หนึ่งในอาการน่ารำคาญ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรืออาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นทำให้ทุกข์ทรมานคืออาการปวด ซึ่งพบได้ทั่วไป และเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ
อาการปวดอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การใช้งานกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งหนักเกินไปการถูกกระทบกระแทกอย่างรุนแรง หรือเกิดจากโรคประจำตัวบางอย่างแล้วทำให้เกิดการอักเสบ เช่น โรคทางระบบประสาท โรคเบาหวาน เป็นต้น
อาการปวดบางอย่างมักเป็นๆ หายๆ เช่น ปวดศีรษะไมเกรน ปวดประจำเดือน แต่ถ้าอาการปวดนั้นกินเวลานานกว่า 6 เดือน จะถือว่าเป็นอาการเรื้อรัง สาเหตุที่พบบ่อย เช่น โรคข้ออักเสบ ข้อเสื่อม หมอนรองกระดูกเสื่อม กลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม การบาดเจ็บเรื้อรัง และโรคมะเร็ง
หนึ่งในวิธีที่ใช้บรรเทาอาการปวดมากที่สุด คือการรับประทานยาแก้ปวด ยาที่นิยมใช้มากที่สุดสำหรับการบรรเทาอาการปวดในระดับปานกลาง ได้แก่ พาราเซตามอล แต่มีข้อควรระวังสำหรับการใช้ยานี้คือ ห้ามรับประทานเกินวันละ 8 เม็ด (2 กรัม) และห้ามใช้ติดต่อกันเกิน 5 วัน เพราะเป็นอันตรายต่อตับ อย่าลืมว่าตับมีหน้าที่เปลี่ยนแปลงยาพาราเซตามอลให้เป็นสารที่ไม่มีพิษ กล่าวโดยสรุปแล้ว อัตราสูงสุดที่ตับสามารถรับมือกับปริมาณยาพาราเซตามอลได้ คือไม่เกินขนาดและระยะเวลาวันละ 2 กรัม ห้ามใช้ติดต่อกันเกิน 5 วัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ยาตัวนี้บางรายมีความเสี่ยงมากกว่าปกติ คือ กลุ่มคนเป็นโรคตับอยู่เดิม คนดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำสม่ำเสมอ
ถึงแม้ว่าพาราเซตามอลจะสามารถบรรเทาอาการปวดในระดับปานกลางได้ดี แต่กรณีที่เป็นความปวดระดับรุนแรง หรือรับประทานยาพาราเซตามอลแล้วไม่ได้ผล ยาอีกกลุ่มที่ถูกเลือก คือยาในกลุ่ม NSAIDs หรือยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ที่ถูกใช้บ่อยคือ ไอบูโพรเฟน นาพร็อกเซนไดโคลฟีแนก เป็นต้น
จริงอยู่ที่ยาเหล่านี้อาจมีฤทธิ์ลดความปวดได้มากกว่าพาราเซตามอล แต่ในแง่ของความปลอดภัยยากลุ่มนี้มีข้อควรระวังที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมหลายอย่าง เช่น โอกาสแพ้ยาที่พบได้มากกว่า อาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร พิษต่อไตและตับ ซึ่งหมายความว่า หากเป็นอาการปวดเรื้อรังที่ต้องกินยาต่อเนื่อง การใช้ยากลุ่มนี้อาจไม่เหมาะ หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัวและผู้สูงอายุ ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ หรือเภสัชกรอย่างใกล้ชิด
ปัญหาที่พบบ่อยเมื่อใช้ยาบรรเทาปวดด้วยตนเองคือ เช่น ใช้ยาซ้ำซ้อน ตัวอย่างคือใช้ยาพาราเซตามอลร่วมกับยาบรรเทาปวดคลายกล้ามเนื้อสูตรพาราเซตามอลผสมยาคลายกล้ามเนื้อ ทำให้ได้รับยาพาราเซตามอลในขนาดที่สูงเกินไป หรืออีกกรณีที่พบบ่อยคือ การใช้ NSAIDs พร้อมกันมากกว่า 1 ชนิด นอกจากไม่เพิ่มประสิทธิภาพของยา เพราะไม่ช่วยลดการปวดอักเสบแล้ว ยังทำให้เกิดอันตรายจากอาการไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น
ผู้ป่วยสูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ไปรักษาตัวที่ห้องฉุกเฉิน เพราะภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือไตวายเฉียบพลัน จากการใช้ยาชุดบรรเทาปวด หลังจากดูรายละเอียดในยาชุด พบว่ายาชุดประกอบด้วย NSAIDs 2 ชนิด และมียาสเตียรอยด์ด้วย ซึ่งเพิ่มอันตรายมากขึ้นไปอีก
สรุป พาราเซตามอล และ NSAIDs เป็นยาบรรเทาปวดที่มีความปลอดภัยระดับหนึ่ง ดังนั้นต้องใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวัง ในกรณีที่มีอาการปวดเรื้อรัง ปวดรุนแรง ต้องได้รับการดูแลการใช้ยาจากแพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อประสิทธิผลการรักษา และความปลอดภัยสูงสุด
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี