หลายคนที่มีโรคประจำตัว ต้องกินยาหลายตัวหลายมื้อทุกวัน เวลารับยาจากโรงพยาบาลแต่ละครั้งคงได้มาเป็นถุงใหญ่ จะใช้จากถุงยาที่ได้รับก็คงไม่สะดวกนักจึงต้องจัดเตรียม แบ่ง พกพายาไปใช้ให้สะดวก ในแต่ละวันก็คงเป็นเทคนิคที่แต่ละท่านจะต้องคิดขึ้นมา เพื่อให้สามารถใช้ยาได้อย่างสม่ำเสมอที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการจัดยาใส่กล่อง หรือตลับยาอันไม่ใหญ่มากแบ่งเป็นมื้อเช้า กลางวัน เย็นและก่อนนอน ก็เป็นตัวช่วยที่หลายคนเลือกใช้ เพื่อความสะดวกในการรับประทาน และยังช่วยจัดระบบ ลดความสับสนในการรับประทานยา ทำให้ลดการลืมในการรับประทานยา หลายท่านยังต้องเตรียมยาในลักษณะนี้ ให้กับญาติผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุด้วย
เวลาแบ่งยาใส่ตลับ หรือกล่อง อาจมีผลต่อคุณภาพของยาทำให้ยาเสื่อม ซึ่งมีโอกาสที่ทำให้เกิดสารเสื่อมสลายที่เป็นพิษที่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ไม่ว่าตับ ไต และยังทำให้ปริมาณตัวยาสำคัญลดลงจนทำให้ไม่ได้ผลการรักษา หรือควบคุมโรคที่เป็นไม่ได้
ปัจจัยหลักที่ทำให้ยาเสื่อมสลายได้เร็ว หากเราจัดเก็บยาไม่ดี ได้แก่ ความชื้น แสง ยาบางชนิดอาจถูกออกซิเจนจากอากาศอาจทำปฏิกิริยาไปเร่งทำให้ยาเสียได้เร็วขึ้น
โดยทั่วไป ตลับหรือกล่องที่ใช้แบ่งยาไม่มีคุณสมบัติป้องกันแสงได้ดีพอ และกันความชื้นไม่ได้ ซึ่งยาหลายชนิดไวต่อสองปัจจัยทำให้ยาเสื่อม
กรณีที่พบเร็วๆ นี้คือ ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันรายหนึ่ง ได้รับยามาจากโรงพยาบาล ทานยาไปแล้วไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ คนไข้ก็แย่ลง ก่อนที่แพทย์จะตัดสินใจเปลี่ยนยา หรือเพิ่มขนาดยาก็ซักหาสาเหตุก็พบว่า ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยได้แกะยาออกจากแผง และจัดแบ่งยาตามมื้อ และวันไว้ล่วงหน้าเกือบเดือน ทำให้ยาเสื่อมสลาย และไม่ให้ผลการรักษาที่ดี
ปัจจุบันจะเห็นว่า เวลาไปรับยาจากโรงพยาบาล หรือแม้แต่ที่ไปซื้อจากร้านยา เรามักจะไม่ค่อยพบยาจะมาในรูปแบบเม็ดเปลือย แบ่งนับใส่ขวดยา หรือซอง ยาส่วนใหญ่จะบรรจุมาในแผง แต่ละเม็ดจะถูกเก็บรักษาไว้ซึ่งลักษณะของแผงก็ถูกออกแบบด้วยวัสดุที่แตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ที่จะปกป้องยาแต่ละชนิด จนกว่าจะถึงเวลาที่ยาจะเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งนั่นหมายถึงความมั่นใจได้ว่าจะเกิดประสิทธิผลของยาสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับการนำยาแกะออกจากแผงเตรียมไว้ก่อน ยิ่งนานเท่าไร ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเสื่อมคุณภาพของยามากเท่านั้น
การแกะยาออกจากแผงอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค หรือฝุ่นผง หากเราดูแลความสะอาดของภาชนะบรรจุที่เลือกใช้ไม่ดีพอ และหากกรณีฉุกเฉิน ยาที่พกพาไว้ ไม่มีชื่อ ฉลาก หรือบรรจุภัณฑ์ ที่สามารถบ่งชี้ได้ว่ายาที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ชื่ออะไร ความแรงเท่าใด ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องเสียเวลาไปในการค้นหาข้อมูลเพิ่ม
อ่านถึงตรงนี้คุณผู้อ่านหลายท่านอาจเริ่มกังวลว่า แล้วสรุปจะทำอย่างไรดี คำตอบคือทางสายกลาง ถ้าการแบ่งยาใส่ตลับ แล้วทำให้ไม่ลืมกินยา ลดความสับสนแล้ว ก็แนะนำให้จัดยาใส่กล่อง โดยการตัดแผงยาตามเม็ด ซึ่งในกรณีนี้ ยายังถูกเก็บรักษาไว้เหมือนเดิม
แต่บางกรณีที่ผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุ ไม่สามารถแกะยาออกจากแผงเองได้ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น เป็นโรคที่มีปัญหากับการใช้มือ เช่น มือสั่นจากพาร์กินสัน ข้ออักเสบรูมาตอยด์ อาจทำให้ไม่สามารถแกะยากินเองโดยสะดวก ลูกหลานหรือผู้ดูแลต้องแกะไว้ให้ล่วงหน้า ก็แกะใส่ตลับไว้ได้ เพียงแต่อย่าแกะไว้ล่วงหน้ามากเกินไป ประมาณ 3-7 วัน ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ที่จริงแล้วเตรียมล่วงหน้าไว้น้อยวันยิ่งดีหรือควรทำวันต่อวันจะดีที่สุด ส่วนคนที่ไม่มีปัญหากับการพกยาเป็นแผง ไม่ใช่คนที่ลืมกินยาบ่อยๆก็ไม่จำเป็นต้องแกะยาใส่ตลับ
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี