โรคหลอดเลือดหัวใจจัดเป็นโรคของผู้ใหญ่ที่พบได้ตั้งแต่คนวัยหนุ่มสาวไปจนถึงผู้สูงอายุ เป็นโรคที่มักพบได้มากขึ้นตามอายุ โดย โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease: CAD/Coronary Heart Disease: CHD) เกิดจากการเกาะของคราบไขมัน (Plaque) ภายในผนังหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นการสะสมของคอเลสเตอรอลและสารต่างๆ ภายในหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดตีบและอุดตันจนปิดกั้นการไหลเวียนของกระแสเลือด ผู้ป่วยจึงมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด หรือรุนแรงถึงขั้นหัวใจวาย หากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบทำให้ร่างกายไม่สามารถส่งกระแสเลือดและออกซิเจนไปยังหัวใจได้โดยเฉพาะในขณะที่หัวใจต้องทำงานหนัก เช่น ระหว่างออกกำลังกาย เป็นต้น
ข้อมูลจาก นายแพทย์ชวกร เหลี่ยมไพรบูรณ์ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คือการที่หลอดเลือดหัวใจมีการตีบหรือตันเลือดจึงไม่สามารถไหลผ่านได้สะดวก ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อยลงซึ่งการตีบหรือตันเกิดจากการที่มีไขมันหรือหินปูนเกาะในหลอดเลือด โดยมีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวข้องกับโรคประจำตัว เช่น โรคไขมันในหลอดเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่
ทั้งนี้ เมื่อเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ จะก่อให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หากเป็นมากขึ้นอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ เพราะฉะนั้นหากเริ่มมีอาการที่รบกวนชีวิตประจำวัน ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีหลายวิธี ตั้งแต่การรับประทานยา, การทำบอลลูนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือด, ในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจมีการตีบตันหลายตำแหน่งหรือหลายเส้น แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ เป็นการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจเพื่อให้เลือดได้ไหลผ่านแทนหลอดเลือดเดิมที่ตีบตัน
การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจวิธีที่ทำกันมานาน และยังทำเป็นมาตรฐานอยู่ เป็นการผ่าตัดโดยใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (On-Pump CABG) ร่วมกับทำให้หัวใจหยุดเต้น แพทย์จะสามารถผ่าตัดได้อย่างสะดวก แต่จากการศึกษาพบว่าเครื่องปอดและหัวใจเทียมอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะอักเสบในร่างกาย อาจทำให้การฟื้นตัวและการทำงานของหัวใจลดลง อีกทั้งยังส่งผลต่อเกล็ดเลือดและการแข็งตัวของเลือด อาจทำให้เลือดออกมากผิดปกติหลังผ่าตัดได้
ในปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดที่เรียกว่า การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ใช่เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Off-Pump CABG) เป็นวิธีผ่าตัดที่หัวใจไม่หยุดเต้นในระหว่างการผ่าตัด โดยแพทย์จะนำเครื่องมือเข้ามาเกาะยึดหัวใจให้หยุดนิ่งในตำแหน่งที่จะทำการผ่าตัด โดยที่หัวใจยังเต้นอยู่ สามารถผ่าตัดได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม
การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม มีข้อดีหลายประการ ดังนี้
l ลดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม
l เสียเลือดน้อยกว่า ลดอัตราการเติมเลือดในขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัด
l ลดระยะเวลาการผ่าตัดและดมยาสลบสั้นลง
l ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ระยะพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นลง
l ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมของร่างกาย ดังนี้
1.รับประทานอาหารและยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
2.งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
3.การหยุดยาต้านเกล็ดเลือดในผู้ป่วยแต่ละราย จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์
4.เข้าพักที่โรงพยาบาล 1 วันก่อนการผ่าตัดเพื่อเตรียมความพร้อมร่างกาย
5.ประเมินความพร้อมก่อนผ่าตัดโดยศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก และวิสัญญีแพทย์
หลังการผ่าตัดผู้ป่วย ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และติดตามผลการรักษากับแพทย์ตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ควรควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ควบคุมโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงอาหารที่ทำให้คอเลสเตอรอลสูงหรือน้ำตาลในเลือดสูง
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจด้วยเทคนิคไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม เป็นทางเลือกการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย แต่จำเป็นต้องรักษาโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการใช้เทคนิคนี้ จึงจะช่วยให้การผ่าตัดรวดเร็ว เกิดประโยชน์สูงสุด และปลอดภัยกับตัวผู้ป่วยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังการรักษา
โดยสรุป โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นภาวะที่หลอดเลือดหัวใจเกิดการตีบแคบหรืออุดตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ ซึ่งหากหลอดเลือดมีการตีบตันหลายตำแหน่งหรือหลายเส้น แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ปัจจุบันมีเทคนิคที่เรียกว่าการผ่าตัดบายพาสหัวใจด้วยเทคนิค “โดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม” (Off-Pump CABG) ทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมาจากการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม ลดอัตราการเสียเลือดลดลง ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น
ขอประชาสัมพันธ์การช่วยเหลือเด็กป่วยโรคมะเร็งที่ยากไร้ ข้อมูลจาก ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง เลขาธิการกองทุนโรคมะเร็งในเด็กในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีกรมหมื่นสุทธนารีนาถ เปิดเผยว่านับตั้งแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงรับกองทุนโรคมะเร็งในเด็กไว้ในพระอุปถัมภ์ จวบจนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วที่ทรงมีพระเมตตาช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเด็กที่ยากไร้ทั่วประเทศในรพ.กว่า 20 แห่ง รูปแบบในการให้ความช่วยเหลือคือ ช่วยค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษา รวมทั้งค่ายา ค่าเดินทางมาตรวจรักษา ค่าที่พักเวชภัณฑ์ต่างๆ ด้วย สามารถร่วมบริจาคได้ที่บัญชี “กองทุนโรคมะเร็งในเด็กในพระอุปถัมภ์ฯ” SCB สาขาอ่อนนุช เลขที่บัญชี 133-2-08742-3 โทร.02-7183800 ต่อ 123 ใบเสร็จนำไปลดหย่อนภาษีได้ รายละเอียดที่ http://www.thaichildrencancerfund.org/
ผศ.(พิเศษ)ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์
ประธานกรรมการ มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี