เป็นโรคหัวใจจะต้องเตรียมตัวอย่างไร...ถ้าต้องไปพบทันตแพทย์
ผู้ป่วยโรคหัวใจหลายคนก็คงเหมือนกับบุคคลทั่วไปที่อาจมีความจำเป็นต้องไปพบทันตแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาทางด้านทันตกรรม เช่นถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน เป็นต้น คำถามที่พบบ่อยของผู้ป่วยโรคหัวใจเมื่อเตรียมตัวจะไปพบทันตแพทย์ ได้แก่
1.จำเป็นต้องหยุดยาที่รับประทานเป็นประจำหรือไม่
2.จำเป็นต้องรับประทานยาป้องกันการติดเชื้อ ก่อนการรักษาทางทันตกรรมหรือไม่
1.จำเป็นต้องหยุดยาที่รับประทานเป็นประจำหรือไม่
ความกังวลเกี่ยวกับการหยุดยารักษาโรคหัวใจก่อนการตรวจรักษาทางทันตกรรมหรือไม่ เกิดจากการกลัวเลือดออก หรือภาวะเลือดหยุดยาก เนื่องจากการตรวจรักษาทางทันตกรรมบางประเภททำให้มีเลือดออก เช่น การถอนฟัน เป็นต้น ตัวอย่างยารักษาโรคหัวใจที่ใช้กันบ่อย และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออก ได้แก่
-ยาแอสไพริน (aspirin) หรือยาต้านเกล็ดเลือดอื่น ๆ
-ยาวาร์ฟาร์ริน (warfarin) หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ ๆ
การพิจารณาว่าจะหยุดยาดังกล่าวข้างต้นก่อนตรวจรักษาทางทันตกรรมหรือไม่ ขึ้นกับ 2 ประเด็น คือ
1.ชนิดของการตรวจรักษาทางทันตกรรม ว่าเป็นหัตถการที่มีเลือดออกหรือการควบคุมให้เลือดหยุดทำได้ยากหรือไม่ เช่น การถอนฟัน การผ่าฟันคุด เป็นต้น โดยผู้ป่วยควรจะแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบว่ารับประทานยาประจำอะไรบ้าง เพื่อเป็นประโยชน์ในการ
วางแผนการรักษา
2.ชนิดของโรคหัวใจในผู้ป่วยรายนั้น ว่าสามารถหยุดยาได้เลยหรือไม่หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่นในช่วงสั้นๆ ก่อนการรักษาทางทันตกรรมซึ่งควรจะปรึกษาแพทย์โรคหัวใจประจำตัวผู้ป่วย
ตัวอย่างผู้ป่วยที่พบบ่อยในคำถามที่ 1
-ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงโคโรนารีตีบ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มักจะได้รับยาแอสไพรินไม่ว่าจะเคยหรือไม่เคยได้รับการผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือการทำหัตถการถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจผ่านสายสวนและบอลลูนมาก่อน ถ้ามีอาการปกติคงที่ และถ้าเคยทำบอลลูนหลอดเลือดหัวใจเกินระยะเวลา 1 ปีมาแล้ว ให้ปรึกษาทันตแพทย์ว่าหัตถการที่จะทำมีความจำเป็นต้องหยุดยาต้านเกล็ดเลือดหรือไม่ ถ้าจำเป็นก็ให้หยุดยาต้านเกล็ดเลือดก่อนประมาณ 7 วัน และให้รับประทานต่อหลังทำหัตถการทางทันตกรรมถ้าไม่มีปัญหาเลือดออก หรือเลือดหยุดยาก
-ผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดไม่ว่าด้วยข้อบ่งชี้ใด ให้ปรึกษาทันตแพทย์ก่อนว่าจำเป็นต้องหยุดยาหรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องหยุดยาให้กลับมาพบแพทย์โรคหัวใจ เพื่อวางแผนการหยุดยา
2.จำเป็นต้องรับประทานยาป้องกันการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ก่อนการรักษาทางทันตกรรมหรือไม่
ความกังวลอีกอย่างของผู้ป่วยโรคหัวใจบางราย คือความเสี่ยงของการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ เนื่องจากในบางครั้งการตรวจรักษาทางทันตกรรมอาจทำให้มีเชื้อโรคหลุดเข้าสู่กระแสเลือดได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และถ้าผู้ป่วยมีความผิดปกติที่หัวใจบางประเภท เช่น โรคลิ้นหัวใจเทียม เป็นต้น อาจทำให้เชื้อโรคเข้าไปเกาะที่เยื่อบุหัวใจหรือหลอดเลือด เช่น ที่ลิ้นหัวใจ เป็นต้น ส่งผลให้มีการติดเชื้อและทำลายลิ้นหัวใจได้
การจะให้ผู้ป่วยรับประทานยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจหรือไม่ ให้พิจารณา 2 ประเด็นร่วมกัน ดังนี้
1.ชนิดของหัตถการทางทันตกรรม
2.ชนิดของโรคหัวใจ โดยให้พิจารณาให้ยาป้องกันการติดเชื้อในผู้ป่วยมีความผิดปกติที่หัวใจบางประเภท ตัวอย่างเช่น
-ผู้ป่วยที่มีลิ้นหัวใจเทียม หรืออุปกรณ์แปลกปลอมที่ใช้ในการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ
-ผู้ป่วยที่เคยมีการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจมาก่อน
-ผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดแบบเขียวที่ยังไม่ได้รับการผ่าตัดแก้ไข
-ผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดแบบซับซ้อนที่ได้รับการผ่าตัดแก้ไขโดยใช้ท่อหลอดเลือดเทียม เป็นต้น
โดยสรุป ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาทางด้านทันตกรรม ให้ปรึกษาทันตแพทย์ และแพทย์โรคหัวใจ เพื่อการเตรียมตัวและวางแผนที่เหมาะสมก่อนเข้ารับการรักษาทางด้านทันตกรรม
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนิธิมา รัตนสิทธิ์
สาขาหทัยวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี