เมื่อวันอังคารที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุระทึกกับสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน SQ321 ต้นทางจากลอนดอน และปลายทางสิงคโปร์ พร้อมผู้โดยสาร 221 คนและลูกเรือ 18 คน หลังได้รับผลกระทบจากการเผชิญสภาพอากาศแปรปรวน เมื่อเวลา 15.06 น.ตามเวลาไทย และเกิดหลุมอากาศกะทันหันเหนือลุ่มน้ำอิรวดี ในเมียนมาจนส่งผลให้ผู้โดยสารเสียชีวิต 1 ราย ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน ทำให้ต้องบินลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ
จากข้อมูลการติดตามเที่ยวบินของ FlightRadar24 ชี้ว่าเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER ลำนี้ ตกหลุมอากาศรุนแรงขณะที่บินอยู่เหนือปากแม่น้ำอิรวดี ไม่ไกลจากทะเลอันดามัน ขณะนั้นเครื่องบินอยู่ที่ระดับเพดานบิน 37,000 ฟุต ซึ่งถือเป็นเพดานบินปกติของการบินเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ ทำให้เที่ยวบินพบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแนวดิ่ง ก่อนที่จะลดระดับเพดานบินลงมาอยู่ที่ระดับ 31,000 ฟุต หรือดิ่งลงถึง 6,000 ฟุตภายในเวลาเพียง 4 นาที เพื่อหลีกเลี่ยงหลุมอากาศ และค่อยๆลดระดับเพดานลงต่อเนื่อง จนลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในเวลา 15.51 น.
หลังจากลงจอดสำเร็จ เจ้าหน้าที่ได้ลำเลียงผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บออกจากเครื่อง เพื่อส่งตัวไปรักษาต่อในโรงพยาบาลหลายแห่งในกรุงเทพฯ ส่วนผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นชายสัญชาติอังกฤษ วัย 73 ปี คาดสาเหตุของการเสียชีวิตมาจากภาวะหัวใจวายส่วนสาเหตุที่ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เพราะการตกหลุมอากาศเกิดขึ้นในระหว่างที่พนักงานของสายการบินกำลังเสิร์ฟอาหาร ทำให้อุปกรณ์และสิ่งของต่างๆ รวมถึงผู้โดยสารและลูกเรือที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยเจอกับแรงกระแทกโดยตรงจนร่างลอยไปกระแทกกับเพดานและพื้นของห้องโดยสารเครื่องบิน
สำหรับเหตุเครื่องบินตกหลุมอากาศ จะได้รับผลกระทบหรือความเสียหายที่แตกต่างกัน และขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง ซึ่งหลุมอากาศ หรือ Air Turbulence คือการเคลื่อนที่ของอากาศที่ผิดปกติ ก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนของเครื่องบิน ซึ่งมีหลายระดับความรุนแรง ตั้งแต่เบาไปจนถึงรุนแรงมาก โดยระดับความรุนแรงของการการตกหลุมอากาศ มี 3 ระดับ ได้แก่
-หลุมอากาศรุนแรงระดับต่ำ (Light Turbulence) เครื่องบินจะขึ้น-ลง 1 เมตร ผู้โดยสารแทบไม่รู้สึกโดยทั้งลูกเรือและนักบินจะมีการสื่อสารกัน หากต้องเสิร์ฟอาหารในระหว่างนี้ หากรุนแรงมากขึ้นก็จะทำการเปิดสัญญาณให้ทุกคนคาดเข็มขัด เพื่อความปลอดภัย
-ความรุนแรงหลุมอากาศระดับปานกลาง (Moderate Turbulence) ขึ้น-ลง 3 ถึง 6 เมตร ผู้โดยสารรู้สึกได้และน้ำในแก้วอาจหก โดยจะสั่นแรงเพิ่มขึ้นมา หากไม่คาดเข็มขัด หรือเดินอยู่บริเวณทางเดินอาจจะสั่นจนตัวลอยขึ้นมาได้ เพื่อความปลอดภัยควรหาที่สามารถนั่งได้ใกล้เคียง และคาดเข็มขัดให้เร็วที่สุด
-ความรุนแรงของหลุมอากาศระดับรุนแรง (Severe Turbulence) เครื่องบินขึ้น-ลงได้มากถึง 30 เมตร ซึ่งในกรณีที่ไม่รัดเข็มขัดผู้โดยสารอาจหลุดออกจากเก้าอี้ผู้โดยสารและเกิดอันตรายได้
โดยปกติแล้วหลุมอากาศทั้ง 3 แบบ นักบินจะสามารถมองเห็นได้จากเรดาร์ แต่จะมีหลุมอากาศอีกประเภทที่เรดาร์ไม่สามารถตรวจจับได้ เรียกว่า Clear AirTurbulence เป็นหลุมอากาศที่เกิดจากกระแสลมแรง เปลี่ยนทิศกะทันหัน ซึ่งมีความรุนแรงกว่าระดับรุนแรงสูงสุด เป็นปรากฏการณ์หลุมอากาศที่เกิดขึ้นแบบกะทันหันและรุนแรง จึงยากที่จะตรวจจับหลุมอากาศได้ล่วงหน้าที่พบได้บ่อยขึ้นในปัจจุบันที่เป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
สอดคล้องกับความเห็นของเจฟฟรีย์ โทมัส บรรณาธิการนิตยสารการบิน แอร์ไลนเรทติ้ง ชาวออสเตรเลียถึงการสืบสวนกรณีนี้ว่า เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบหลายด้าน ตั้งแต่การสอบปากคำนักบินว่า ในเวลานั้นระบบเรดาร์ของเครื่องให้ข้อมูลอะไรบ้าง สภาพอากาศขณะเกิดเหตุโดยละเอียด แล้วนำไปเปรียบเทียบกับแหล่งข้อมูลอื่นๆ จากนั้นยังต้องตรวจสอบกล่องบันทึกข้อมูลการบิน แล้วนำทุกอย่างมาสรุปไล่เลียงว่าเกิดอะไรขึ้น เขายังกล่าวว่า เหตุตกหลุมอากาศนั้นสามารถเกิดขึ้นได้แม้ว่าไม่ได้บินผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ซึ่งปกตินักบินจะไม่บินเข้าไปในบริเวณนั้นและยังมีเรดาร์คอยตรวจจับได้ล่วงหน้าถึง 500 กิโลเมตรด้วย แต่แม้ว่าอากาศจะปลอดโปร่งก็สามารถเกิด Clear Air Turbulence ซึ่งไม่อาจพยากรณ์ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งในช่วง20 ปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากหลุมอากาศ 3 คน รวมถึงรายล่าสุดนี้ด้วย แต่ก็ถือว่าลดลงจากในอดีตมากเนื่องจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีและมาตรการความปลอดภัยที่ดีขึ้นขณะที่เหตุการณ์ที่เกิดกับสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ส่งผลให้สายการบินแห่งนี้ มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางเครื่องบินเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี
เช่นเดียวกับ เอ็ด ฮอว์คกิน นักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเร็ดดิงในอังกฤษ เปิดเผยข้อมูลเรื่องอันตรายจากการตกหลุมอากาศและโลกร้อนตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งจากการรวบรวมสถิติในช่วง40 ปีที่ผ่านมา พบว่าเกิดหลุมอากาศรุนแรง ชนิด Clear Air Turbulenceเพิ่มขึ้นถึง 55% หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังดำเนินต่อไป อัตราการเกิดหลุมอากาศในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ บางข้อมูลชี้ว่า อัตราการเกิดหลุมอากาศ จะเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าภายในปี 2593 และอาจมีเครื่องบินต้องเผชิญกับหลุมอากาศที่รุนแรงมากขึ้นถึง 40% แม้ในขณะที่บินผ่านในบรรยากาศที่ปลอดโปร่งก็ตาม
เหตุการณ์นี้สอนให้รู้ว่า เมื่อโดยสารเครื่องบิน ควรคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง และลดการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น
โดย ดาโน โทนาลี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี