ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงเป็นขัตติยนารีผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถ พระจริยวัตรที่งดงาม และพระเมตตาที่มากล้น ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ สร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ทรงเป็นผู้นำที่ทรงมีบทบาทสำคัญ ในวงวิชาการวิทยาศาสตร์โลก ผลงานในพระองค์ล้วนเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติจนทรงได้รับการถวายพระสมัญญานามว่า “เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์” ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศ ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่ทรงก่อตั้งขึ้นตั้งแต่พุทธศักราช 2530 ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญนำไปสู่งานวิจัยหลากหลายด้าน ทั้งเพื่อการวินิจฉัย การป้องกัน และการรักษาโรค อันเป็นการส่งเสริมสุขภาพอนามัยและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน
กว่า 3 ทศวรรษที่องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงมุ่งมั่นสร้างองค์ความรู้ด้านการศึกษาวิจัย วิชาการ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตลอดจนการพัฒนางานวิจัยและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ผ่านโครงการวิจัยเชิงบูรณาการรอบด้าน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแนวพระนโยบายและการดำเนินงานวิจัยส่วนหนึ่งได้สอดคล้องกับแนวคิดหลักสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Concept) ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) อันเป็นแนวคิดและวิธีการแก้ไขปัญหาสุขภาพแนวทางใหม่ ที่ได้รวมแนวทางปฏิบัติทั้งด้านสุขภาพคน สัตว์ และ
สิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย ดังผลสัมฤทธิ์จากงานวิจัยและวิชาการที่ทรงดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องในหลายโครงการ ซึ่งได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์และนำไปสู่การยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกัน การสนับสนุนพัฒนางานด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ถือเป็นหัวใจหลักสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชนองค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์จึงมีพระนโยบายให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มุ่งบูรณาการงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างนวัตกรรมและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่อยู่เสมอ ดังเรื่องการวิจัยและพัฒนายารักษาโรค ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ด้วยพระอัจฉริยภาพในฐานะที่ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางด้านเคมีและวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ ด้วยทรงใช้พระปรีชาสามารถ และพระประสบการณ์ในการวางรากฐานเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านยาให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ยาต้านโรคมะเร็ง”
ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลต่อการแก้ปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชน ทรงตระหนักถึงความสำคัญในการคิดค้นพัฒนายา เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ความมั่นคงทางยาที่มีนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าและยั่งยืน อีกทั้งยังทรงแสวงหาความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และภาคเอกชนชั้นนำระดับโลกในหลายประเทศ ตลอดจนทรงริเริ่มจัดทำโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุที่ได้มาตรฐานภายในประเทศไทย จึงนำมาสู่การจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและพัฒนา
ชีววัตถุ” สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (CRI’s Center for Biologics Research and Development - CBRD) ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานวิจัยและพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งสามารถนำไปใช้รักษาโรคต่างๆ อีกทั้งยังมีการพัฒนาบุคลากรควบคู่ไปด้วย จากพระนโยบายและพระวิสัยทัศน์ ทำให้คณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนายาชีววัตถุคล้ายคลึง “ทราสทูซแมบ” (Trastuzumab) ที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการเตรียมข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนยา ถือเป็นนวัตกรรมด้านยาชีววัตถุชิ้นแรกของประเทศไทย โดยนักวิจัยชาวไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งการพัฒนายาต้านมะเร็งนี้ ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจวบจนปัจจุบัน
นอกจากนี้ ทรงมุ่งมั่นในการศึกษาค้นคว้าและพัฒนางานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทางแก้ไขและป้องกันผลกระทบของสารพิษ หรือมลพิษที่เกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลงานวิจัยที่ผ่านมาได้เป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง อาทิ การศึกษาวิจัยเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกิดจากการได้รับมลพิษทางอากาศ การศึกษาวิจัยถึงผลกระทบของสารเคมีที่มีคุณสมบัติก่อมะเร็ง ได้แก่ สารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม หรือสารที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมดังเช่น “สารหนู” ทั้งนี้ กลไกการเกิดของสารพิษต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง และเป็นอันตรายต่อชีวิตหากสัมผัสเป็นเวลานาน อีกทั้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถก่อให้เกิดโรคเรื้อรังชนิดต่างๆ ได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับระบบการหายใจ ระบบหัวใจ และการไหลเวียนของเลือด เป็นต้น
อีกหนึ่งพระกรณียกิจสำคัญขององค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพอนามัยประชาชนแบบองค์รวมและทั่วถึง ในฐานะประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ได้เสด็จไปทรงงานด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนทั่วประเทศ ในการให้บริการออกตรวจรักษาโรค และฟื้นฟูสุขอนามัยของประชาชนผู้เจ็บป่วยที่ยากไร้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าถึงการให้บริการด้านสาธารณสุขที่ดีและทั่วถึง
พร้อมกันนี้ ยังทรงให้ความสำคัญครอบคลุมไปถึงชีวิตและสุขภาพอนามัยที่ดีของสัตว์ ด้วยทรงตระหนักถึงปัญหาและภัยร้ายแรงของโรคติดต่อจากสัตว์ที่สามารถแพร่ระบาดมาสู่คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหา “โรคพิษสุนัขบ้า”ที่สามารถคร่าชีวิตทั้งคนและสัตว์ได้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ด้วยเหตุนี้ จึงทรงรับเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธานฯ” และโปรดให้มีการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ทั่วประเทศภายใต้โครงการฯ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงและสัตว์ไร้ที่พึ่งได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างถูกวิธี ทั้งการให้บริการฉีดวัคซีน การผ่าตัดทำหมัน ตลอดจนการจัดฝึกอบรมแบบบูรณาการ เผยแพร่ความรู้ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าสู่ชุมชนตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เพื่อกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย
จากพระกรณียกิจการทรงงานอันหลากหลายด้านที่ทรงอุทิศพระองค์ด้วยความวิริยอุตสาหะมาอย่างยาวนานทำให้ทรงเห็นถึงความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งของสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม กอปรกับทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ จึงทรงมีพระดำริให้จัดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์(The 9th Princess Chulabhorn International Science Congress - PC) ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ “ความท้าทายของสุขภาพหนึ่งเดียว : บทบาทของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี” (The Challenges of One Health : The Roles of Biosciences and Chemistry) ระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 และเพื่อเป็นเวทีการประชุมระดับนานาชาติครั้งสำคัญที่จะเน้นบทบาทของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี กับการแก้ปัญหาความท้าทายของสุขภาพหนึ่งเดียว ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำแนวความคิดดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาองค์ความรู้อย่างบูรณาการระหว่างสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ทั้งการแพทย์ การสัตวแพทย์ และอนามัยสิ่งแวดล้อม ถือเป็นพระนโยบายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแสวงหาและทำให้เกิดความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัย การเผยแพร่ข้อมูล การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความก้าวหน้าของงานวิจัยตามแนวคิดหลักสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Concept) ระหว่างนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการในสาขาต่างๆ รวมทั้งมีความพยายามในการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสหสาขาวิชาชีพทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องจากทั่วทุกมุมโลกเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพอนามัยที่ดีให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างงานวิจัยใหม่ๆ รองรับวิกฤตการณ์โรคต่างๆ และแก้ไขปัญหาสุขภาพของคนสัตว์ และสิ่งแวดล้อม การพัฒนาองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในวงการวิทยาศาสตร์และวิชาการ รวมทั้งการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศในทุกมิติ ล้วนก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อประเทศชาติและประชาชน พระกรณียกิจที่ทรงอุทิศพระองค์ทรงงานด้านวิทยาศาสตร์และการสาธารณสุขล้วนเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติอย่างต่อเนื่อง
ในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ศาสตราจารย์ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเจริญพระชนมายุ 67 พรรษา วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน สถิตเป็นมิ่งขวัญร่มเกล้าแก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยสืบไป
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เชิญชวนร่วมลงนามถวายพระพร ร่วมกิจกรรมทำความดีถวายพระกุศล วันคล้ายวันประสูติ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีฯ
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ขอเชิญชวนผู้รับบริการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์และประชาชนร่วมลงนามถวายพระพรและร่วมกิจกรรมทำความดีถวายพระกุศล พร้อมร่วมชื่นชมพระอัจฉริยภาพผ่านนิทรรศการ “สิริศิลป์ศรีจักรีจุฬาภรณ์” ดั่งดอกไม้บาน นิทรรศการเนื่องในโอกาส วันคล้ายวันประสูติ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.00-15.00 น. ณ ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง
สานหัวใจแบ่งปันร่วมบริจาคสมทบทุนสนับสนุนผลิตภัณฑ์การกุศล SIRISINLAPIN Art for Life ชุด “ดอกไม้และผีเสื้อ” สมทบทุนมูลนิธิศรีสวางควัฒน ในพระอุปถัมภ์ฯ นำรายได้ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนและด้อยโอกาส และสนับสนุนการจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อโรงพยาบาลจุฬาภรณ์
สานต่อพระปณิธานร่วมกิจกรรมทำความดีถวายพระกุศล ในโอกาสวันคล้ายวันประสูติองค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้วยการบริจาคโลหิตกับสภากาชาดไทย บริจาคดวงตา ศูนย์เทคโนโลยีจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย และบริจาคอวัยวะ ศูนย์รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับสภากาชาดไทย
พิเศษกับ WORKSHOP ศิลปะบำบัด “ดั่งดอกไม้บาน” แรงบันดาลใจต้นแบบจากภาพวาดฝีพระหัตถ์องค์สิริศิลปิน สานพลังใจเพื่อผู้ป่วยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ในกิจกรรมศิลปะบำบัด วาดภาพระบายสี “ดอกไม้” บนถุงผ้า พร้อมรับกลับเป็นที่ระลึก จำนวนจำกัด 100 ชุด (ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี