มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศร่วมแถลงผลการตัดสิน ผู้ได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566
13 มีนาคม 2567 ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และรองประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ กรรมการประชาสัมพันธ์มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ นายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และ Dr. Bill Davis, Representative of American ambassador to Thailand ได้ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทาน“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 3 สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ “Princess Chulabhorn Award” เป็นรางวัลที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในโอกาสทรงเจริญพระชันษา 65 ปี วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อการป้องกัน ควบคุมโรคมะเร็ง และดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้ว ยังได้ทรงตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เพื่อให้บริการสำหรับผู้ป่วยมะเร็งขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยเปิดบริการแก่ประชาชนทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552 มาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยมีความเจริญก้าวหน้า มีชื่อเสียงเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงเห็นควรเสนอจัดให้มีรางวัลระดับนานาชาติขึ้น เพื่อพิจารณาให้แก่ผู้มีผลงานดีเด่น เป็นที่ประจักษ์ด้านการป้องกัน ควบคุม และ/หรือดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง เกิดผลดีต่อมนุษยชาติ มีการกำหนด ขอบเขตของรางวัล ขั้นตอน วิธีการ แนวปฏิบัติ และสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้เห็นชอบให้จัดตั้งมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เพื่อให้รางวัลนานาชาติ Princess Chulabhorn Award สามารถดำเนินการได้อย่างถาวรและเป็นระบบในระยะยาว
สำหรับ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์อาแบส อะลาวี (Abass Alavi, MD, MD(Hon), PHD(Hon), DSc(Hon)) ศาสตราจารย์ สาขาวิชารังสีวิทยา โรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย รองผู้อำนวยการสาขาวิชา ผู้สูงอายุ คณะแพทย์ศาสตร์พีเรลแมน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา โดย ศาสตราจารย์
ดร.นายแพทย์อาแบส อะลาวี และทีมงานได้คิดค้นแนวคิดในการติดฉลาก deoxyglucose ด้วยฟลูออไรด์ที่เปล่งโพซิตรอน (18F) นำไปสู่การพัฒนา fludeoxyglucose (FDG) ซึ่งเป็นสารเภสัชรังสีแรกที่ได้รับการอนุมัติทางคลินิกในการถ่ายภาพ PET และเป็นสารเภสัชรังสีที่ยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อาแบส อะลาวี เป็นคนแรกที่นำ 18 F-FDG มาใช้ในมนุษย์ตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1976 และทำการถ่ายภาพสมองโดยใช้เครื่องตรวจเอกซเรย์ปล่อยโฟตอนเดี่ยวหรือ single-photon emission tomography (SPET) ที่ผลิตเอง นอกจากนี้ เขายังทำงานเกี่ยวกับการสร้างภาพของร่างกายมนุษย์ทั้งหมดผ่านเครื่องมือ rectilinear ทีมของเขาเป็นผู้บุกเบิกการใช้ 18 F-FDG ในการถ่ายภาพสมองปกติและความผิดปกติของสมอง และยังได้แนะนำการใช้ 18 F-FDG สำหรับการถ่ายภาพเพทสแกนในมะเร็ง การติดเชื้อ การอักเสบ หลอดเลือดแข็งตัว การตรวจจับก้อน และความผิดปกติของกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ การถ่ายภาพด้วยเพทสแกนได้กลายเป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยที่สำคัญสำหรับโรคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งและความผิดปกติของระบบประสาท งานของเขาได้นำไปสู่การพัฒนาไอโซโทปรังสีที่ปลอดภัยสำหรับการถ่ายภาพ PET และการพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่นำเราได้พัฒนาจากการสแกน PET-planar มาสู่ PET-CT และ PET-MRI ในปัจจุบัน ปัจจุบัน ศาสตราจารย์ นายแพทย์อาแบส อะลาวี ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาวิจัย ภาควิชารังสีวิทยา และรองผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา การวิจัยของเขาเกี่ยวกับ PET ยังคงดำเนินต่อไปเพราะเขามุ่งมั่นที่จะค้นหาและพัฒนาวิธีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการใช้ PET ในการดูแลสุขภาพของคนทั่วโลก ด้วยผลงานตีพิมพ์กว่า 1,500 ฉบับ และการอ้างอิงมากกว่า 75,000 ครั้ง จนได้รับการยกย่องว่าเป็น "บิดาแห่งเวชศาสตร์นิวเคลียร์"
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี