วิวัฒน์ ฐิติรัตนอัศว์
กรมชลประทาน เดินหน้าเพิ่มพื้นที่ป่าลดโลกร้อน ด้วยกิจกรรม “ปลูกป่า 4,072 กล้าถวายองค์ราชา ปวงประชาร่วมใจต้านโลกร้อน”บนเนื้อที่กว่า 20 ไร่ ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำแชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ และเป็นพื้นที่นำร่องปลูกป่าในพื้นที่ชลประทาน มุ่งสู่โครงการคาร์บอนเครดิต
นายวิวัฒน์ ฐิติรัตนอัศว์ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 8นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกันเป็นประธานโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจภายใต้มาตรฐานของประเทศไทย ภายใต้ “กิจกรรมปลูกป่า 4,072 กล้า ถวายองค์ราชา ปวงประชาร่วมใจต้านโลกร้อน” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำแชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา โดยมีผู้แทนส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ นักเรียน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่าครั้งนี้ด้วย
นายวิวัฒน์ ฐิติรัตนอัศว์ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน กล่าวว่า ปัจจุบันประชาคมโลกกำลังเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันตั้งกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกำหนดแนวทางรับมือต่อปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมอนุสัญญาดังกล่าว เมื่อปี 2535 ซึ่งในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) ประเทศไทย ได้ให้ถ้อยแถลงเพื่อยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดแก่การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมที่จะยกระดับการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ได้ ในปี ค.ศ. 2065
กรมชลประทาน ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงกำหนดนโยบายดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนปฎิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2566-2570 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตัน โดยกรมชลประทานได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในส่วนของการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งร่วมกับ กรมการข้าว อันที่จริงแล้วกรมชล ได้ริเริ่มเรื่องของการทำนาเปียกสลับแห้งมาตั้งแต่ปี 2558 ต่อมาในปี 2559 ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2 และได้รับรางวัล WatSave Awards ในปี 2559 และได้มีการจัดทำคู่มือการทำนาเปียกสลับแห้งแกล้งข้าวเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ในการปลูกข้าวด้วย
หัวใจของการทำนาเปียกสลับแห้ง คือการควบคุมน้ำในแปลงนาให้มีช่วงน้ำขัง สลับกับช่วงน้ำแห้ง สลับกันไปในช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากข้าวไม่ได้ต้องการให้น้ำขังในนาตลอดเวลาแต่จะต้องการเฉพาะช่วงที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต กรมชลฯได้มีการเก็บข้อมูลการทำนาเปียกสลับแห้งในพื้นที่ชลประทานในช่วงปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็พบว่าเกษตรกรหันมาทำนาเปียกสลับแห้งมากขึ้น อีกทั้งเกษตรกรที่ได้เข้าร่วมโครงการก็มีความพอใจอย่างยิ่ง นอกจากที่จะช่วยลดปริมาณน้ำลงจากเดิมที่เคยใช้น้ำไร่ละ 1,200 ลูกบาศก์เมตร เหลือประมาณไม่เกิน 860 ลูกบาศก์เมตร ลดการใช้ปุ๋ยได้ร้อยละ 30-40 ต่อไร่ และที่สำคัญทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 ไร่อีกด้วย และนอกจากนี้ กรมชลฯยังได้มีการศึกษาทดลองที่จังหวัดสุพรรณบุรี ว่า การทำนาเปียกสลับแห้งนั้นสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนได้เป็นปริมาณเท่าไหร่ โดยในขณะนี้การศึกษาทดลองมีความก้าวหน้ามากกว่า 70% แล้ว
นักเรียนในพื้นที่ร่วมปลูกป่า
นอกเหนือจากการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ แล้ว กรมชลประทานยังได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ “การบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ : มาตรการทดแทนปูนเม็ด” เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมทางหลวง กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวงชนบท เป็นต้น โดยกรมชลประทานได้นำมากำหนดให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 1 ในการก่อสร้างโครงการ
นายวิวัฒน์ ฐิติรัตนอัศว์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมชลประทานได้เล็งเห็นอีกแนวทางหนึ่งในการที่จะร่วมขับเคลื่อนให้การลดก๊าซเรือนกระจกไปสู่เป้าหมาย ได้แก่ การปลูกป่า
เนื่องจากกรมชลประทานมีโครงการชลประทานอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ มีพื้นที่ที่จะสามารถนำมาปลูกป่าได้ โดยที่ผ่านมากรมชลประทานมีกิจกรรมการปลูกป่าอย่างต่อเนื่อง อาทิ การปลูกป่าเนื่องในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา งานวันเกิดกรมชลประทาน รวมทั้งกิจกรรมปรับภูมิทัศน์และเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยในปี พ.ศ.2567 นี้เป็นโอกาสมหามงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา กรมชลประทานได้จัดทำโครงการ ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย มีพื้นที่นำร่องที่โครงการอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ .ครบุรี จ.นครราชสีมา โดยได้จัดให้มีกิจกรรมปลูกป่า 4,072 กล้า ถวายองค์ราชา ปวงประชาร่วมใจต้าน โลกร้อน เพื่อสนองพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอดด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และยังเป็นการแสดงเจตนารมณ์การมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกิจกรรมด้วย
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำลำแชะนี้มีการปลูกป่ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 ปลูกป่า ไปแล้วประมาณ 38 ไร่ รวมทั้งมีกิจกรรมปรับภูมิทัศน์และเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วย โดยในปีนี้จะมีการปลูกป่าเพิ่มประมาณ 20 ไร่ ต้นไม้ที่นำมาปลูกในวันนี้มีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ ยางนา มะค่าโมง ประดู่ป่า และพะยูง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่โครงการอ่างเก็บน้ำลำแชะได้ช่วยกันเพาะกล้าส่วนหนึ่ง และในปีหน้าก็จะมีการปลูกต่อเนื่องอีก ทั้งนี้ กรมชลประทานมีแผนที่จะขยายพื้นที่ปลูกป่าให้มากยิ่งขึ้น โดยจะให้โครงการชลประทานในแต่ละท้องที่สำรวจสภาพพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถนำมาปลูกป่าได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี