มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดทำโครงการสถานประกอบการต้นแบบสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพหญิงวัยเจริญพันธุ์และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมี โสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขรองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายแผน พัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดลรองศาสตราจารย์ ดร.เอมพร รตินธรคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ณ ห้องประชุมภัทรมหาราชการุณย์ ชั้น 5 อาคารมหิดลอดุลยเดช-พระศรีนครินทร คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม
จากการศึกษาข้อมูลสตรีวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งหมายถึงสตรีช่วงอายุ 15-49 ปีสตรีกลุ่มนี้ส่วนมากต้องทำงานนอกบ้านอันเนื่องมาจากภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวพบว่า สตรีวัยเจริญพันธุ์ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะทำงานในสถานประกอบการขนาดเล็ก (จำนวนพนักงาน 1-50 คน) รองลงมาคือ สถานประกอบการขนาดกลาง (จำนวนพนักงาน 51-200 คน)และขนาดใหญ่ (จำนวนพนักงานมากกว่า 200 คน) ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว แสดงถึงนัยสำคัญประการหนึ่ง คือ สตรีที่ทำงานนอกบ้านจำนวนมากมีสถานะโสด หรือมีบุตรน้อย จากการมีรายได้น้อยและขาดแคลนสวัสดิการที่ช่วยคุ้มครองความเป็นมารดาและการเลี้ยงดูเด็ก และสตรีบางรายอาจมีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลสุขอนามัยตนเอง รวมถึงสตรีที่ตั้งครรภ์ยังขาดการดูแลทั้งตนเองและบุตรในครรภ์ และเมื่อคลอดบุตรแล้ว ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรด้วยนมแม่ได้ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก ดังนั้น ที่ทำงานหรือสถานประกอบการจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อและเหมาะสมต่อสตรีวัยเจริญพันธุ์ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับสตรีได้อย่างยั่งยืน
โสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกล่าวว่า กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับแรงงานสตรี การคุ้มครองสิทธิสตรี การสร้างความเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ การพัฒนาศักยภาพสตรีการเข้าถึงสวัสดิการที่เหมาะสมเป็นนโยบายที่กระทรวงแรงงานมอบให้หน่วยงานหรือสถานประกอบการยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังส่งเสริมให้สถานประกอบการมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้สตรีสามารถดูแลสุขภาพตนเองและบุตรได้ เช่น การมีสถานที่ปั๊มนมมีตู้เย็นที่อุณหภูมิเพียงพอต่อการแช่นม เป็นต้น ดังนั้น การกำหนดมาตรฐานสำหรับสถานประกอบการนอกจากจะเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของแรงงานสตรีแล้ว ยังช่วยยกระดับมาตรฐานสถานประกอบการให้เป็นที่ยอมรับในสังคมยิ่งขึ้น
นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สตรีวัยแรงงานนอกจากจะต้องได้รับความคุ้มครองพื้นฐานตามกฎหมายแรงงานแล้ว การส่งเสริมสุขภาวะที่ดีทั้งกายและใจ ถือเป็นบทบาทสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยให้แรงงานสตรีลดความเสี่ยงจากการเกิดโรค สามารถดูแลสุขอนามัยได้อย่างเหมาะสม รวมถึงกลุ่มสตรีที่ต้องเลี้ยงดูบุตร สามารถดูแลตนเองและบุตรได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เลี้ยงดูบุตรด้วยนมแม่ที่นอกจากจะเป็นการสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างแม่กับลูกแล้ว ยังสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกอีกด้วย เด็กที่ดื่มนมแม่จะมีพัฒนาการที่ดี ซึ่งเป็นส่วนช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับครอบครัวได้
รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรสมภพประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายแผน พัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่ามหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบายส่งเสริม สนับสนุนการจัดทำมาตรฐานคุณภาพด้านการบริการวิชาการและบริการสุขภาพสู่สากล ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัย ดังนั้น การสร้างมาตรฐานสำหรับสถานประกอบการ เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้คำนึงถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของสตรีเพื่อให้เกิดการดูแลแบบองค์รวม ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ 8 : ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาสถานประกอบการต้นแบบเพื่อสร้างมาตรฐานของสถานประกอบการที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพสตรี โดยเฉพาะในช่วงระยะตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ไปจนถึงช่วงระยะการให้นมบุตร ซึ่งจะทำให้สถานประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและมั่นใจจากทั้งพนักงานและสังคม และทำให้เกิดแนวทางการดูแลสุขภาวะสตรี วัยแรงงานอย่างยั่งยืน และในวันนี้มีสถานประกอบการที่จะร่วมกันพัฒนาให้เป็นสถานประกอบการต้นแบบ คือ บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด และในอนาคตคาดว่าจะมีสถานประกอบการแห่งอื่นเข้าร่วมเพิ่มขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.เอมพร รตินธร คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะพยาบาลศาสตร์มีพันธกิจหลัก คือ ผลิตบัณฑิตพยาบาลที่มีสมรรถนะทางวิชาชีพที่ตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพของสังคมไทยและสังคมโลก นอกจากนี้ยังมุ่งสร้างงานวิจัยชี้นำนโยบายระบบบริการสุขภาพของประเทศ และการให้บริการวิชาการที่มุ่งเน้นการสร้างแกนนำในการสร้างเสริมสุขภาวะแก่สังคม จึงได้จัดทำโครงการสถานประกอบการต้นแบบสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพหญิงวัย เจริญพันธุ์และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขึ้น โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรนภา ตั้งสุขสันต์ หัวหน้าภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และประธานศูนย์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสุขภาพเด็กปฐมวัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อทำการศึกษาสถานการณ์การดูแลสุขภาพสตรีและการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบการ และนำไปจัดทำเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินคุณภาพของสถานประกอบการที่ส่งเสริมสุขภาพสตรีและการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ที่จะยกระดับให้เป็นสถานประกอบการต้นแบบในการส่งเสริมสุขภาพสตรีและการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้สตรีมีสุขภาพดีทั้งในระยะยาว คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีในทุกมิติ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี