ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้เตือนประชาชนให้ระวังโรคแบคทีเรียกินเนื้อ หลังจากพบการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มารู้จักโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน ซึ่งอาจอันตรายถึงชีวิตได้
แพทย์หญิงมลเนตร คุณติรานนท์คลินิกผิวหนัง โรงพยาบาลพญาไท 2 ให้ข้อมูลว่า ในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและความชื้น มีส่วนทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรีย Necrotizing Fasciitis หรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน โรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า (Necrotizing Fasciitis) เป็นภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงที่ผิวหนัง กระจายไปยังชั้น subcutaneous tissue ได้แก่ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นไขมันใต้ผิวหนัง เนื้อเยื่อพังผืด รวมถึงกล้ามเนื้อและเส้นประสาท ทำให้เกิดการตายของผิวหนังและเนื้อเยื่อ และอาจลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ รวมถึงเข้ากระแสเลือดจนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
แบคทีเรียเข้าไปกัดกินเนื้อคนได้อย่างไร?
โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน เกิดจากสาเหตุการเดินเท้าเปล่า ลุยโคลน โดนเปลือกหอย หรือเศษไม้ตำเท้า เศษแก้วบาด โดยเชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางผิวหนังหรือกระแสเลือดผ่านทางแผลที่ถูกบาด แผลถลอก รอยข่วน แมลงกัดต่อย บาดแผลไฟไหม้ การใช้เข็มฉีดยา หรือแผลผ่าตัด หากไม่ได้ดูแลรักษาแผลให้ดี อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
อาการของโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน
ผู้ป่วยจะมีอาการร้อนบริเวณผิวหนัง ผิวหนังบริเวณรอบๆ เปลี่ยนเป็นสีแดง เกิดการบวมอย่างรวดเร็ว รู้สึกปวดบาดแผลมากกว่าปกติ โดยอาการปวดไม่สัมพันธ์กับขนาดแผลที่เกิดขึ้นปวดแขน/ขา ตึงบริเวณกล้ามเนื้อ มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีเหงื่อออก อ่อนเพลียเวียนศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ หรือท้องเสีย เป็นต้น เกิดภาวะขาดน้ำ โดยมีอาการ เช่นกระหายน้ำ ปัสสาวะน้อย หากมีไข้สูงมีอาการปวด และกดเจ็บบริเวณแผลมีผื่นพุพอง และผิวหนังบริเวณที่เกิดโรคจะมีม่วงคล้ำ หรือถุงน้ำอย่างรวดเร็ว จะต้องรีบให้การรักษาทันที เพราะอาจทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นนั่นเอง ตำแหน่งของโรคมักเกิดที่ขา เท้าหากลุกลามมากขึ้นจะเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจติดเชื้อในกระแสเลือด หรือไตวายได้
กลุ่มเสี่ยงต่อภาวะโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน
พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ เกษตรกรดำนาไม่สวมใส่รองเท้า มีบาดแผลตามร่างกายและได้รับสิ่งสกปรกเข้าไป
รวมทั้งกลุ่มผู้ที่ใช้ยา Steroid กลุ่มผู้ป่วยโรคผิวหนัง อาจเกิดหลังจากป่วยเป็นโรคไข้สุกใส กลุ่มผู้มีโรคประจำตัวเช่น ติดสุรา ติดยาเสพติด โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง วัณโรค เป็นต้น กลุ่มผู้ที่มีบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ แล้วไม่มีการทำความสะอาดดูแลแผลให้ดี หรือไม่ถูกต้องจนการติดเชื้อลุกลาม
รู้หรือไม่ เชื้อแบคทีเรียที่เข้าไปในร่างกายเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต !!
ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้เส้นประสาท กล้ามเนื้อและหลอดเลือดถูกทำลาย ถึงขั้นตัดอวัยวะทิ้ง หากอวัยวะในร่างกายไม่ตอบสนองก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่รอดชีวิตอาจมีแผลเป็นหรืออาจมีโอกาสพิการแขนขาได้เช่นกัน
หยุดการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ง่ายๆ แค่รักษาให้ตรงจุด
ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยโดยด่วน และทำการรักษาทันที เพื่อตรวจสอบอาการ และผ่าตัดเอาเนื้อที่ติดเชื้อออกให้มากที่สุด เพื่อเอาหนองและตัดเนื้อเยื่อที่ตายออก หากติดเชื้อรุนแรงอาจจำเป็นต้องตัดอวัยวะนั้นออก อีกทั้งผู้ป่วยอาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะหลายชนิดร่วมกันทางหลอดเลือดดำ และยาควบคุมความดันโลหิต รวมทั้งสารภูมิคุ้มกันอิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดดำเพื่อช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อภาวะติดเชื้อ
ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่เสียหายหรือตายออก เพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อ อาจต้องตัดแขนหรือขาหากเชื้อลุกลามขั้นรุนแรง ให้ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ ในกรณีเชื้อลุกลามเข้ากระแสเลือดจนเกิดภาวะ SHOCK ให้ผู้ป่วยสูดออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% เพื่อช่วยรักษาเนื้อเยื่อที่ปกติ รวมทั้งถ่ายเลือดให้ผู้ป่วย ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้
หากมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู ซึ่งอาจใช้เวลารักษาตัวนานหลายสัปดาห์ และอาจต้องแยกห้องรักษากับผู้ป่วยอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ และหลังการรักษา ผู้ป่วยบางรายที่ต้องตัดเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออกไปปริมาณมากหรือต้องตัดแขนขา อาจต้องผ่าตัดเพื่อตกแต่งบาดแผล และผู้ป่วยที่พิการจะต้องทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูสภาพของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทให้กลับมาทำงานใกล้เคียงปกติมากที่สุด
รู้ก่อน…ป้องกันได้
เกษตรกรที่ดำนา หากมีแผลตามร่างกาย ไม่ควรลุยโคลนด้วยเท้าเปล่า ควรดูแลบาดแผลให้สะอาดถูกสุขอนามัยและใส่ยาปฏิชีวนะรักษาแผลตามความเหมาะสม เมื่อมีแผล ต้องทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดทันที ซับด้วยผ้าสะอาด ทำความสะอาดแผลทุกวัน และใช้อุปกรณ์ทำแผลที่สะอาด เลี่ยงการใช้สระน้ำ และอ่างอาบน้ำร่วมกัน ล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังสัมผัสแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที เพื่อตรวจรักษาอาการต่อไป หากมีไข้ ปวด บวม แดง แสบร้อน บริเวณที่เป็นแผล ควรรีบพบแพทย์ทันที
โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน เป็นโรคที่พบไม่บ่อยนัก หากคุณหรือคนใกล้ตัวที่คุณรัก เป็นคนแข็งแรง มีภูมิต้านทานปกติ และมีวิธีดูแลแผลอย่างถูกต้อง ก็มีโอกาสน้อยที่จะเป็นโรคนี้แต่หากมีภาวะความเสี่ยงจะเป็นขั้นรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเชื้อจะเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง และกล้ามเนื้อในร่างกาย อาจเกิดอันตรายถึงกับชีวิตหากรักษาไม่ทันหรือเกิดความพิการตามมาได้ ร่วมกันดูแลและป้องกัน อย่ารอให้โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน เข้ามาทำร้ายคุณ และคนที่คุณรัก
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรค สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ คลินิกผิวหนัง โรงพยาบาลพญาไท 2 โทร. 02-6172444 ต่อ 4202, 4228หรือข้อมูลสุขภาพได้ที่ https://www.phyathai.com/
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี