นฤมิตไพรด์ พร้อมคณะทำงานสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน และพันธมิตรภาคประชาสังคม จัดกระหึ่มงาน “แรลลี่ทั่วกรุง ฉลองสมรสเท่าเทียม” Celebration of Love ที่พร้อมโบกสะบัดธงไพรด์สีรุ้ง ประกาศชัยชนะวันแห่งประวัติศาสตร์ของ LGBTQIAN+ ฉลองกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านฉลุย หลังวุฒิสภาลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม (ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ….) และรอมานานกว่า 20 ปี ให้การแต่งงานของทุกเพศได้รับการรับรองสิทธิตามกฎหมาย พร้อมเดินหน้าจัดจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมกว่า 1,000 คู่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในเดือนตุลาคม 2567 นี้ หลังรอการลงนามในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน
Pride Month เดือนมิถุนายน 2567 ถือเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง เดือนแห่งความภาคภูมิใจ และเดือนแห่งวันประวัติศาสตร์ ชัยชนะของสมรสเท่าเทียมของเหล่า LGBTQIAN+ โดยกิจกรรม “แรลลี่ทั่วกรุง ฉลองสมรสเท่าเทียม” เริ่มปักหมุดที่รัฐสภา โดยภาคประชาชนกว่า 100 คน แถลงข่าวความพร้อมของการเข้าร่วมพิจารณาสมรสเท่าเทียมในวุฒิสภา พร้อมจัดขบวนแรลลี่เดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อร่วมกิจกรรม “สมรสเท่าเทียม” โดยการรับรองจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน จากนั้นเดินทางไปร่วมกิจกรรม “สมรสเท่าเทียม ชัยชนะประชาชน” ฉลองชัยชนะของสมรสเท่าเทียม พร้อมเปิด “สัญลักษณ์สมรสเท่าเทียม” บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของภาคประชาชนที่ดำเนินมาตลอดหลายปี ได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่สำคัญ และนำไปสู่ความเป็นธรรม ความเสมอภาคในทุกระดับของสังคม โดยบรรยากาศการเฉลิมฉลองทั้งภายในทำเนียบรัฐบาล และบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและดีใจของกลุ่มผู้สนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม กลุ่ม LGBTQIAN+ กลุ่ม DRAG QUEEN ดารานักแสดง คู่รัก LGBTQIAN+ อินฟลูเอนเซอร์ และคนดังในแวดวงการเมืองมากกว่า 1,000 คน พร้อมใจกันโบกสะบัดธงไพรด์สีรุ้งกันกระหึ่ม! เพื่อประกาศให้โลกรู้ถึงความ “เท่าเทียม” และความเสมอภาคทางเพศในประเทศไทย
วาดดาว-อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง นฤมิตไพรด์ ในฐานะผู้จัดงาน “Bangkok Pride Festival 2024” และผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กล่าวว่า “ความสำเร็จในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมที่เท่าเทียม และการเคารพในความหลากหลายทางเพศ ซึ่งการจัดกิจกรรม “สมรสเท่าเทียม ชัยชนะประชาชน” ครั้งนี้ ถือเป็นการประกาศชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของสมรสเท่าเทียม ของชาว LGBTQIAN+ ซึ่งวันนี้คือวันสำคัญที่สุด วันที่เรารอคอยมานาน หลังจากที่นักเคลื่อนไหวรุ่นพี่ๆ สู้เรื่องการจัดตั้งครอบครัวมานานกว่า 20 ปี แต่ความเข้มข้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2017 หรือ 2560 หรือประมาณ 7 ปีที่ผ่านมา ที่เราปักหลักกับคำว่าสมรสเท่าเทียม และยื่นให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะมันสำคัญมากสำหรับคู่ชีวิตทุกรูปแบบและทุกเพศ โดยส่วนตัวมองว่า กฎหมายครอบครัวไม่ควรจำกัดแค่เพศชายหรือเพศหญิงเท่านั้น และเชื่อว่าเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว ทุกคนจะออกมาแสดงตัวตนอย่างภาคภูมิใจมากขึ้น”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี