มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี แถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทาน“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 รางวัลที่ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี องค์ประธานมูลนิธิฯ มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ปฏิบัติงาน และ/หรือวิจัย มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ในการควบคุม รักษาและการดูแลโรคมะเร็ง อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์อาแบสอะลาวี (Abass Alavi, MD, MD(Hon), PHD(Hon), DSc(Hon)) ศาสตราจารย์ สาขาวิชารังสีวิทยา โรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียรองผู้อำนวยการสาขาวิชา ผู้สูงอายุคณะแพทยศาสตร์พีเรลแมน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และรองประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ รองศาสตราจารย์ดร.ทัศนา บุญทอง กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ กรรมการประชาสัมพันธ์มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯนายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และ Dr. Bill Davis, Representative of American ambassador to Thailand ได้ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 3 สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ เป็นประธานการแถลงผลการตัดสิน
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ “Princess Chulabhorn Award” เป็นรางวัลที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีองค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในโอกาสทรงเจริญพระชันษา 65 ปี วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อการป้องกัน ควบคุมโรคมะเร็ง และดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้ว ยังได้ทรงตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เพื่อให้บริการสำหรับผู้ป่วยมะเร็งขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยเปิดบริการแก่ประชาชนทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552 มาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยมีความเจริญก้าวหน้า มีชื่อเสียงเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงเห็นควรเสนอจัดให้มีรางวัลระดับนานาชาติขึ้น เพื่อพิจารณาให้แก่ผู้มีผลงานดีเด่น เป็นที่ประจักษ์ด้านการป้องกัน ควบคุม และ/หรือดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง เกิดผลดีต่อมนุษยชาติ มีการกำหนด ขอบเขตของรางวัล ขั้นตอน วิธีการ แนวปฏิบัติ และสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้เห็นชอบให้จัดตั้งมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เพื่อให้รางวัลนานาชาติ Princess Chulabhorn Award สามารถดำเนินการได้อย่างถาวรและเป็นระบบในระยะยาว
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ “Princess Chulabhorn Award” เป็นรางวัลที่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีกรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีทรงเป็นประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ปฏิบัติงาน และ/หรือวิจัย มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ในการควบคุม รักษาและการดูแลโรคมะเร็งอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ ซึ่งมีกำหนดการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีจำนวนผู้ได้รับรางวัลในแต่ละปี จำนวน 1 รางวัล และผู้ได้รับรางวัลจะได้รับโล่รางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัลจำนวน 50,000 เหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ประจำปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 15 คน จาก 8 ประเทศ โดยผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ 3 คณะ อันได้แก่ 1.Scientific Advisory Committee กรรมการสรรหาผู้มีผลงานและมีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อเสนอเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกเป็นผู้รับรางวัล รวมทั้งการกลั่นกรองผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับการพิจารณาคัดเลือกเป็นผู้รับรางวัล 2.International AwardCommittee กรรมการนานาชาติ พิจารณาคัดเลือกผู้ได้รับการเสนอชื่อ (Nominee) เป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด จำนวนไม่เกิน 2 คน เป็นผู้สมควรได้รับการพิจารณารับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์จากนั้นนำเสนอต่อคณะกรรมการลำดับที่ 3 Board of Trustees for the Princess Chulabhorn Award Foundation กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ซึ่งทำหน้าที่ในการพิจารณาตัดสิน ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดเป็นผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์
สำหรับ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์อาแบส อะลาวี (Abass Alavi, MD, MD(Hon), PHD(Hon), DSc(Hon) ศาสตราจารย์ สาขาวิชารังสีวิทยา โรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย รองผู้อำนวยการสาขาวิชา ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์พีเรลแมน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสหรัฐอเมริกา โดย ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์อาแบส อะลาวี และทีมงานได้คิดค้นแนวคิดในการติดฉลาก deoxyglucoseด้วยฟลูออไรด์ที่เปล่งโพซิตรอน (18F) นำไปสู่การพัฒนา fludeoxyglucose (FDG) ซึ่งเป็นสารเภสัชรังสีแรกที่ได้รับการอนุมัติทางคลินิกในการถ่ายภาพ PET และเป็นสารเภสัชรังสีที่ยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์อาแบส อะลาวี เป็นคนแรกที่นำ 18 F-FDGมาใช้ในมนุษย์ตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1976และทำการถ่ายภาพสมองโดยใช้เครื่องตรวจเอกซเรย์ปล่อยโฟตอนเดี่ยวหรือ single-photon emission tomography (SPET) ที่ผลิตเอง นอกจากนี้ เขายังทำงานเกี่ยวกับการสร้างภาพของร่างกายมนุษย์ทั้งหมดผ่านเครื่องมือ rectilinear ทีมของเขาเป็นผู้บุกเบิกการใช้ 18 F-FDG ในการถ่ายภาพสมองปกติและความผิดปกติของสมอง และยังได้แนะนำการใช้ 18 F-FDG สำหรับการถ่ายภาพเพทสแกนในมะเร็ง การติดเชื้อ การอักเสบ หลอดเลือดแข็งตัว การตรวจจับก้อน และความผิดปกติของกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ การถ่ายภาพด้วยเพทสแกนได้กลายเป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยที่สำคัญสำหรับโรคต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งและความผิดปกติของระบบประสาท งานของเขาได้นำไปสู่การพัฒนาไอโซโทปรังสีที่ปลอดภัยสำหรับการถ่ายภาพ PET และการพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่นำเราได้พัฒนาจากการสแกน PET-planar มาสู่ PET-CT และ PET-MRI ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน ศาสตราจารย์ นายแพทย์อาแบส อะลาวี ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาวิจัย ภาควิชารังสีวิทยา และรองผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา การวิจัยของเขาเกี่ยวกับ PET ยังคงดำเนินต่อไปเพราะเขามุ่งมั่นที่จะค้นหาและพัฒนาวิธีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการใช้ PET ในการดูแลสุขภาพของคนทั่วโลก ด้วยผลงานตีพิมพ์กว่า 1,500 ฉบับ และการอ้างอิงมากกว่า 75,000 ครั้ง จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งเวชศาสตร์นิวเคลียร์”
ในส่วนกำหนดการพิธีพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์” ครั้งที่ 1 จะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2567 ซึ่งตรงกับเดือนประสูติ ของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยพระราชทานพระวโรกาสให้ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์อาแบสอะลาวี จากประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าเฝ้าฯรับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ “Princess Chulabhorn Award” ประจำปี 2566 ในวันอาทิตย์ที่14 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร และจะเสด็จพระดำเนินไปในงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ อาแบส อะลาวี และเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้แก่คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ
พร้อมกันนี้ จะมีการจัดประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 1 ขึ้นภายใต้แนวคิด Thailand against cancer as one ประเทศไทยรวมใจต้านภัยมะเร็ง ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ อาแบส อะลาวี จะแสดงปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับผลงานด้านมะเร็งในหัวข้อ Molecular and Nuclear Imaging in Cancer Care สำหรับการจัดประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพที่สำคัญในด้านการป้องกัน ควบคุม และการดูแลรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทย จากหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติในการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการ ได้แก่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาการด้านมะเร็งวิทยาทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ และร่วมกันเผยแพร่นิทรรศการผลงานวิชาการยุทธการต้านมะเร็งในประเทศไทยทั้งในด้านการป้องกัน ควบคุม การศึกษาวิจัยเรื่องโรคมะเร็งที่ต่อยอดสู่การพัฒนานวัตกรรม การนำเทคโนโลยีทางการแพทย์มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ ตลอดจนร่วมกันส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวทันความรู้ทางการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้า ลดวิกฤตปิดช่องว่างให้คนไทยสามารถเข้าถึงการป้องกันดูแลและรักษาโรคมะเร็งที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมตามพระปณิธาน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี