องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันดื่มนมโลก (World Milk Day) เนื่องจากนมและผลิตภัณฑ์จากนมนั้นมีความสำคัญต่อโภชนาการตลอดทุกช่วงชีวิตของคนเรา
ข้อมูลจาก อ.ดร.จันทร์จิรา โพธิ์สัตย์ ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า นม เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ เป็นแหล่งพลังงานและสารอาหารที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโต โดยสารอาหารสำคัญที่ประกอบอยู่ในนม เช่น น้ำตาลแล็กโตสซึ่งเป็นกลุ่มสารอาหารคาร์โบไฮเดรต โปรตีนเวย์และเคซีนซึ่งมีกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายต้องการ โดยนมที่ได้จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น นมวัว มักจะมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนมากกว่าผลิตภัณฑ์นมจากพืชและสารอาหารหลักอีกประเภทที่พบในนม ได้แก่ ไขมัน ซึ่งมีทั้งไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัว และคอเลสเตอรอล
นอกจากนี้ นมยังประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายมากมาย เช่น วิตามินเอ ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการมีบทบาทในการดูแลรักษาสุขภาพตา ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน วิตามินดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง ช่วยส่งเสริมการทำงานของสมอง ส่งเสริมการทำงานของระบบไหลเวียนเลือด ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ วิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวิน ช่วยบำรุงรักษาผิวหนัง เส้นผม เล็บ ป้องกันการเกิดโรคปากนกกระจอก ช่วยการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและไขมัน วิตามินบี 12 มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทและสมอง ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะสมองเสื่อมโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ป้องกันการเกิดอาการโลหิตจาง ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
สำหรับแร่ธาตุสำคัญที่ประกอบอยู่ในนม เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และแมกนีเซียม เป็นแร่ธาตุที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน ส่งเสริมการทำงานของระบบหัวใจและระบบประสาท มีส่วนช่วยในการส่งสัญญาณประสาทไปยังกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย
ช่วยให้กล้ามเนื้อบีบและคลายตัวได้อย่างเหมาะสม ลดการบีบรัดตัวของเส้นเลือดส่งผลให้ความดันเลือดปกติ มีบทบาทในกระบวนการสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อภายในร่างกาย และยังช่วยรักษาสมดุลกรด-เบส ภายในร่างกาย ทำให้ระบบการทำงานของเซลล์ต่างๆ ทำงานได้อย่างปกติ และที่สำคัญแร่ธาตุเหล่านี้ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า นมเป็นแหล่งอาหารที่ควรบริโภคเพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารสำคัญอย่างครบถ้วนและหลากหลาย เพื่อการมีสุขภาพที่ดี ส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างสมวัยและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งการบริโภคนมควรเลือกผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคล โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำการดื่มนมในแต่ละกลุ่ม ดังนี้
n หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ควรดื่มนมรสจืดทุกวัน วันละ 2-3 แก้ว (แก้วละ 200 มิลลิลิตร) เพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูกและช่วยการในเจริญเติบโตของทารก โดยหากดื่มนมแล้วมีอาการท้องอืด แน่นท้อง อาจปรับโดยดื่มทีละน้อยแล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณ หรือเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมประเภทอื่นๆ แทน เช่น โยเกิร์ตชนิดธรรมดาที่ไม่มีการปรุงแต่งรสมีปริมาณน้ำตาลน้อย
n เด็กอายุ 1-3 ปี ควรดื่มนมรสจืด วันละ 2 แก้ว (แก้วละ 200 มิลลิลิตร) เสริมจากนมแม่ และเด็กอายุ 4-5 ปี ควรดื่มนมรสจืด วันละ 2-3 แก้ว (แก้วละ 200 มิลลิลิตร) หลีกเลี่ยงนมที่มีการปรุงแต่งรสชาติเพื่อลดความเสี่ยงการบริโภคน้ำตาลมากเกินความต้องการของร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กมีน้ำหนักเกินหรืออ้วน และมีโอกาสเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในอนาคตได้
n เด็กวัยเรียน อายุ 5-18 ปี ควรดื่มนมรสจืด วันละ 2-3 แก้ว (แก้วละ 200 มิลลิลิตร) ซึ่งอาจจัดเป็นอาหารว่างให้เด็กทุกวัน วันละ 2 มื้อเนื่องจากนมจัดเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสม ไม่หวานจัด ไม่เค็มจัด และไม่มีไขมันสูง และควรให้ดื่มก่อนอาหารมื้อหลัก 90-120 นาที
n ผู้ใหญ่ ควรเลือกดื่มนมรสจืด พร่องมันเนยหรือขาดมันเนย (ไขมัน 0%) วันละ 1-2 แก้ว (แก้วละ 200 มิลลิลิตร) หลีกเลี่ยงการดื่มนมที่มีการปรุงแต่งรสชาติ นมเปรี้ยว ที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เนื่องจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินความต้องการจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น
n ผู้สูงอายุ ควรดื่มนมอย่างน้อยวันละ 1-2 แก้ว (แก้วละ 200 มิลลิลิตร) โดยเลือกดื่มนมรสจืดพร่องมันเนยหรือนมขาดมันเนย หรือในบางรายที่ไม่สามารถดื่มผลิตภัณฑ์นมจากสัตว์ได้ อาจเลือกดื่มนมถั่วเหลืองที่มีน้ำตาลน้อย เพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีนที่มีคุณภาพ ลดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ป้องกันกล้ามเนื้อลีบ ลดการได้รับปริมาณไขมันและน้ำตาลเกินความต้องการของร่างกาย ป้องกันการเกิดภาวะอ้วนและความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และยังช่วยให้ร่างกายได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ ป้องกันภาวะกระดูกพรุนอีกด้วย
n ผู้ที่ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูงโรคเบาหวาน ควรเลือกดื่มนมรสจืดพร่องมันเนยหรือขาดมันเนย หรือเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่มีการปรุงแต่งรสชาติและมีปริมาณไขมันต่ำ
สำหรับการเลือกนมและผลิตภัณฑ์จากนมในการบริโภคเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ผู้บริโภคควรอ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้งหรืออาจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีตราสัญลักษณ์ “อาหารรักษ์หัวใจ” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์อาหารไทยหัวใจดี ที่ส่งเสริมให้ลดความหวาน ความเค็ม และไขมัน จึงช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ได้
สำหรับ ตราสัญลักษณ์ “อาหารรักษ์หัวใจ” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอาหารไทยหัวใจดี ของมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถูกก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคง่ายในการเลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเมื่อบริโภคในปริมาณที่แนะนำตามหลักโภชนาการ ปัจจุบันโครงการอาหารไทย หัวใจดี ได้ครบรอบ 20 ปี และมีการปรับเปลี่ยนโลโก้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนผ่านอาจพบผลิตภัณฑ์ที่มีตราสัญลักษณ์เก่าได้ในท้องตลาด สำหรับผู้บริโภคที่กำลังมองหาทางเลือกในการดูแลสุขภาพ มองหาสัญลักษณ์ “อาหารรักษ์หัวใจ” ได้ที่ผลิตภัณฑ์
ข่าวประชาสัมพันธ์จาก ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ในการรณรงค์ส่งเสริมให้ผู้บริจาคโลหิตมีการบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้ง การบริจาคโลหิต เป็นการสละโลหิตส่วนที่ร่างกายยังไม่จำเป็นต้องใช้มาให้กับผู้ป่วย โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ แก่ร่างกาย ทั้งนี้ ขอเชิญร่วมบริจาคโลหิตทั่วประเทศ ได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ และหน่วยรับบริจาคโลหิตประจำที่ ได้แก่ สถานีกาชาด 11 วิเศษนิยม (บางแค) เดอะมอลล์ สาขาบางแค สาขาบางกะปิ สาขางามวงศ์วาน สาขาท่าพระ ศูนย์การค้าดิ เอ็มโพเรียม และบ้านทรงไทย (ย่านวงศ์สว่าง) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายจัดหาผู้บริจาคโลหิตและสื่อสารองค์กร ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โทร.02-2564300, 02-2639600-99ต่อ 1101, 1760, 1761
ผศ.(พิเศษ)ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์
ประธานกรรมการ มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี