โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัสหัด (measles virus) โดยเป็นโรคที่มักพบในเด็ก แต่พบรายงานการระบาดในผู้ใหญ่ในแต่ละพื้นที่ได้ประปราย โรคหัดสามารถติดต่อได้ง่ายทางการหายใจ โดยทั่วไปมักก่อให้เกิดอาการไม่รุนแรงและหายเองได้ แต่อาจพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ในปัจจุบัน ยังไม่มียาต้านไวรัสในการรักษาโรคหัด แต่มีวัคซีนที่สามารถฉีดป้องกันได้
อาการ
โรคหัดมีระยะฟักตัวเฉลี่ยประมาณ 2 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ จากนั้นจะเริ่มมีอาการดังนี้
1.ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีไข้สูง อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ตาแดง และ
อาจมีตุ่มสีขาวที่กระพุ้งแก้มเรียกว่า Koplik
spot ผู้ป่วยจะมีอาการในระยะนี้ประมาณ 2-4 วัน
2.ระยะผื่น ผู้ป่วยจะเริ่มมีผื่นสีแดงขึ้นโดยเริ่มจากศีรษะและกระจายไปตามลำตัวและแขนขา หลังจากนั้นประมาณ 3-4 วันผื่นจะกลายเป็นสีเข้ม ผู้ป่วยอาจจะยังมีไข้สูงไอ ตาแดงอยู่ และอาจมีต่อมน้ำเหลืองผื่นอาจอยู่ได้นานถึง 1 สัปดาห์
3.ระยะฟื้นตัว ผื่นจะจางลงร่วมกับไข้ที่ลดลงแต่อาจพบอาการไอได้นาน 2 สัปดาห์
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ ได้แก่ ปอดติดเชื้อ ถ่ายเหลว สมองอักเสบ รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม
รูปจาก : https://www.cdc.gov/measles/symptoms/signs-symptoms.html
การวินิจฉัย
แม้ว่าการวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการตรวจเลือดหาแอนติบอดีต่อเชื้อ แต่แพทย์มักวินิจฉัยโรคหัดจากอาการที่เข้าได้มากกว่า เนื่องจากต้องใช้เวลาหลายวัน
หลังติดเชื้อถึงจะตรวจพบแอนติบอดีในเลือด
การแพร่เชื้อ
โรคหัดเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายทางการหายใจ พบว่าเชื้อไวรัสสามารถอยู่ในอากาศได้นานถึง 2 ชั่วโมง ทำให้มีความสามารถในการแพร่เชื้อได้สูงถึง 9 ใน 10 รายของผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยและยังไม่มีภูมิคุ้มกันโดยผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 5 วันก่อนผื่นขึ้นจนถึง 4 วันหลังผื่นยุบ
การรักษา
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่จำเพาะต่อโรค ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการขณะรอหายจากการติดเชื้อ พบรายงานการให้วิตามินเออาจมีประโยชน์ในเด็กที่เป็นโรคหัด
วัคซีนโรคหัด
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคหัด ซึ่งเป็นวัคซีนรวมโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (Measles Mump Rubella (MMR) vaccine) ในเข็มเดียวกัน ในประเทศไทยแนะนำให้ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ครั้งแรกเมื่ออายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 18 เดือนหรือฉีดวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน (ถ้าเริ่มฉีดเข็มแรกหลังอายุ 12 เดือน) โดยมีรายงานพบว่าวัคซีนโรคหัด 1 เข็มป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยละ 93 และหากได้รับวัคซีนโรคหัดครบทั้ง 2 เข็ม จะป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยละ 97
ผู้ที่ควรได้รับวัคซีน ได้แก่
1.ผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ได้วัคซีนไม่ครบเข็ม หรือยังไม่เคยเป็นหัดมาก่อน
2.ในกรณีที่เคยได้รับวัคซีนครบหรือเคยเป็นหัดมาก่อน อาจพิจารณาฉีดวัคซีนกระตุ้นจำนวน 1 เข็ม ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่ระบาด โดยฉีดล่วงหน้า 2 สัปดาห์
3.เนื่องจากวัคซีนหัด คางทูม หัดเยอรมันเป็นวัคซีนเชื้อเป็น จึงเป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีนแก่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและหญิงตั้งครรภ์
รองศาสตราจารย์นายแพทย์จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์
อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี