คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า “การเมืองไทยวันนี้เข้าสู่ยุคผลัดใบ” จากการที่มี “คนรุ่นใหม่” เข้ามามากขึ้นในหลากหลายพรรคการเมือง ทั้งในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือในฐานะแกนนำ-ผู้บริหารระดับสูงของพรรค และหนึ่งในนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ถูกจับตามากที่สุด คงหนีไม่พ้น “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกวางตัวให้เป็น “ทายาททางการเมือง” เริ่มปรากฏตัวใน “พรรคเพื่อไทย” และขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อเร็วๆ นี้
รายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2567 มีบทวิเคราะห์และคำแนะนำจาก “นักการเมืองรุ่นพี่” และเป็น “ผู้หญิง” ด้วยกัน อย่าง รัชดา ธนาดิเรก อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ฝากถึง อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ซึ่งต้องบอกว่ามีมุมมองที่น่าสนใจและน่ารับฟัง
รัชดา เริ่มจากการฉายภาพ “จุดเด่น” ของอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร อย่างแรกคือ “ความมุ่งมั่น” เพราะแม้ครอบครัวจะผ่านอะไรมาเยอะ แต่ แพทองธาร ก็ไม่กลัวและเลือกที่จะเข้ามาในการเมือง และจากการแสดงออกก็เห็นถึงความใส่ใจที่จะพัฒนาตนเอง ทั้งในบทบาทหัวหน้าพรรค และการเป็นประธานคณะทำงานต่างๆ และเห็นความตั้งใจที่อยากทำให้ประชาชนเชื่อมั่น ว่าหากวันหนึ่งจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็สามารถทำได้
แต่ในส่วนของ “ความผิดพลาด” คือเรื่องของ “การแสดงออก” ที่หลายครั้งก็มีคำถามว่า “ทำไปเพื่ออะไร?” เพราะสิ่งที่คนซึ่งจะเข้ามาสู่แวดวงการเมืองต้องรู้คือ “รู้ที่จะพูดและไม่พูด” อย่างสมัยที่ตนทำงานในทีมโฆษกรัฐบาล หลายคนอาจคิดว่าวันๆ หนึ่งตนคงอยากจะให้ข่าวหรือพูด
เรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่จริงๆ แล้ว มีหลายเรื่องที่ตัดสินใจว่าไม่พูดดีกว่า เพราะพูดแล้วอาจนำไปสู่การขยายความที่ผิดพลาด หรือทำให้เกิดความแตกแยก
“เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยอคติ แล้วการสื่อสารอาจถูกตัดทอนไป ฉะนั้นทุกอย่างมีความเสี่ยงถ้าเราพูด ดังนั้นก่อนที่จะให้ข้อมูล ก่อนที่จะจับไมค์ หรือจะพูดอะไรในเฟซบุ๊ก แม้กระทั่งเฟซบุ๊กส่วนตัว เราก็ต้องคิดว่าพูดแล้วได้ประโยชน์อะไร ไม่พูด-ไม่โพสต์แล้วจะดีกว่าหรือเปล่า? อย่างกรณีคุณอุ๊งอิ๊ง คุณอยู่ในตำแหน่งที่ใหญ่ขนาดนี้ มันต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบและลึกซึ้งถ่องแท้กว่านี้ แต่หลายๆ ครั้งเราก็จะมีคำถามว่าทำทำไม?” รัชดา กล่าว
หนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก คือการไปพาดพิงบทบาทของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในงาน “10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10” ของพรรคเพื่อไทย ซึ่ง รัชดา ให้ความเห็นกับเหตุการณ์นี้ว่า แม้จะมีการร่างเนื้อหาสำหรับให้ แพทองธารขึ้นพูดบนเวที แต่ก็มีคำถามว่า เนื้อหาที่ถูกร่างนั้นมาจากทัศนคติแบบใด เช่น พูดอะไรแล้วคนอื่นต้องเชื่อ หรือแสดงให้เห็นว่าฉันเป็นคนเก่งและแกร่ง สามารถวิจารณ์ได้แม้แต่ “แบงก์ชาติ” ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่า ทีมงานได้ประเมินสถานะของ แพทองธาร อย่างไร
ซึ่งจริงๆ แล้ว งาน 10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10 ควรเป็นโอกาสเชิงบวกที่จะได้ฉายภาพว่าแม้งบประมาณหรือหลายอย่างเป็นอุปสรรค แต่พรรคก็ได้ขับเคลื่อนอะไรหลายอย่าง แต่การที่คนระดับหัวหน้าพรรคและมีโอกาสจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี กลับแสดงความเห็นว่า ความเป็นอิสระของ ธปท. เป็นอุปสรรคของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ก็น่าจะเล็งเห็นผลได้อยู่แล้วว่าจะมีเสียงสะท้อนอย่างไรจากสังคม ซึ่งไม่ได้มีแต่ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย กระทั่งในภายหลัง แพทองธาร ได้ออกมาชี้แจงว่า ที่พูดไปเพราะอยากให้ ธปท. กับรัฐบาลมีเป้าหมายร่วมกัน
“ทีมคุณอุ๊งอิ๊ง ต้องใช้คำว่าทีมเพราะว่าไม่อยากไปโทษคุณอุ๊งอิ๊งอย่างเดียว มีวิธีการชี้แจงที่ค่อนข้างจะตรรกะวิบัติ วันนี้ประเด็นเขาอยู่ที่ว่าทำไมคุณถึงไปวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมันเป็นหลักสำคัญของสากลในเรื่องของการถ่วงดุลอำนาจ แต่การถ่วงดุลอำนาจไม่ได้แปลว่าธนาคารแห่งประเทศไทยต้องขัดกับรัฐบาล อันนี้เป็นหลักสากลที่ทุกคนเข้าใจ
แล้วก็ไม่มีใครบอกว่าท่านผู้ว่าฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกวิจารณ์ไม่ได้ คุณจะบอกว่าทำไมไม่ลดดอกเบี้ย อันนี้ทุกคนวิจารณ์ได้อยู่แล้ว แต่ประเด็นของคุณคือคุณไปว่าเรื่องความเป็นอิสระ แต่พอมาชี้แจงกับสื่อ ทั้งองคาพยพกลับบิดเป็นประเด็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทยต้องถูกวิจารณ์ได้ มันคนละเรื่อง” อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยกตัวอย่าง
อดีต สส.หญิง พรรคประชาธิปัตย์ ยังยกอีกหลายตัวอย่าง เช่น มีคนจับภาพระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร แล้วมี สส. พรรคเพื่อไทย นั่งดูถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลทีมชาติไทยผ่านเว็บไซต์เถื่อน แล้ว แพทองธารกลับตอบโต้ว่าใครบ้างไม่ดูเถื่อน แทนที่จะบอกว่าทราบเรื่องแล้วเดี๋ยวจะดำเนินการอะไรต่อไป ซึ่งการมีท่าทีแบบนี้เองที่ทำให้แพทองธาร ถูกตั้งคำถามว่ามีความพร้อมแล้วหรือ ซึ่งสำหรับตน ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ ไม่ว่าจะมาจากพรรคใดก็ตาม แม้โดยส่วนตัวจะไม่ถูกใจแต่ก็อยากให้คนคนนั้นมีความสามารถ บริหารเป็น
หรือแม้แต่เรื่องการโพสต์ภาพ ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพ่อในขณะว่ายน้ำเล่นกับหลานที่บ้าน หลังจากเพิ่งได้รับการพักโทษทั้งที่ก่อนหน้านั้น ทักษิณ มีข่าวว่าป่วยหนักจนถูกส่งตัวจากเรือนจำไปรักษาและพักฟื้นที่ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ก็ทำให้สังคมตั้งคำถามได้ว่าเรื่องที่ผ่านมาไม่เป็นความจริงอย่างนั้นหรือ? แต่เรื่องนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับคนเป็นพ่อด้วย หากเป็นพ่อที่หวังดี เข้าใจความรู้สึกว่าของประชาชนว่าบางกลุ่มเขารับไม่ได้ ก็ต้องเตือนลูก
หรือกรณี อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร พาครอบครัวไปพักผ่อนที่ฮ่องกง ทั้งที่มีบทบาทเป็นประธานคณะทำงานด้านการส่งเสริม “ซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power)” อีกทั้งก่อนหน้านั้นยังกล่าวเชิญชวนให้คนไทยออกมาเที่ยวในช่วงสงกรานต์ เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ กลับตอบว่าอยากให้เข้าใจในความเป็นแม่และภรรยาด้วย ซึ่งต้องเข้าใจว่า ที่คนเขาวิจารณ์เขาไม่ได้วิจารณ์เรื่องบทบาทความเป็นแม่ และเข้าใจด้วยว่าเพิ่งคลอดลูกได้ไม่นาน แต่วิจารณ์เรื่องเชิญชวนคนไทยเที่ยวสงกรานต์แต่ตนเองกลับไปเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งมีวิธีการตอบที่ดีกว่านี้ เช่น มีการเตรียมตัวไว้ก่อนแล้วล่วงหน้า
หรือที่มีข่าวว่า ทักษิณไปเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา แล้วแพทองธารก็ยังออกมาสนับสนุน ขณะที่นายกฯ เศรษฐา ตอบแบบอึกอักว่ารู้หรือไม่รู้ ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศก็ออกมาบอกว่าทักษิณไปในนามส่วนตัว แต่ต้องไม่ลืมว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ดังนั้นครอบครัวชินวัตรก็ต้องไปคุยกันให้ดี โดยเฉพาะ ทักษิณชินวัตร หากต้องการให้ลูกสาวประสบความสำเร็จทางการเมืองควรปรับตัวเสียใหม่ หากยังอยากอยู่ในกระแส ก็สามารถทำอย่างอื่นได้โดยไม่เป็นภัยกับลูก เช่น อัดคลิปเลี้ยงหลาน แนะนำผู้สูงอายุกับการอยู่กับคนรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21
รัชดา กล่าวต่อไปว่า อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ถือเป็นคนรุ่นใหม่คนหนึ่งในแวดวงการเมือง ซึ่ง “เรื่องของการเมืองก็คือความเข้าใจหัวอกของพี่น้องประชาชน-เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม” ทุกคนจึงมีโอกาสทำงานตรงนั้น ซึมซับปัญหา และมีทีมงานยกร่างนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา แต่สำหรับคนที่มีตำแหน่ง สส. โดยหน้าที่แล้วก็ต้องอยู่กับประชาชน เช่น หากเปรียบเทียบระหว่าง แพทองธาร กับคนรุ่นใหม่ที่เป็น สส. ของพรรคก้าวไกล สส. นั้นไม่ว่าพรรคใดก็จะอยู่กับพื้นที่ เข้าใจปัญหาและมีทีมงาน
ดังนั้นในส่วนของ แพทองธาร ตนไม่ทราบว่าอยู่ใกล้ชิดกับปัญหาของประชาชนมาก-น้อยเพียงใด เพราะ “การอ่านข่าวหรือมีคนมารายงานก็ไม่เหมือนกับการไปเดินไปนั่งคุยอยู่กับปัญหานั้นอย่างจริงจัง” คืออยู่คนละตำแหน่งกัน สส. ต้องอยู่กับประชาชน แต่แพทองธารเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งอาจบอกว่าเข้าใจปัญหาของประชาชน โดย สส. ในพรรคมารายงานให้ทราบแล้วนำเสนอว่าอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างไร ก็เป็นไปได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเจ้าตัวทำการบ้าน เข้าใจเพียงเหมือนกับคนมาเล่าให้ฟัง หรือว่าฟังด้วยใจ ฟังแล้วได้ยินและคิดตามอย่างเข้าใจ
ส่วนการทำงานที่ผ่านมาของแพทองธาร โดยเฉพาะการเน้นหนักเรื่องการผลักดันซอฟต์ พาวเวอร์ ว่า ซอฟต์พาวเวอร์ต้องใช้เวลา แต่ก็มีคำถามว่า “นิยามคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลนั้นใช่จริงหรือ?” คือคำว่าซอฟต์ พาวเวอร์นั้นดังมาก แต่ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร เช่น นโยบาย “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์ พาวเวอร์” ก็ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ว่าตกลงแล้วแต่ละครอบครัวต้องนำเสนออะไรออกมา อาทิ วิธีการเลี้ยงลูก วิธีการทอผ้า วิธีการทำกับข้าว หรืออะไรที่ต้องการให้กระทรวงมหาดไทยไปขับเคลื่อน
หรืออย่างคำถามว่า อะไรคือซอฟต์ พาวเวอร์ของครอบครัวชินวัตร แล้วอยากให้คนอื่นๆ ในประเทศเอาอย่างอย่างไร ซึ่งจริงๆ ตนก็ให้เวลา เพราะเข้าใจระบบการบริหารราชการ ไม่อยากตัดสินทุกเรื่องว่าไม่เห็นอะไรเลย บางเรื่องกว่างบประมาณจะมา บางเรื่องกว่าจะทำความเข้าใจทุกองคาพยพ ล้วนมีเงื่อนเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่อยากเห็นในฐานะที่ แพทองธาร ดูแลเรื่องซอฟต์ พาวเวอร์ คือการแต่งตัวที่บ่งบอกความเป็นไทยออกงานมากกว่านี้
ซึ่งตนก็เข้าใจหัวอกคนมีเงินและชอบแต่งตัว รู้ว่าอยากแต่งตัวที่เป็นตัวเองและอยากสวย แต่เมื่อมาอยู่บนเส้นทางการเมืองและมีฐานะเป็นประธานซอฟต์ พาวเวอร์ อีกทั้งยังเน้นส่งเสริมผ้าไทย ก็ต้องหาจังหวะและโอกาสนำเสนอ อย่างน้อยคนก็เห็นว่าซอฟต์ พาวเวอร์ คือผ้าไทย แพทองธารนำผ้าไทยที่ถูกมองว่ามีแต่ผู้สูงอายุที่ใช้มาสวมใส่ ซึ่งหากมีคนตัดชุดให้ก็ดูเก๋ แล้วขยับจากผ้าไทยมาเป็นเครื่องประดับ เช่น ต่างหู หยิบมานำเสนอก็สามารถทำได้ แต่เนื่องจากชีวิตปกติทั่วไป อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร สวมใส่แต่เสื้อผ้าแบรนด์เนม
ในทางกลับกัน คนที่ไม่ได้เป็นแฟนคลับของ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร วันหนึ่งเห็น แพทองธาร ไปลงพื้นที่แล้วแต่งตัวธรรมดาๆ และเป็นของไทยๆ เขาก็อาจรู้สึกว่ามันดูดีนะ ก็มีแต้มบวกเกิดขึ้น ตนมองว่าเราต้องลดความรู้สึกว่าก็ฉันมีอิสระหรือฉันก็คนคนหนึ่ง เพราะในเมื่อมาเป็นนักการเมืองและคาดหวังว่าจะมีตำแหน่งสูง ก็ต้องคิดว่าประชาชนจะมองตัวเราอย่างไร
“มันไม่ใช่เรื่องผิด แต่วันนี้คุณทำงานภายใต้ประธาน มีบทบาท ว่าที่อาจจะเป็นนายกฯ หญิง คนก็คาดหวังแล้วพอมาเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ที่มันเชื่อมกับเรื่องของการแต่งตัว ทุกคนก็อยากเห็นว่า อ้าว!..แล้วอย่างไรล่ะ? แล้วพอเป็นนักการเมือง ทั้งหมวกทั้งเสื้อ คนก็ทำเป็นคอนเทนต์คอยวิจารณ์ แล้วมันก็ไม่เป็นบวกกับตัวเองอันนี้พูดในลักษณะของการติเพื่อก่อ เพราะไม่อยากให้นักการเมืองคนไหนก็ตาม โดยเฉพาะผู้หญิง ถูกจับจ้องในเรื่องเล็กๆ แบบนี้ แต่เล็กๆ แบบนี้ มันค่อยๆ กัดกร่อนความนิยมของนักการเมืองไปทีละนิดๆ” รัชดา กล่าว
ในช่วงท้าย ในฐานะรุ่นพี่ผู้อาวุโสกว่า รัชดา ให้ข้อสรุปและคำแนะนำว่า อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร เป็นคนเข้มแข็ง แต่ก็อยากให้ปรับปรุงตัว อะไรที่ไม่ดีก็แก้ไขเสีย ถือว่ายังมีเวลา ส่วนข้อครหาต่างๆ ที่มักหยิบยกมาพูดถึงเสมอเมื่อกล่าวถึงอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร อยากให้มองไปข้างหน้า ในเมื่อตั้งใจจะทำงานการเมืองแล้วก็ขอให้คิดในสิ่งที่ถูกที่ควร ขณะที่ทีมงานก็อย่าอวยอย่าโอ๋ อะไรที่ไม่ดีก็ให้จบไปเพราะไม่สามารถแก้ไขได้แต่หลังจากนี้จะทำอะไรขอให้คิดให้มากๆ ขอให้คิดถึงหัวใจคนไทย เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะรัก อีกทั้งยังมีประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวดกับครอบครัวนี้
“คุณสามารถทำตัวให้เขายอมรับได้ แต่มันก็ต้องปรับวิธีคิดด้วย” รัชดา ฝากทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี