นับเป็นความปีติยินดียิ่งของปวงชนชาวไทย เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดชสยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงราชย์และเฉลิมพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามพระราชประเพณี ในห้วงเวลาวันที่ 4-6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติและราชอาณาจักร ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของแผ่นดินไทย เนื่องจากเป็นพระราชพิธีสำคัญเพื่อการเสด็จขึ้นครองราชย์โดยสมบูรณ์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พร้อมทั้งทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอดและครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระประมุข ทรงเป็นศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชบุพการีทั้งสองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้ทรงกระทำบำเพ็ญมาแล้วอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการอย่างต่อเนื่องในการพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ตลอดจนการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรของพระองค์ ทรงน้อมนำแนวพระราชดำริและพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาทรงปฏิบัติ ทรงแสดงความมุ่งมั่นพระราชหฤทัยที่จะทรง “สืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด ทั้งด้วยพระราชดำรัส พระบรมราโชบาย แนวพระราชดำริตลอดจนพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งปวง
สืบสาน คือทรงนำองค์ความรู้ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาสืบสานในการทรงงาน รักษา คือพระราชทานพระราชดำริแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้เกิดความยั่งยืน ต่อยอด คือสานต่อโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้สัมฤทธิผลตามพระราชประสงค์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงใส่พระราชหฤทัยในสุขทุกข์ของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ทรงรับเป็นพระราชภารกิจสำคัญที่จะดูแลประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ยากลำบากเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในประเทศไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 จนถึงปัจจุบัน ทั้งสองพระองค์ได้ พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณและพระราชทานความช่วยเหลือในทุกด้านมาโดยตลอด โดยเมื่อวันที่6 เมษายน พุทธศักราช 2563 ได้เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 และมาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล พร้อมพระราชทานพระบรมราโชบายเพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ความว่า...
“มีอะไรที่จะมีส่วนช่วยเหลือ ที่จะแก้ปัญหาก็ยินดี เพราะว่าก็เป็นปัญหาของชาติ ซึ่งเรื่องโรคระบาดนี่ก็ไม่ใช่ความผิดของใคร แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ เรามีหน้าที่ที่จะดูแลแก้ไขให้ดีที่สุดอย่างที่เคยพูดไว้ว่า ถ้าเกิดมีความเข้าใจในปัญหา มีความเข้าใจ ไม่ใช่หมายความว่ายอมรับตามบุญตามกรรม แต่มีความเข้าใจในสถานการณ์ มีความเข้าใจในปัญหา และก็มีความรู้เกี่ยวกับโรค ก็คือ เข้าใจในปัญหานั่นเอง อันแรกก็เป็นอย่างนี้
อันที่สอง ก็คือจากข้อที่หนึ่ง ก็คือ การมีการบริหารจัดการ มีแผนเผชิญเหตุ มีระบบในการปฏิบัติ แก้ไขให้ถูกจุดรู้ปัญหา แก้ไขให้ถูกจุด โดยมีการบริหารจัดการ แล้วก็ในเวลาเดียวกันก็ต้องให้ประชาชนได้เข้าใจถึงวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง และเหตุผลที่จะต้องปฏิบัติ เพราะว่าการมีระบบ หรือแผนในการปฏิบัติตามแผนที่ได้วางไว้ตามความเป็นจริง ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแก้ถูกจุด ก็จะลดปัญหาลงไป จะแก้ได้ในที่สุด ก็เชื่อแน่ว่าจะต้องแก้ไขและก็เอาชนะอันนี้ได้ เพราะว่าประเทศของเรานี่ก็นับว่าทำได้ดี
ประเทศของเรานี่น่าภูมิใจว่าทำได้ดี และก็ทุกคนก็ร่วมใจกันก็ดีกว่าที่อื่นอีกหลายที่ แต่บางทีก็ต้องเน้นเรื่องการทำงานมีระบบด้วยความเข้าใจ และการมีระเบียบวินัยในการแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายว่า เราจะต้องต่อสู้ให้โรคนี้สงบลงไปได้ในที่สุด เพราะว่าโรคมาได้ โรคก็ไปได้ โรคจะไม่ไปถ้าเราไม่แก้ไขปัญหา เราไม่แก้ไขให้ถูกจุด หรือเราไม่มีความขันติอดทนที่จะแก้ไข บางทีก็ต้องสละในความสุขส่วนตัวบ้าง หรือเสียสละในการกล้าที่จะสร้างนิสัยหรือสร้างวินัยในตัวเอง ที่จะแก้ไขเพื่อตัวเอง เพื่อส่วนรวม อันนี้เราก็ขอเป็นกำลังใจให้”
ด้วยความห่วงใยที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นเร่งด่วนในภาวะวิกฤตของการแพร่ระบาด เพื่อพระราชทานให้กับบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น รถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย ห้องผ่าตัดแรงดันลบที่ใช้แยกผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ออกจากผู้ป่วยรายอื่นในโรงพยาบาล ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)
อีกทั้ง ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้เอสซีจีดำเนินการก่อสร้างให้ 20 โรงพยาบาลทั่วประเทศ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ภายใต้ “โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน”พระราชทานให้กับโรงพยาบาล 123 แห่ง ใน 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย หน้ากากอนามัย Face Shield ชุด PPE ชุดกันไวรัส PAPRเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เครื่องช่วยหายใจ เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพ (ICU Monitor) เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัล เครื่องกำจัดเชื้อโรคและฟอกอากาศบริสุทธิ์ เครื่องช่วยกดหน้าอกเพื่อฟื้นคืนชีพ กล้องส่องทางเดินหลอดลมแบบเคลื่อนที่ โคมไฟผ่าตัดใหญ่โคมคู่ เครื่องสกัดสารพันธุกรรมอัตโนมัติ รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ และสิ่งของอื่นๆ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดหาและพระราชทานไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ และชุมชนแออัด
และเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังอยู่ในขั้นวิกฤตจากการแพร่ระบาดระลอก 3 อย่างต่อเนื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อสมทบทุนและจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาลและสถานที่ต่างๆ เพื่อใช้ในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ดังนี้ พระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 100,000,000 บาท สมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราชพระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 2,407,144,487.59 บาท แก่โรงพยาบาล วิทยาลัยแพทย์ และสถานพยาบาล 27 แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ พระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 345,000,000 บาท แก่ เรือนจำ ทัณฑสถานและโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำ 44 แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ ครุภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นเร่งด่วนในการรักษาชีวิตผู้ป่วย
ตลอดระยะเวลาของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือด้วยพระองค์เองในหลายครั้ง อาทิ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการพระราชทานความช่วยเหลือประชาชน ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ณกรมทหารรักษาวังมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ทอดพระเนตรการทำถุงผ้าพระราชทานสำหรับบรรจุเครื่องอุปโภค-บริโภคพระราชทานแก่ราษฎร การผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ นอกจากนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเย็บหน้ากากผ้าสำหรับเป็นตัวอย่างให้กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ นำไปผลิตเพื่อพระราชทานแก่ข้าราชบริพารและราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน
นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ครัวพระที่นั่งอัมพรสถานและหน่วยงานทหารจัดอาหารพระราชทานให้แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคไวรัสโควิด-19 ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลอากาศโทสุพิชัย สุนทรบุระรองเลขาธิการพระราชวัง เป็นผู้แทนพระองค์ฯ ส่งมอบยาฟ้าทะลายโจรพระราชทาน จำนวน 2,000 ขวด แก่กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้บำบัดรักษาเป็นเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีอาการไม่มากนัก ซึ่งประชาชนทุกหมู่เหล่าต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงเล็งเห็นว่าการแพร่ระบาดในพื้นที่เรือนจำ อาจจะระงับยับยั้งได้ยาก จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดหาเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง กับโรงพยาบาลในสังกัดกรมราชทัณฑ์ พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 200,000 เม็ด พระราชทานแก่กรมราชทัณฑ์ สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยในเรือนจำและทัณฑสถานต่างๆ โดยทรงมีพระราชดำริว่า “ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ประสบปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากขาดแคลนเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ”
มิใช่เพียงสถานการณ์โควิด-19 ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญในการดูแลทุกข์สุขของราษฎร ไม่ว่าพสกนิกรจะทุกข์ร้อนเรื่องอันใด น้ำพระราชหฤทัยจะแผ่ไปอย่างทั่วถึงทั้งแผ่นดิน ดั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัดซอยกิ่งแก้ว 21 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทรงมีพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ ดำรัสสั่งให้ พระราชทานความช่วยเหลือพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เร่งช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน พระราชทานถุงยังชีพ เครื่องอุปโภค-บริโภค และสิ่งของที่จำเป็น แก่ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน จัดตั้งโรงครัวพระราชทานไปพระราชทานแก่ราษฎรที่มาพักที่ศูนย์อพยพ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ พร้อมทั้งพระราชทานแจกันดอกไม้และตะกร้าสิ่งของแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บ และทรงรับศพนายกรสิทธิ์ ลาวพันธ์ อาสาสมัครดับเพลิงเสียชีวิตเหตุอาสาสมัครดับเพลิงที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด และพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษนำมาซึ่งขวัญกำลังใจแก่ผู้ประสบเหตุการณ์เป็นอย่างมาก
โครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดโครงการหน่วยพระราชทานและประชาชนจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ”และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อของจิตอาสา และภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์จิตอาสาพระราชทานเพื่อพระราชทานกำลังใจแก่ประชาชนทุกคนที่มีจิตอันเป็นกุศลในการทำความดีเพื่อส่วนรวมและประเทศชาติ โดยเมื่อวันที่1 มิถุนายน พุทธศักราช 2562 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อของจิตอาสาและภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์จิตอาสาใหม่ เพื่อทดแทนชื่อของจิตอาสาและภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์จิตอาสาที่ได้พระราชทานไว้แต่เดิม เพื่อเชิญไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับจิตอาสาพระราชทาน โดยพระราชทานชื่อจิตอาสาว่า “จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร.”และให้ใช้ชื่อและภาพการ์ตูนจิตอาสาใหม่ในกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับจิตอาสาพระราชทานและในการจัดทำสิ่งของพระราชทานที่เกี่ยวข้องต่างๆ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นสำคัญ และทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคงและประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะ “สืบสาน รักษา และต่อยอด”โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและแนวพระราชดำริต่างๆ ในบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้ประชาชนและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า และเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2560 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยราชการในพระองค์ร่วมกับหน่วยราชการต่างๆ และประชาชนทุกหมู่เหล่าที่มีจิตอาสาร่วมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วมในเขตชุมชน ปัญหาการจราจร และอื่นๆ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยปัญหาน้ำท่วมและปัญหาการจราจรในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ อาทิ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดโครงการจิตอาสา “เราทำความ ดีด้วยหัวใจ” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อออกปฏิบัติงานสาธารณประโยชน์ เช่น การดำเนินการเก็บผักตบชวาวัชพืช ขยะมูลฝอย สิ่งกีดขวางทางน้ำ และขุดลอกคูคลองระบายน้ำ รวมทั้งทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ วัด และตลาดชุมชน เพื่อเป็นแบบอย่างในการพัฒนาสภาพแวดล้อมในชุมชน และขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ
อีกทั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานภาพวีดิทัศน์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร (ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ)ทรงร่วมกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมด้านกีฬาและกิจกรรมจิตอาสา เพื่อเป็นแบบอย่างแก่เยาวชนด้านการออกกำลังกายและการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2561 ทั้งนี้ ได้จัดให้มีการลงทะเบียนจิตอาสาจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ณ อาคารรับรองพระราชวังดุสิต อาคาร 606 สำนักพระราชวัง โดยประชาชนจิตอาสาที่เข้าร่วมกิจกรรมนั้นต่างได้รับสิ่งของพระราชทาน ได้แก่ หมวก ผ้าพันคอ และสมุดบันทึกความดี เพื่อเป็นกำลังใจให้ทำความดีต่อไป
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยังศูนย์ฝึกโรงเรียนจิตอาสา 904 บางเขน กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เขตบางเขน เพื่อทอดพระเนตรการฝึกปฏิบัติและดูงานศูนย์ฝึกโรงเรียนจิตอาสา 904 บางเขน พร้อมพระราชทานพระราชดำรัส แก่เยาวชนโครงการค่ายผู้นำเยาวชนจิตอาสา “LOVE CAMP” Leadership-Oneness-Volunteer-Expert หลักสูตรการฝึกปฎิบัติและดูงานเศรษฐกิจพอเพียง ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ รุ่นที่ 1 จำนวน 271 คน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงขอให้เยาวชนหนุ่มสาวช่วยกันพัฒนาตัวเองครอบครัว สังคม และประเทศ ให้มีความสุขน่าอยู่ ปลอดภัย ดังในอดีต ให้ศึกษาประวัติศาสตร์ แล้วนำส่วนดีมาใช้ โดยทรงมีรับสั่งว่า “สมัยนี้คนไม่ค่อยชอบเรียนประวัติศาสตร์กัน คนไม่ค่อยคิดอะไรย้อนหลัง ไม่ได้สอนให้เป็นคนสมัยเก่าไดโนเสาร์อะไร แต่ความเป็นมาความต่อเนื่อง...ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์หรือความเป็นมาของชาติบ้านเมือง ทั้งที่ดี ทั้งที่ไม่ดี เราก็จะรู้ว่าอะไรมันดีอะไรเป็นประโยชน์ อะไรมันไม่ดี เพราะว่ามันมีของดี มันก็มีของไม่ดี มันมีของถูก มันก็มีของผิด ก็สำคัญที่ว่า จะเปิดใจศึกษาว่าอะไรมันถูก อะไรมันผิด อะไรมันเป็นประโยชน์ อะไรมันไร้ประโยชน์ แต่อย่างที่บอกว่าประวัติศาสตร์มีทั้งของเลวชั่วร้าย และก็มีทั้งของที่ดี”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ยังทรงให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยและโภชนาการของผู้สูงอายุ เด็ก และเยาวชน มาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยราชการในพระองค์ เชิญอาหารพระราชทานไปพระราชทานเลี้ยงแก่ผู้สูงอายุ เด็ก และเยาวชน ไปพระราชทานเลี้ยงแก่ผู้สูงอายุ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันคล้ายวันพระราชสมภพและวันคล้ายวันประสูติของพระบรมวงศานุวงศ์ มาโดยตลอด รวมถึงผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์เหล่านี้ให้ได้รับประทานอาหารที่ดี มีคุณค่าทางโภชนาการ เหมาะสมตามวัย เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีจิตใจที่แจ่มใส สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
นับเป็นบุญของแผ่นดินไทยที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ และทรงอุทิศพระองค์เพื่ออาณาประชาราษฎร์ ด้วยพระราชประสงค์ที่จะทรง “สืบสาน รักษา และต่อยอด” พระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี