Kick-off โครงการการพัฒนาระบบกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเพื่อพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค ที่ปรึกษา รมว.อว. ชี้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมีความพร้อม เพราะเป็นกลไกเชิงระบบของชาติหรือที่เรียกว่า National Platform อยู่แล้ว แถมมีทั้งมหาวิทยาลัย นักวิจัย นักนวัตกร ห้องปฏิบัติการ เทคโนโลยี เครื่องมือ งานวิจัยขั้นแนวหน้า ขณะที่อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ภาคเหนือชูเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดิจิทัล การท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและอาหาร
1 สิงหาคม 2567 รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะที่ปรึกษา รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ด้านวิทยาศาสตร์ เป็นประธานเปิดงานปฐมนิเทศ (Kick-off) โครงการการพัฒนาระบบกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเพื่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค (NEC, NeEc, CWEC และ SEC) มีนายเอกพงค์ มุสิกะเจริญ ผอ.กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รอง ผอ.ฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร บพท. และ ผอ.เครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั้ง 44 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วม ที่โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ
รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าวว่า การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ มี จ.เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี จ.นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย ภาคกลาง-ตะวันตก มี จ.พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และภาคใต้ มี จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่โฟกัสใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่อีสเทิร์นซีบอร์ดหรือเซาท์เทิร์นซีบอร์ดเท่านั้น เพื่อมุ่งยกระดับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม และยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยเทคโนโลยีเชิงลึก ผ่านการเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของพื้นที่ทั้ง 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุดมศึกษา และภาคประชาสังคม ดังนั้น บทบาทของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคจะต้องเข้าไปมีบทบาทเชื่อมกับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภูมิภาคให้ได้ เพราะอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ห้องปฏิบัติการ ห้องวิจัย มีผู้เชี่ยวชาญ มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนั้น ภาคเอกชนที่จะมาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาคก็จะมีกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเป็นเครื่องมือในการผลิตสินค้าและบริการได้ ที่สำคัญที่สุด อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมีกำลังคน มีนวัตกรจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ที่จะเข้าสู่ภาคการผลิตและจะมีส่วนช่วยผลักดัน GDP ให้กับประเทศได้
จากนั้น รศ.ดร.วีระพงษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเป็นกลไกเชิงระบบของชาติหรือที่เรียกว่า National Platform ทำหน้าที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีในการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันของมหาวิทยาลัยในหลายภูมิภาค ดังนั้นเมื่อมีนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค และมีโฟกัสว่าพื้นที่แต่ละพื้นที่จะทำอะไร อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคก็จะเป็นกลไกสำคัญและเป็นตัวกลางในการเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคเข้าสู่การใช้ประโยชน์กับภาคเอกชน ภาคการผลิต ภาคบริการ ซึ่งอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และเมื่อมีการโฟกัสจุดเด่นของแต่ละภูมิภาคก็จะทำให้เกิดการทำงานที่ไม่ทับซ้อนกัน จะทำให้เกิดการจ้างงาน ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
เมื่อถามว่า ศักยภาพของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคจะสามารถรองรับการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ได้หรือไม่ รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมีความพร้อมอยู่แล้ว มีทั้งมหาวิทยาลัย นักวิจัย ห้องปฏิบัติการ เครื่องไม้เครื่องมือ งานวิจัยขั้นแนวหน้า การพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค จะทำให้การทำงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
ด้าน รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย รองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ มีความพร้อมและได้เตรียมแผนไว้รองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ 4 จังหวัดไว้แล้ว นอกจากนี้ มีการเตรียมนำเทคโนโลยีในกลุ่ม BCG มาทำให้เกิด New s-curve เพื่อเป็นตัวเร่งหรือเครื่องยนต์ตัวใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยในภาคเหนือมีความโดดเด่นในเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดิจิทัล การท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและอาหาร ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ มีคลัสเตอร์ในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ส่วนในภูมิภาคอื่นๆ ก็จะมีอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นในแต่ละเรื่องที่แตกต่างกันออกไป
ขณะที่ รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค เกิดขึ้นเพื่อให้พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทศวรรษที่ 21 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยได้เป็นแกนนำหลักในภาคีสำคัญของโลกด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่ออนาคต และเพื่อการขับเคลื่อนเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าสู่อุตสาหกรรมอนาคตที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเข้มข้น มีความสามารถในการเติบโตในอนาคตสูง
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี