สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งราชอาณาจักรสวีเดน เสด็จเป็นองค์ประธานในงาน “The Exhibition of Children Projects and ACORN Sit-down Dinner for Donators” จัดโดย มูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก (SafeguardKids Foundation) ร่วมกับ บิวตี้ เจมส์ เพื่อระดมทุนช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในประเทศไทยที่ถูกล่วงละเมิดสิทธิ โดยทรงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดแนวคิดในการสร้างสรรค์เครื่องประดับ คอลเลกชัน “ROYAL ACORN” และนำไปผลิตโดยผู้ประกอบการไทย คือ บิวตี้เจมส์ รายได้จากการจำหน่ายทั้งหมดมอบให้กับมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก (SafeguardKids Foundation) ผ่านทาง มูลนิธิ World Childhood Foundation ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีเจตนารมณ์พิทักษ์และต่อต้านการล่วงละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนทั้งทางร่างกายและจิตใจ
สเวน ฟิลลิป โซเรนเซน ผู้แทนมูลนิธิ World Childhood Foundation ก่อตั้งขึ้นโดยสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน เปิดเผยว่า “ด้วยพระราชปณิธานมุ่งมั่นของสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งราชอาณาจักรสวีเดน เพื่อเด็กทุกคนบนโลกปราศจากการถูกคุมคามทางเพศ ทรงให้ความสำคัญกับประเด็นความรุนแรงต่างๆ ของเด็ก ทั้งยังเห็นพ้องและผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2030 ของ UN ในการยุติความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทั่วโลก โดยการสนับสนุนผ่านมูลนิธิ World Childhood Foundation ภายใต้ภารกิจส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ กับองค์กรเด็กทั่วโลก เช่นเดียวกันกับในประเทศไทย มูลนิธิ World Childhood Foundation มอบความรู้ นวัตกรรมต่างๆ และทุนสนับสนุนแก่ 15 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับเด็กมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จวบจนปัจจุบัน”
มูลนิธิ World Childhood Foundation ร่วมกับ มูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก (SafeguardKids Foundation) ของประเทศไทย และบิวตี้เจมส์ (BEAUTY GEMS) เป็นผู้นำหลักในความร่วมมือให้เกิดการจัดงาน “The Exhibition of Children Projects and ACORN Sit-down Dinner for Donators” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในประเทศไทยที่ถูกล่วงละเมิดสิทธิ โดยได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งราชอาณาจักรสวีเดน ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดแนวคิดการสร้างสรรค์เครื่องประดับ คอลเลกชัน “ROYAL ACORN” ซึ่งรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายเครื่องประดับมอบให้กับมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก (SafeguardKids Foundation) โดยผ่านทาง มูลนิธิ World Childhood Foundation นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ The Hush-A-Bye ผลงานภาพถ่ายของ “ออสการ์ วิลเลกาส-ปาเอซ” (Oscar Villegas-Paez) ช่างภาพมืออาชีพชาวฝรั่งเศส สะท้อนความรู้สึกหลากอารมณ์ของเด็กและเยาวชนในกรุงเทพและปารีสผ่านภาพถ่ายขาวดำ โดยจัดแสดงภาพถ่ายบางส่วน ณ โชว์รูมบิวตี้ เจมส์ เซนเตอร์ ศาลาแดง 1/1 และเชิญชมนิทรรศการได้ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA BANGKOK – MOCA Museum of Contemporary Art Bangkok) ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม - 30 มิถุนายน 2567
อย่างไรก็ตาม ในวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2567 นี้ มูลนิธิ World Childhood Foundation ร่วมกับ มูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก (Safeguardkids Foundation) ของประเทศไทย จัดงานเสวนาระดับประเทศ โดยมีสมเด็จพระราชินี ซิลเวียแห่งสวีเดน เป็นองค์ปาฐกแสดงปาฐกถาเรื่องภัยร้ายแรง และการแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ในฐานะผู้ก่อตั้งมูลนิธิ World Childhood มากว่า 25 ปี ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาพัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จร่วมงานและพระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าร่วมงานเนื่องในโอกาสนี้
การจัดงานประชุมสุดยอดการคุ้มครองเด็ก Child Protection Summit 2024 กำหนดจัดขึ้นเวลา 09.00 -13.00 น. ณ องค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ (United Nations Conference Centre - UNCC) เพื่อร่วมกันสร้างแรงสะเทือนอันยิ่งใหญ่ให้แก่ประเทศไทยในการแก้ปัญหาอาชญากรรมร้ายแรงต่อเด็กให้บรรลุผลสำเร็จ
ชเล วุทธานันท์ ประธานมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก (SafeguardKids Foundation) กล่าวว่า “สถานการณ์การล่วงละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนในวันนี้เข้าสู่ขั้นวิกฤต สังคมต้องคำนึงถึงความสำคัญในการปกป้องเด็กและเยาวชนจากประสบการณ์เลวร้ายและเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินงานพิทักษ์และต่อต้านการล่วงละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กไทย”
มูลนิธิ SafeguardKids รวบรวมข้อมูลสถิติคดีค้ามนุษย์ในเด็กและการแสวงผลประโยชน์ทางเพศผ่านระบบออนไลน์ในประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตก โดยอ้างอิงฐานข้อมูลจากชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (Thailand Internet Crimes Against Children - TICAC Task Force) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบเด็กและเยาวชนไทยถูกล่วงละเมิดทั้งการค้ามนุษย์ ล่วงละเมิดทางเพศ ถูกครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กและเยาวชน และนำข้อมูลอนาจารของเด็กและเยาวชนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด และพบว่ากลุ่มที่ถูกล่วงละเมิดมากที่สุดคือช่วงอายุ 8 – 14 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 15-17 ปี ในจำนวนนี้คิดเป็นเด็กผู้หญิง 70.56% และเด็กผู้ชาย 29.44% ดังนั้นต้องร่วมกันหยุดยั้งการละเมิดทางเพศในเด็ก ผลักดันให้สังคมปฏิเสธการดำรงอยู่ของปัญหาเหล่านี้
สุริยน ศรีอรทัยกุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทบิวตี้เจมส์ ในฐานะรองประธานและกรรมการมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก(SafeguardKids Foundation) และประธานการจัดงาน The Exhibition of Children Projects and ACORN Sit-down Dinner for Donators กล่าวว่า ความร่วมมือในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อเป้าประสงค์ให้เกิดองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจ ส่งเสริมสิทธิและคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและเยาวชนไทย จึงขอร่วมเป็นกระบอกเสียงเตือนภัยให้กับประเทศชาติ สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น สนับสนุนการเสริมสร้างกฎหมายที่เข้มแข็ง เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน ตลอดจนป้องปรามผู้กระทำผิดให้เกรงกลัวต่อโทษทัณฑ์
“เด็กและเยาวชนเป็นอนาคตของชาติ การคุ้มครองพวกเขาจากการถูกทารุณกรรมทั้งทางร่างกายและจิตใจ จึงเป็นหน้าที่สำคัญของทุกคนในสังคม มูลนิธิ SafeguardKids ร่วมกับภาคีเครือข่ายต้องการรณรงค์และป้องกันอย่างจริงจัง โดยการสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดแก่สาธารณชน ด้วยการจัดงานนิทรรศการ “The Hush-A-Bye” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและถ่ายทอดความรู้สึกของเด็กและเยาวชนผ่านภาพถ่ายขาวดำฝีมือศิลปินระดับโลก จัดแสดงระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม - 30 มิถุนายน 2567 ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA BANGKOK – MOCA Museum of Contemporary Art Bangkok) ชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดใดทั้งสิ้น มูลนิธิ SafeguardKids และภาคีเครือข่ายในการจัดงานครั้งนี้ หวังว่าสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นศูนย์ในอนาคตอันใกล้นี้”
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี