หลายคนมีความกังวลว่า ตัวเองจะเป็นโรคหัวใจหรือไม่ หรืออาจจะไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคหัวใจ ด้วยคำถามที่ว่าตัวเองจะเป็นโรคหัวใจหรือไม่ การจะตอบคำถามนี้ให้เข้าใจง่าย ก่อนอื่นจะต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า คำว่า “โรคหัวใจ” เป็นคำกว้างๆ ซึ่งประกอบด้วยโรคหัวใจประเภทต่างๆ หลายชนิด ดังนี้
โรคหัวใจ คืออะไร
ก่อนอื่นจะต้องทราบก่อนว่า หัวใจของคนเราปกติ ประกอบด้วย ส่วนต่างๆ หลายส่วน ตัวอย่างเช่น ผนังหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ ห้องหัวใจ ผนังกั้นห้องหัวใจ ลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ หลอดเลือดโคโรนารีที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือดแดงและดำใหญ่ที่ออกจากและเข้าสู่หัวใจตามลำดับ ระบบการนำกระแสไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น ถ้ามีความผิดปกติที่ส่วนประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้ก็จะนำไปสู่ “โรคหัวใจ” ได้ ซึ่งก็จะมีชื่อเรียกโรคหัวใจเหล่านั้นจำเพาะขึ้นยกตัวอย่าง เช่น
1. โรคของผนังหัวใจ แยกตามชั้นของผนังหัวใจ ได้แก่
-ผนังหัวใจชั้นนอกสุด เป็นเยื่อหุ้มหัวใจ ตัวอย่างโรค ได้แก่ โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ การมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ โรคเยื่อหุ้มหัวใจหนา เป็นต้น
-ผนังหัวใจชั้นกลาง เป็นกล้ามเนื้อหัวใจ ตัวอย่างโรค ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง เป็นต้น
-ผนังหัวใจชั้นใน เป็นเยื่อบุหัวใจ โรคที่เกิดขึ้นเรียกว่า โรคลิ้นหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว เป็นต้น
2. โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นโรคที่ได้รับการกล่าวถึงบ่อยในปัจจุบัน โดยอาจจะหมายถึง
-โรคของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจหรือหลอดเลือดโคโรนารี เป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้น และอาจเป็นอันตรายได้ เกิดจากการตีบตันภายในหลอดเลือด ส่วนใหญ่เกิดจากก้อนไขมัน หรือภาวะหลอดเลือดแข็ง
-โรคของหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจหรือหรือหลอดเลือดแดงเอออร์ตา เช่น หลอดเลือดโป่งพอง หรือผนังหลอดเลือดปริฉีกขาด เป็นต้น
3. โรคของระบบการนำกระแสไฟฟ้า เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดต่างๆ
4. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด อาจจะมีความผิดปกติที่ตำแหน่งใดของหัวใจก็ได้ ตัวอย่างโรค เช่น โรคผนังกั้นห้องหัวใจรั่ว เป็นต้น
ชื่อโรคหัวใจบางชนิดที่อาจมีความสับสน
จะเห็นได้ว่าโรคหัวใจนั้นมีมากมายหลายประเภท ส่งผลให้มีความหลากหลายในหลายๆ ด้าน เช่น อาการและอาการแสดง ความรุนแรง รวมถึงแนวทางการรักษา เป็นต้นบางครั้งมีความสับสนในการเรียกโรคหัวใจบางประเภท และทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เช่น
-โรคหัวใจตีบ อาจหมายถึง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือลิ้นหัวใจตีบ
-โรคหัวใจรั่ว อาจหมายถึง โรคลิ้นหัวใจรั่ว หรือผนังกั้นห้องหัวใจรั่ว
-โรคหัวใจโต อาจหมายถึง โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา โรคกล้ามเนื้อหัวใจโป่งพองและอ่อนแรง
-โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นการกล่าวถึงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบไม่เจาะจง ซึ่งไม่สามารถบอกความจำเพาะในการวินิจฉัยโรคได้ เป็นต้น
ดังนั้น ท่านที่สงสัยว่า ตัวเองจะเป็น “โรคหัวใจ” หรือไม่ ควรให้ความใส่ใจ โดยสังเกตอาการผิดปกติ และแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัย และรักษาที่ถูกต้องต่อไป
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนิธิมา รัตนสิทธิ์
สาขาหทัยวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
และ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี