั่งค้นพบโปรตีนวีอีจีเอฟนำไปสู่การพัฒนายาต้านโปรตีนวีอีจีเอฟ สามารถนำไปใช้ในโรงพยาบาลทั่วโลก ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”
ศ.นพ.แบร์รี่ เอช. รูแมค (Barry H. Rumack,M.D.) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขากุมารเวชศาสตร์และเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 สาขาการสาธารณสุข ผู้ประดิษฐ์เครื่องมือประเมินความเสี่ยงและวินิจฉัยผู้ป่วยภาวะพิษจากยาพาราเซตามอลเฉียบพลันที่เรียกว่า รูแมค-แมทธิว โนโมแกรม (Rumack–Matthew Nomogram) เป็นภาพกราฟแสดงระดับความเข้มข้นของยาพาราเซตามอลในเลือดและระยะเวลาหลังการกินยาเกินขนาด บ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อภาวะเป็นพิษต่อตับในผู้ป่วยแต่ละรายเครื่องมือนี้ช่วยให้แพทย์ทั่วโลกวินิจฉัยและรักษาภาวะพิษจากพาราเซตามอลเกินขนาดแบบเฉียบพลันได้อย่างเหมาะสม กลายเป็นมาตรฐานสากลในการรักษาภาวะพิษจากพาราเซตามอล การประยุกต์ใช้เครื่องมือนี้ร่วมกับประสิทธิภาพของยา เอ็น-อะซิติลซิสเตอีน(N-acetylcysteine) ช่วยลดภาวะตับอักเสบชนิดรุนแรงจากพาราเซตามอลลงอย่างมาก และแนวทางการรักษานี้ยังคงใช้ในห้องฉุกเฉินทั่วโลกในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเป็นผู้พัฒนาและบุกเบิกการใช้ Poisindex ซึ่งเป็นฐานข้อมูลดิจิทัลทางด้านพิษวิทยาคลินิก และเป็นฐานข้อมูลมาตรฐานที่ใช้อ้างอิงในการรักษาผู้ป่วยด้วยข้อมูลที่แม่นยำและทันสมัยในโรงพยาบาลและศูนย์พิษวิทยาทั่วโลกอีกด้วย
ศ.นพ.แบร์รี่ เอช. รูแมค เผยความรู้สึกว่ารู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างมากไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้รางวัลนี้ เพราะเป็นรางวัลที่ไม่ได้มีการส่งผลงานเข้าประกวดแต่อย่างใด จนมีเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยโคโรลาโดเข้ามาแสดงความยินดีกับตนเอง จึงดีใจอย่างมาก
“จุดเริ่มต้นของการศึกษาวิจัยด้านพิษวิทยา การได้มาเป็นผู้อำนวยการสถาบันพิษวิทยา สนใจเรื่องการใช้ยาพาราเซตมอล ซึ่งคนทั่วไปใช้กันแพร่หลาย จึงได้ทำการศึกษาค้นคว้าและคิดค้นเครื่องมือที่เรียกว่า รูแมค-แมทธิวโนโมแกรม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้แพทย์สามารถดูได้ว่าคนไข้ได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาดหรือไม่ ก่อให้เกิดพิษในร่างกายมากน้อยแค่ไหนเพื่อที่จะได้รักษาอย่างถูกต้อง สิ่งที่จะทำต่อไปจากนี้คือการศึกษาเรื่องของประชากรที่ขาดสารอาหารซึ่งมีมากมายทั่วโลก ด้วยการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยประเมินภาวะขาดสารอาหารที่จะช่วยการรักษาเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น”
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 ทั้งสองท่าน ยังได้ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จด้านการวิจัยอีกด้วยว่า ขอให้ผู้ที่ต้องการทำงานวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ต้องทำในสิ่งที่ตนเองมีความสนใจอย่างจริงจัง ด้วยความเพียร ความอุตสาหะ เพราะการทำงานวิจัยอาจจะไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง ต้องมีวันที่เราพบเจอกับอุปสรรคความล้มเหลว ความรักในสิ่งที่ทำ ทำด้วยความเพียรพยายามเท่านั้น จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จสิ่งสำคัญคือความสำเร็จนั้นนำมาซึ่งประโยชน์ต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัลและด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี