ทีเส็บ จับมือภาคี 4 องค์กร พร้อมใจกันยกระดับผลิตภัณฑ์และความสามารถในการบริหารของชุมชน เพื่อผลักดันขอนแก่นเป็นประตูผ้าไหมไทยสู่ตลาดโลก พร้อมนำผ้าไหมไทยสู่เวทีโลกที่ฝรั่งเศสและออสเตรเลีย สานต่อการทรงงานมากว่า 54 ปีของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อพัฒนาผ้าไหมเพื่อสร้างรายได้แก่ประชาชน
ภาคี 5 ฝ่าย ที่มาร่วมมือกันตามแผนดังกล่าว ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) สมาคมไหมไทยและสิ่งทอขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และทีเส็บ ซึ่งจะใช้ความชำนาญที่แตกต่างกันมาส่งเสริมผู้ประกอบการไหมไทยได้อย่างครบกระบวนการ
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของทั้ง 5 หน่วยงานว่า เป็นเจตนาร่วมกันของทุกองค์กรภาคีที่จะร่วมกันผลักดันอุตสาหกรรมไหมไทยไปสู่ตลาดระหว่างประเทศอย่างแท้จริง
“เราเห็นความสำคัญของการทำให้ผ้าไหมก้าวต่อไปเพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับความเป็นอยู่แก่ประชาชน และไม่ลืมว่างานต่างๆ ทั้งด้านพัฒนาคุณภาพ ส่งเสริมตลาด ส่งเสริมมาตรฐาน และอื่นๆ เป็นงานที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงทุ่มเทมาแล้วไม่น้อยกว่า 54 ปี”
ผลที่เกิดขึ้นคือผลิตภัณฑ์ไหมซึ่งเคยเป็นสิ่งทอที่ทำใช้ในครัวเรือน กลายเป็นอาชีพให้แก่เกษตรกรนับแสนคนใน 86,000 ครัวเรือน ทำให้อุตสาหกรรมไหมไทยมีขนาดใหญ่ถึง 6,600 ล้านบาทและมีการต่อยอดไปสู่สินค้าต่างๆ ทั้งในการตกแต่งภายใน เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องสำอางจากโปรตีนไหม เป็นต้น
ในการร่วมมือกันครั้งนี้ ทีเส็บจะใช้ความชำนาญด้านการจัดประชุมและแสดงสินค้ามาสนับสนุนในสองด้านหลัก ได้แก่ การส่งเสริมให้ขอนแก่นเป็นเมืองสำหรับการค้าผ้าไหมจากทั่วประเทศสำหรับผู้ซื้อจากต่างประเทศ โดยการพัฒนาให้เกิดงานเทศกาลไหมนานาชาติอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ เป้าหมายดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของทีเส็บในการกระจายโอกาสการเข้าสู่อุตสาหกรรมไมซ์อย่างทั่วถึง ซึ่งขอนแก่นเป็นหนึ่งในไมซ์ซิตี้อันดับต้นๆ ที่ทีเส็บเข้ามาร่วมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในอีกด้านหนึ่งคือการร่วมกับสมาคมไหมไทยและสิ่งทอขอนแก่นนำผู้ประกอบการและผ้าไหมไทยไปร่วมในงานแสดงสินค้าระดับโลกที่เกี่ยวข้อง เช่น งาน Silk in Lyon ประเทศฝรั่งเศส และงานสิ่งทอ World Cotton Day ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งจะดำเนินการภายในปีนี้ทั้งสองงาน
ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) โดย นายสักก์สีห์พลสันติกุล ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น (CEA ขอนแก่น) กล่าวว่าในฐานะหน่วยงานรัฐที่มีภารกิจส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาห่วงโซ่ของระบบนิเวศสร้างสรรค์ ซึ่งประกอบด้วย แรงงานสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ และนักสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ ให้เป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการนำเอากระบวนการคิด
เชิงออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ที่ผสานต้นทุนทางด้านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น (Creativity & Culture) มาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ โดยในภาคอีสาน CEA เล็งเห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรม (Craft & Design) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่โดดเด่นของภาคอีสาน โดยเฉพาะ “ผ้าไหม” ซึ่งเรามีช่างฝีมือท้องถิ่นที่มีศักยภาพ มีนักสร้างสรรค์ที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการได้อย่างดีเยี่ยม ดังนั้น การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-added) และสร้างสรรค์คุณค่า (Value Creation) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักสร้างสรรค์และช่างฝีมือ จึงเป็นโอกาสให้หน่วยงานของเราได้มีส่วนช่วยยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์เมืองขอนแก่น สู่ระดับภูมิภาคและระดับประเทศต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี