ชุมชนระยะแรกของเมืองอู่ทอง
การแบ่งปันความรู้สู่ชุมชนนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญของการเรียนรู้จากหลักฐานทาง โบราณคดี อาทิตย์นี้ ขอตามกรมศิลปากร ไปเมืองอู่ทอง ในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นเมืองโบราณในสุวรรณภูมิที่น่าสนใจ ด้วยเป็นต้นทางของประวัติศาสตร์ไทย ที่คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ถ่ายทอดให้เห็นว่า อู่ทองนั้นเป็นชุมชนมาก่อนแล้ว 2,000 ปี นับว่าเก่าที่สุดในภาคกลาง แล้วขยายตัวเป็นสุวรรณภูมิ สยาม ที่ร่วมกับอโยธยา เมืองละโว้ ตั้งกรุงศรีอยุธยา แล้วสืบต่อเป็นกรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ และจากวรรณคดีขุนช้างขุนแผนทำให้ตามหาเส้นทางชุมชนสำคัญในอดีตได้เป็นอย่างดี
เมืองอู่ทองนั้นตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจระเข้สามพัน มีลักษณะเป็นรูปวงรีขนาด 1,850x820 เมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ทิศตะวันตกนั้นมีเขา รางกะปิด เขาคำเทียมและเขาพระ ทิศตะวันออกเป็นที่ราบกักเก็บน้ำ นอกเมืองมีแนวคันดินเป็นถนนโบราณเรียกว่า “ถนนท้าวอู่ทอง” และมีแนวคันดินรูปเกือกม้าเรียกว่า “คอกช้างดิน” หรือสระเก็บน้ำในศาสนาพราหมณ์ เมืองโบราณอู่ทองนั้นพบหลักฐานคือเครื่องมือหินขัด ภาชนะดินเผา แวปั่นด้ายดินเผาเป็นต้นที่ทำให้รู้ว่าเป็นชุมชนตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ตอนปลาย 2,500-2,000 ปีมาแล้ว
พระพุทธรูปพบที่เมืองอู่ทอง
ต่อมาชุมชนนี้ได้พัฒนาตนเองไปสู่สังคมเมืองสมัยประวัติศาสตร์ในราวพุทธศตวรรษที่ 5-9 ซึ่งมีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ เช่น เวียดนาม จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป จนเป็นศูนย์กลางทางการค้าและเมืองท่าร่วมสมัยกับเมืองออกแก้ว เมื่อท่าตอนใต้ของเวียดนาม เพราะพบลูกปัดแก้ว เหรียญกษาปณ์ เหรียญโรมันสมัยจักรพรรดิวิกโตรีนุส แบบเดียวกัน
เมืองอู่ทองแห่งนี้ได้รับเอาพุทธศาสนาและศิลปกรรมแบบอมราวดีจากอินเดีย โดยพบปฏิมากรรมดินเผารูปพระสงฆ์ 3 รูปอุ้มบาตร และพระพุทธรูปปั้นนาคปรกศิลปะแบบอมราวดี เป็นต้น ศาสตราจารย์ชอง บวสลีเย เชื่อว่าเมืองอู่ทองนั้น น่าจะเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรสุวรรณภูมิที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระสมณทูตเข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาเมื่อ พ.ศ.270-311 นายพอล วิตลีย์ เชื่อว่า เมืองจินหลินนั้นตั้งอยู่เมืองอู่ทอง และเป็นรัฐสุดท้ายที่พระเจ้าฟันมันแห่งอาณาจักรฟูนันได้เข้ามามีอำนาจในพุทธศตวรรษที่ 9
พระพุทธรูปสลักศิลาพบที่เขาพระ
ต่อมาเมื่ออาณาจักรฟูนันเสื่อมอำนาจลงในปลายพุทธศตวรรษที่ 11 อาณาจักรทวาราวดีจึงเจริญเติบโตขึ้นมาในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างจน รุ่งเรืองสูงสุด โดยมีบันทึกของพระภิกษุเหี้ยนจังได้กล่าวถึงอาณาจักรโตโลโปตี้ คือ “ทวารวดี” และยังได้พบเหรียญเงินจารึกว่า “ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺยะ” เป็นการยืนยันการมีตัวตนของอาณาจักรทวารวดี ที่มีเมืองอู่ทองเป็นเมืองหลวงและเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์
ด้วยเหตุนี้เมืองอู่ทองจึงมีวัฒนธรรมทวารวดี พุทธศาสนานิกายเถรวาท ภาษามอญ นิยมในคติทางศาสนารูปแบบศิลปะคุปตะจาก อินเดีย ซึ่งมีโบราณวัตถุ สถานพบในเมืองอู่ทองล้วนเป็นศิลปกรรมของทวารวดี เช่น เศียรพระพุทธรูปทองคำ เจดีย์ พระพุทธรูปปางประทานและธรรมจักร ในขณะเดียวกันนั้นศิลปะศรีวิชัยซึ่งนับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายานก็ได้เผยแพร่เข้ามาในเมืองนี้ด้วย ได้พบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและพระโพธิสัตว์ปัทมปาณีสุดท้ายเมื่อเมืองอู่ทองหมดความสำคัญและร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 16
รูปปั้้นผู้คนเมืองอู่ทอง
และต่อมาอิทธิพลเขมรที่เข้ามามีอำนาจมากในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงปรากฏเมืองโบราณสุพรรณบุรีขึ้นมาแทนที่เมืองอู่ทอง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดิน แบ่งหัวเมืองต่างๆ ออกเป็นมณฑล เมือง อำเภอ และตำบล อำเภออู่ทองจึงกลับมาในชื่ออำเภอจรเข้สามพัน เมื่อ พ.ศ.2448 ต่อมาทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าท้องที่อำเภอจรเข้สามพัน นั้นเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ ที่เรียกว่า “เมืองท้าวอู่ทอง” จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอ จากหมู่บ้านจรเข้สามพัน มาตั้ง ณ บริเวณเมืองโบราณท้าวอู่ทอง และให้เปลี่ยนชื่ออำเภอจรเข้สามพันเป็น อำเภออู่ทอง เพื่อให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2482
ปัจจุบันเมืองอู่ทองได้พัฒนาเป็นพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (สพพ.7) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เพื่อทำให้เมืองโบราณอู่ทองเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโดยรวมไปบริเวณเขาที่ มี วัดเขาถ้ำเสือ วัดเขาทำเทียม วัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม (วัดเขาพระ) วัดเขากำแพง และวัดเขาดีสลัก อันเป็นวัดในขุนเขาบุษยคีรีคือขุนเขาแห่งดอกไม้ ที่มีโบราณสถานสำคัญ แหล่งพระถ้ำเสือ และลูกปัดอู่ทอง อันเป็นหลักฐานแสดงถึงการเป็นศูนย์อำนาจในอดีตและศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่ที่อยู่ริมทะเลอ่าวไทยมาก่อน
เครื่องประดับทำด้วยทองคำ
ธรรมจักรสมบูรณ์ที่สุดพบที่อู่ทอง
เหรียญซีซาร์ วิคโตรินุช จากโรมัน
เหรียญเงินจารึกศรีทวารวดี
จารึกปัลลวะคำว่าบุษยคีรี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี