ช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมทุกครั้ง ก็อดไม่ได้ที่จะเขียนถึง การเลิกบุหรี่ทุกที เนื่องจากวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก หากจะมาพูดถึงพิษภัยของบุหรี่ก็คิดว่าผู้อ่านทุกท่านน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วไม่ว่าจะพิษภัยต่อผู้ที่สูบโดยตรง หรือผู้ที่อยู่รอบข้าง แต่ไม่น่าเชื่อเลยว่าจากการสำรวจข้อมูลในปีพ.ศ. 2564 พบว่าประชากรที่อายุมากกว่า 15 ปี ยังสูบบุหรี่อยู่ถึงร้อยละ 17.4 หรือคิดเป็นเกือบสิบล้านคน อย่างไรก็ตามการติดบุหรี่นั้นเป็นเรื่องเข้าใจได้ เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่ในการทำให้เสพติดมากกว่าเฮโรอีนเสียอีก เมื่อคนคนหนึ่งเกิดการติดบุหรี่ขึ้นแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเลิกได้ยากมาก หลายคนจะต้องพยายามเลิกแต่ก็ไม่สำเร็จ ทำให้ต้องพยายามกันอยู่หลายครั้ง กว่าจะสำเร็จ ซึ่งมีหลายสิ่งที่ช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จในการเลิกบุหรี่ ตัวอย่างเช่น เทคนิคดังต่อไปนี้
(1) เริ่มจากตั้งคำถามว่าอยากเลิกบุหรี่ไปเพื่ออะไรเพื่อให้เกิดแรงจูงใจที่ชัดเจน เช่น อยากเลิกเพื่อสุขภาพของตัวเอง อยากเลิกเพื่อสุขภาพของคนใกล้ชิดอยากเลิกเป็นของขวัญให้ลูกหรือคู่ชีวิต การมีเป้าหมายชัดเจนจะทำให้เรามีแรงฮึดทำต่อไม่คิดล้มเลิกความพยายามง่ายๆ
(2) กำหนดวันดีเดย์ ควรเป็นวันสำคัญ เช่น วันเกิดตัวเองวันครบรอบแต่งงาน วันเกิดลูก วันอะไรก็แล้วแต่ที่สัมพันธ์กับเป้าหมาย และใกล้ที่สุดนับจากวันที่คิดอยากจะเลิก และระหว่างวันที่คิดได้ว่าอยากจะเลิกกับวันดีเดย์ที่กำหนดไว้ จะได้มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจ
(3) เมื่อถึงวันดีเดย์ เอาบุหรี่ ที่เขี่ยบุหรี่ และไฟแช็กทิ้งไปให้หมด เลิกสูบโดยเด็ดขาดทันทีรวมถึงบอกคนรอบตัวด้วยว่าเรากำลังเลิกบุหรี่ ถ้าจะให้ดีที่ไหนมีกลิ่นบุหรี่ตกค้างให้กำจัดให้สิ้นซาก จะได้ไม่รู้สึกถูกกระตุ้นให้นึกถึงบุหรี่อีก
(4) คอยระวังและหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นความอยากบุหรี่ และมีแผนจัดการเมื่อเกิดความอยากบุหรี่ เช่น เดินหนีเมื่อเจอคนสูบบุหรี่ปฏิเสธเมื่อเพื่อนชวน ถ้าอยากบุหรี่ให้อมชิ้นมะนาวสดชิ้นเล็กๆ แต่ถ้าไม่สะดวกเตรียมมะนาวสดก็ใช้ลูกอมรสเปรี้ยวทดแทนได้
(5) ให้รางวัลตัวเองเมื่อทำสำเร็จ เช่น ไม่สูบบุหรี่ครบ 1 สัปดาห์จะพาครอบครัวไปฉลอง ครบ 1 เดือนจัดทริปเที่ยวทะเล ครบ 3 เดือนซื้อของขวัญที่เล็งไว้นานแล้ว เป็นต้น
(6) เมื่อเผลอสูบบุหรี่ หรือเกิดความท้อแท้ อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ ระหว่างทางสู่ความสำเร็จอาจจะเกิดความผิดพลาดได้บ้าง ต้องให้อภัยตัวเอง และบอกว่าเราต้องทำได้
การเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อเลิกบุหรี่เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จในการเลิกได้ อย่างไรก็ตามหากเลิกด้วยตนเองไม่สำเร็จก็ยังมียาที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเลิกบุหรี่ได้อีกหลายชนิด เช่น แผ่นแปะหรือหมากฝรั่งนิโคติน ที่ใช้ทดแทนการสูบบุหรี่ และค่อยๆ ลดการใช้จนในที่สุดไม่ต้องใช้ หรืออาจจะใช้ยา bupropion หรือ varenicline โดยการใช้ยานั้นจะต้องมีการปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อเลือกยาที่เหมาะสมที่สุดกับสภาวะของผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ผู้ต้องการเลิกบุหรี่สามารถรับคำปรึกษาเบื้องต้นได้ที่ร้านยาคุณภาพทุกแห่ง หรือหากยังไม่พร้อมที่จะรับคำปรึกษาจากแพทย์ หรือเภสัชกร แบบตัวต่อตัวผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ก็ยังสามารถรับบริการให้คำปรึกษาได้จากศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หรือที่เรียกว่า สายด่วน Quitline ที่หมายเลข 1600 ซึ่งพบว่าการรับบริการด้วยทางเลือกนี้อีกสามารถช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้ถึงร้อยละ 32 ซึ่งเป็นอัตราความสำเร็จที่สูงมาก
หากท่านเกิดความตระหนักถึงผลต่อสุขภาพของการติดบุหรี่ทั้งต่อตนเองและต่อคนรอบข้าง หวังว่าในโอกาสที่ครบรอบวันเลิกสูบบุหรี่โลกในปีนี้จะเป็นเครื่องเตือนใจให้ท่านคิดเลิกบุหรี่อีกสักครั้งหนึ่ง และขอเป็นกำลังใจให้ผู้คิดเลิกบุหรี่ทุกคน ให้เลิกบุหรี่ได้เด็ดขาด รวมถึงไม่ต้องพึงสารเสพติดใดๆ ไม่ว่าจะถูก หรือผิดกฏหมายก็ตาม
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี