พระราชวังเดิม
ก่อนมีการสถาปนาพระนครใหม่และตั้งหลักเมืองกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อวันที่ ๒๑เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ นั้น พระราชวังเดิมหรือกรุงธนบุรี ซึ่งเป็นราชธานีสืบสมัยต่อจากกรุงศรีอยุธยา โดย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้สร้างพระนครขึ้นใหม่จากพื้นที่ด่านขนอนเก็บภาษีคือ เมืองธณบุรี หรือ เมืองธนบุรีศรีสมุทรให้เป็นพระนครขนาดเล็กตั้งอยู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ปัจจุบันคือกองบัญชาการกองทัพเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งในอดีตนั้นเมืองธนบุรีศรีสมุทรเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ด้วยเหตุที่เป็นตำแหน่งสำคัญทางยุทธศาสตร์ ที่สามารถสังเกตการณ์ทางแม่น้ำเจ้าพระยาได้ในระยะไกล อีกทั้งเป็นเส้นทางคมนาคม และเส้นทางการเดินทัพทางน้ำและทางบกที่สำคัญ
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงทรงโปรดฯให้ใช้พื้นที่ของเมืองธนบุรีสร้างพระนครขึ้นในปีประมาณธันวาคม-มกราคม พ.ศ.๒๓๑๐ หลังจากที่ได้กอบกู้เอกราชรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อใช้เป็นที่ประทับและว่าราชการงานรวมแผ่นดิน การสถาปนากรุงธนบุรีในครั้งนั้น ได้ปรับปรุงป้อมวิไชยเยนทร์ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ พร้อมกับขยายบริเวณให้เป็นกรุงธนบุรี สร้างพระราชวังเดิมและพระตำหนัก เรือนขุนนาง โรงช้าง มีอาณาเขต ตั้งแต่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ขึ้นมาจนถึงคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม (คลองนครบาล) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ได้ทรงย้ายราชธานีมาสร้างพระนครใหม่อยู่ฝั่งบางกอกตะวันออกเป็นพระนครใหม่ โดยสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นเป็นที่ประทับ เมื่อเดือนมิถุนายน พระราชวังของกรุงธนบุรีเรียกชื่อว่า“พระราชวังเดิม” ตั้งแต่นั้นมาและยังใช้พระราชวังเดิมอยู่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงกำหนดเขตวังให้แคบกว่าเดิมโดยให้วัดทั้งสองที่กล่าวแล้วคือ วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) และวัดโมลีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) อยู่ภายนอกพระราชวัง และนอกจากนี้ทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยมาประทับที่นี่ ด้วยเหตุยังมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และทำเลที่ตั้งพระราชวงศ์ที่ประทับอยู่พระราชวังเดิมนั้น ได้แก่สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศรบดินทร์ พระโอรสในกรมพระเทพสุดาวดีประทับอยู่จนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฉิม กรมหลวงอิศรสุนทร(รัชกาลที่ ๒) ประทับจนกระทั่งเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในปี พ.ศ.๒๓๕๒ สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ประทับจนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๕ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ ๔) ประทับอยู่จนทรงผนวชเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๘ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ) ประทับอยู่จนกระทั่งพิธีบวรราชาภิเษกและเสด็จไปประทับที่วังหน้าใน พ.ศ.๒๓๙๔กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญประทับอยู่ตั้งแต่พระประสูติ กระทั่งเสด็จไปประทับที่วังใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระราชทาน พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงศาธิราชสนิทประทับอยู่ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๙๔ จนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมีประทับอยู่ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๔ จนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๓ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๕) ได้พระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานจาก นายพลเรือตรีพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙หลังจากโรงเรียนนายเรือย้ายออกไปอยู่สัตหีบ และย้ายมาอยู่ที่สมุทรปราการ กองทัพเรือจึงได้ใช้พระราชวังเดิมแห่งนี้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือจนวันนี้ พื้นที่ของกรุงธนบุรีที่อยู่โดยรอบพระราชวังเดิมนั้น ปรากฏมีวัดและสถานที่สำคัญสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ได้รับการทำนุบำรุงให้สืบสมัยและศิลปกรรมอยู่หลายแห่ง บางแห่งถูกบุกรุกและทิ้งร้างไปอย่างน่าเสียดาย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี