เมื่อกล่าวถึงการตั้งครรภ์แล้ว ในหลายครั้งเราจะนึกถึงการเตรียมความพร้อมของฝ่ายหญิงสำหรับการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการปรับรูปแบบทางโภชนาการ การรับประทานวิตามินเสริมบางประเภท หรือการหลีกเลี่ยงยาบางชนิดตั้งแต่ก่อนเริ่มตั้งครรภ์ แต่แท้ที่จริงแล้ว การเตรียมความพร้อมของฝ่ายชายก็มีบทบาทที่สำคัญต่อความสำเร็จในการ
ตั้งครรภ์เช่นกัน บทความนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภญ.ศยามล สุขขา ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำว่าที่คุณพ่อ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นคำแนะนำเพื่อส่งเสริมการตั้งครรภ์เท่านั้น แต่สามารถนำไปปรับและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีได้อีกด้วย
ปัจจัยในเพศชายที่เป็นสาเหตุของภาวะการมีบุตรยาก
ปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะการมีบุตรยาก จากสภาวะเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ที่อาจทำให้ความพร้อมของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตรนั้นอยู่ในช่วงอายุที่มากขึ้น ใน
เพศหญิงเมื่อมีอายุที่มากขึ้นย่อมส่งผลต่อจำนวนและคุณภาพของไข่ที่จะปฏิสนธิ และส่งผลต่อการมีบุตรยากได้ ในส่วนของเพศชายนั้นก็พบรายงานปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะการมีบุตรยากเช่นกัน ดังนี้
• สภาะวะทางจิตใจ จากการศึกษาพบว่าสภาวะทางอารมณ์ หรือภาวะเครียดส่งผลต่อระบบการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนในระบบสืบพันธุ์ ลดการสร้างฮอร์โมนสเตียรอยด์ และการสร้างอสุจิ อีกทั้งภาวะเครียดยังทำให้ไวต่อการติดเชื้อ กระบวนการอักเสบ และการสร้างสารอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถทำลายอสุจิได้
• กลุ่มโรคทางกายบางชนิดจะมีผลต่อคุณภาพของอสุจิ เช่น ภาวะอ้วน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เบาหวาน มีการรายงานว่าผู้ชายที่เป็นเบาหวานและควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดีจะมีปัญหาของอสุจิในด้านการเคลื่อนไหว ความข้นและจำนวนที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี และในผู้ที่เป็นเบาหวานยังพบการรายงานการหย่อนสมรรถภาพทางเพศอีกด้วย
• ยาที่ได้รับจากแพทย์ ยาที่ซื้อมารับประทานเอง รวมถึงสมุนไพร และอาหารเสริม โดยกลุ่มยาที่มีรายงานสัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยากได้แก่ ยาฮอร์โมน (exogenous testosterone ซึ่งจะมีผลลดการสร้างอสุจิ, androgen supplement ซึ่งมีผลในการกดวงจรของ HPG axis ที่ส่งผลต่อฮอร์โมนในระบบสืบพันธุ์) ยาลดความดัน (alpha-blockers สัมพันธ์กับภาวะการหลั่งของน้ำอสุจิไหลย้อนกลับ, spironolactone ซึ่งสัมพันธ์กับการยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชาย androgen) ยาฆ่าเชื้อ (erythromycin, neomycin, tetracycline, nitrofurantoin, gentamicin มีผลทำให้การสร้างอสุจิบกพร่อง) ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบจิตและประสาท (SSRIs, monoamine oxidase inhibitors, lithium, phenothiazines ซึ่งส่งผลลดความต้องการทางเพศ) ยาเคมีบำบัด มีผลต่อการสร้างอสุจิที่บกพร่อง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่ได้รับยาดังกล่าวในการรักษาโรคประจำตัว และมีการวางแผนมีบุตรควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาปรับยา หรือให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีบุตร และยังคงควบคุมอาการของโรคได้ดี
• สารเสพติดจำพวกโคเคน มารีฮัวน่า การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ จะส่งผลโดยตรงต่อการสร้างอสุจิ และส่งผลต่อการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้
• ความผิดปกติของผลตรวจทางห้องปฏิบัติการบางชนิด อาจส่งผลต่อการมีบุตรยากได้ ดังนั้น จึงแนะนำให้เพศชายทำการตรวจผลทางห้องปฏิบัติการตามคำแนะนำในแต่ละช่วงอายุอย่างสม่ำเสมอ เช่น การตรวจไขมันเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี หรือทำการตรวจเร็วขึ้น (อายุ 20-35 ปี) หากมีภาวะเบาหวาน มีประวัติของบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือมีความเสี่ยงหลายด้านต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนั้น แพทย์อาจพิจารณาสั่งตรวจผลทางห้องปฏิบัติการที่สัมพันธ์กับอาการ/อาการแสดงของโรคที่สัมพันธ์กับภาวะการมีบุตรยากเพิ่มเติม เช่น การตรวจฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อค้นหาภาวะไทรอยด์ต่ำ หรือมากเกินไป การตรวจการทำงานของต่อมหมวกไต เพื่อค้นหาภาวะ Addison หรือ Cushing syndrome การตรวจเอนไซม์แสดงการทำงานของตับ หากตรวจร่างกายและเจอตับโต หรือการตรวจระดับฮอร์โมนที่สัมพันธ์ต่อระบบสืบพันธุ์ ได้แก่ เทสโทสเตอโรน เอสโตรเจน เอฟเอสเอช(follicle stimulating hormone, FSH) เอลเอช (luteinizing hormone, LH)
การเสริมสร้างสุขภาพในเพศชายเพื่อส่งเสริมโอกาสการมีบุตร
สำหรับการเสริมสร้างสุขภาพในเพศชายนี้มีความสำคัญและเป็นสิ่งที่ควรกระทำไม่ว่าจะมีการวางแผนตั้งครรภ์หรือไม่ ตัวอย่างคำแนะนำด้านล่างนี้เกี่ยวข้องกับการดูแลทางโภชนาการ การส่งเสริมการออกกำลังกาย การป้องกันโรค และความเครียด รวมถึงการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาวะที่ดีได้
• การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จากข้อมูลพบว่าหากมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 9 กิโลกรัม จะสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีบุตรยากได้ร้อยละ 10 ซึ่งผู้ที่มีภาวะอ้วน (BMI > 25 กิโลกรัม/ตารางเมตร) ควรได้รับคำแนะนำในการลดน้ำหนักที่ถูกวิธีเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี เช่น การส่งปรึกษากับนักโภชนาการ การเข้าโปรแกรมการควบคุมน้ำหนัก และส่งเสริมการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (อย่างน้อยวันละ 30 นาที)
• การควบคุมอารมณ์ การทำจิตใจให้สบายเพื่อลดความเครียด การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ และรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการอย่างเหมาะสม
• หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติด รวมถึงการหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ปนเปื้อนโลหะหนัก หรือมีการสวมใส่เครื่องแบบ/สวมใส่ถุงมือที่มีการป้องกันอย่างเหมาะสมเมื่อต้องสัมผัสกับสารรังสี หรือการทำ x-ray
• รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ และอาหารที่ช่วยบำรุงอสุจิ ได้แก่ ไข่ ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วปากอ้า ถั่วพู วอลนัท ซึ่งมีปริมาณโปรตีน วิตามิน ธาตุเหล็ก ที่ส่งเสริมสมรรถภาพทางเพศได้ดี และรักษาระดับฮอร์โมนเพศชาย เพิ่มความแข็งแรง และปริมาณของอสุจิ
• การรับประทานกรดโฟลิก และแร่ธาตุสังกะสีเสริม เนื่องจากมีรายงานพบว่าการเสริมด้วยสารดังกล่าวซึ่งมีฤทธิ์ในการต่อต้านสารอนุมูลอิสระ มีความสัมพันธ์ต่อการสร้างอสุจิเพิ่มขึ้น ซึ่งจากคำแนะนำปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ.2563 สำหรับปริมาณกรดโฟลิกที่ควรได้รับในแต่ละวันสำหรับเพศชาย อายุ 19-70 ปี คือ 0.3 มิลลิกรัม/วัน และแร่ธาตุสังกะสีในเพศชาย อายุ 19-30 ปี คือ 11.6 มิลลิกรัม/วัน และเพศชายอายุ 31-70 ปี คือ 10.9 มิลลิกรัม/วัน
คำแนะนำข้างต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสุขภาพสำหรับว่าที่คุณพ่อ เพื่อให้มีโอกาสในการมีบุตรที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การวางแผนครอบครัวด้วยความรัก และความเข้าใจล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการส่งเสริมการมีบุตร คู่สมรสที่ต้องการมีบุตรควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ต่อไป หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/service.php
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี