“21 ล้านคน” เป็นตัวเลขของ “แรงงานนอกระบบ” ตามรายงานการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2566 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งในจำนวนนี้ “กว่าครึ่ง หรือร้อยละ 52.7 อยู่ในภาคเกษตรกรรม” ขณะที่รายงานสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 ไทยมีเกษตรกรที่เป็นผู้ถือครองทำการเกษตร จำนวน 8.7 ล้านราย (ร้อยละ 37.5 ของครัวเรือนทั้งประเทศ) และมีเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรทั้งสิ้น 142.9 ล้านไร่ (ร้อยละ 44.5 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ) โดยเป็น “ชาวนา” ปลูกข้าว มากที่สุด ร้อยละ 46.2 รองลงมาคือ ปลูกพืชไร่ร้อยละ 23.4 และอันดับ 3 ปลูกยางพารา ร้อยละ 19
อย่างไรก็ตาม “เมื่อพูดถึงภาคเกษตร..สิ่งหนึ่งที่เป็นภาพจำเสมอคือความยากจน” เกษตรกรหลายคนไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง และมีปัญหาหนี้สินจาก “ต้นทุนการผลิต” เมื่อบวกกับข้อมูลการสำรวจแรงงานนอกระบบซึ่งพบเสมอว่า“แรงงานนอกระบบมักมากับอายุที่มากและมีการศึกษาน้อย”โดยอายุเฉลี่ยคือตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และมีระดับการศึกษาเฉลี่ยอยู่เพียงชั้นประถมศึกษาหรือต่ำกว่า จึงพออนุมานได้ว่า การผลักดันคนให้ออกจากภาคเกษตรไปหางานอื่นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จะอยู่ในภาคเกษตรและมีรายได้ดีขึ้นก็ยังเป็นความท้าทายของผู้กำหนดนโยบาย
จากจำนวนเกษตรกร (โดยเฉพาะชาวนา) ที่มีเป็นจำนวนมากตามตัวเลขข้างต้น ทำให้กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลชุดต่างๆ ต้องออกนโยบายมาช่วยเหลือ บางยุคใช้คำว่าจำนำ บางสมัยเปลี่ยนเป็นประกันราคา รวมถึงที่เป็นกระแสเมื่อเดือนก.ค. 2567 ที่ผ่านมา อย่าง “ปุ๋ยคนละครึ่ง”แต่เป็นกระแสแบบ “แรงต้าน” ซึ่งในรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2567 ชัชวาล แพทยาไทย สส. จังหวัดร้อยเอ็ด และเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบ Zoom ไขข้อข้องใจในเรื่องนี้
ชัชวาล กล่าวถึงข้อสังเกตของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ออกมาบอกว่าโครงการมีปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการเมืองท้องถิ่นและผลประโยชน์ ว่า ไม่น่าจะจริง เพราะปุ๋ยคนละครึ่งเป็นโครงการที่เพิ่งเริ่มต้นเป็นปีแรก จึงยังมองไม่เห็นว่าใครจะเสียผลประโยชน์ แต่หากย้อนไปในปีก่อนๆ ที่รัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกร เช่น ช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ เป็นการมอบเงินโดยตรงถึงเกษตรกรเพื่อลดต้นทุนการผลิต ไม่ใช่โครงการจัดซื้อ-จัดหา จึงไม่น่าจะมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน มีแต่ชาวบ้านจะได้ประโยชน์
“ทีนี้พอกลับมาถึงปีนี้ ซึ่งตอนต้นแว่วว่าโครงการไร่ละ 1,000 อาจจะไม่มีถ้ามีโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ฉะนั้นคำพูดที่บอกว่าถ้ามีปุ๋ยคนละครึ่งแล้วจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งที่ได้รับประโยชน์เสียประโยชน์ ผมว่าคงไม่มีกลุ่มการเมืองที่ไหนที่ได้หรือเสีย มีแต่ชาวนาที่ได้เต็มๆ” ชัชวาล กล่าว
ชัชวาล กล่าวต่อไปว่า ต้องยอมรับว่ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ชาวนาพอใจมากที่สุดในห้วงที่ผ่านมาคือโครงการไร่ละ 1,000 บาท ที่รัฐบาลก่อนหน้านี้เขาเคยช่วยเหลือมาน่าจะสัก 4 หรือ 5 ปี ซึ่งการอุดหนุนไร่ละ 1,000 บาท เป็นโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรได้มาก เพราะต้นทุนของเกษตรกรไม่ได้มีเฉพาะค่าปุ๋ย เช่น หากเป็นการทำนาหว่าน จะมีทั้งค่าไถ ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าเคมีภัณฑ์ ค่าเกี่ยว ค่าปุ๋ย ค่าขนส่ง ยังไม่รวมค่าแรงของเจ้าของนา ดังนั้นการทำนาหว่าน ต้นทุนต่อไร่ถือว่าสูงมาก การเน้นไปแต่เรื่องปุ๋ยอย่างเดียวจึงไม่ตอบโจทย์เท่าใดนัก
ดังนั้นการมอบเงินโดยตรงเพื่ออุดหนุนชาวนาไร่ละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 20 ไร่ รวมแล้วคือ 2 หมื่นบาท เกษตรกรสามารถนำเงินไปใช้จ่ายด้านต้นทุนต่างๆ ที่กล่าวมาได้ทั้งหมด แต่โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง รัฐบาลกำหนดเงื่อนไขช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่
หรือรวมแล้วคือ 1 หมื่นบาท และช่วยเฉพาะค่าปุ๋ยเท่านั้น อีกทั้งเกษตรกรต้องหาเงินอีกครึ่งหนึ่งมาสมทบเข้าบัญชีและผ่านแอปพลิเคชั่น จึงจะสามารถสั่งซื้อปุ๋ยได้ นั่นทำให้เกษตรกรตั้งคำถามว่าแล้วจะไปเอาเงินจากไหนมาสมทบ
ส่วนที่บอกว่าโครงการนี้มาไม่ถูกช่วงเวลา เพราะในเดือนกรกฎาคม เกษตรกรที่นำนาปีบางคนเขาหว่านปุ๋ยไปแล้ว 2 รอบ และรอบที่ 3 ที่เรียกว่าหว่านรับรวง จะอยู่ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม แต่โครงการปุ๋ยคนละครึ่งก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ กำหนดการยังไม่ชัดเจนว่าจะออกมาตอนไหน ดังนั้นเกษตรกรบางส่วนจึงมองว่าต่อให้โครงการออกมาก็ไม่สามารถนำปุ๋ยไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ยังมีประเด็นข้อจำกัดเรื่องยี่ห้อปุ๋ยซึ่งเกษตรกรไม่สามารถเลือกได้ หากเกษตรกรเคยใช้ยี่ห้อที่ขายในท้องตลาดแล้วไม่มี ก็ต้องใช้ยี่ห้อที่รัฐบาลกำหนด
“สูตรปุ๋ยเลือกได้ แต่บางทีก็ต้องยอมรับว่าความมั่นใจในเรื่องของแบรนด์สินค้า อย่าลืมว่าครึ่งหนึ่งเป็นเงินของเขา เป็นเงินของชาวบ้าน แล้วรัฐบาลให้อีกครึ่งเดียวอีกครึ่งเขาหามา เขาไม่ได้มีสิทธิ์เลือกเลย ไม่มีสิทธิ์เลือกปุ๋ยยี่ห้ออะไร ยี่ห้อที่เขาเคยใช้มา เขามาใช้ยี่ห้อที่กรมวิชาการเกษตรรับรอง กรมการข้าวรับรอง ทั้งๆ เป็นยี่ห้อเกิดใหม่ เขาก็ไม่มีความมั่นใจ” ชัชวาล ระบุ
ชัชวาล ยังกล่าวอีกว่า ส่วนที่รัฐบาลบอกว่ามีผู้ประกอบการจำหน่ายปุ๋ยให้เลือกมาก 40-50 เจ้า ตนอธิบายว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสูตรปุ๋ย แต่เท่าที่ถามเกษตรกร ส่วนใหญ่หากเคยใช้ยี่ห้อใดก็จะใช้ยี่ห้อนั้นต่อไป เกษตรกรจึงหนักใจว่ายี่ห้อใหม่ที่จะเข้ามาคือยี่ห้ออะไร ยี่ห้อที่ไม่เคยพบเคยเห็นหรือเปล่า อีกทั้งปัจจุบันก็ยังไม่มีการเปิดเผยยี่ห้อของปุ๋ยต่อสาธารณะ ขณะที่อีกเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลบอกว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่มผลผลิตด้วยการยิงตรงอย่างแม่นยำ ตนก็ต้องบอกว่า การเพิ่มผลผลิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับปุ๋ยเพียงอย่างเดียว
โดยการทำนามีปัจจัยสำคัญคือ 1.น้ำ แต่พื้นที่ที่ระบบชลประทานเข้าไม่ถึง ตนคาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 60-70 ของประเทศ อย่างบริเวณที่ตนอยู่ คือทุ่งกุลาร้องไห้ ทำเกษตรโดยใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว 2.ดิน 3.เมล็ดพันธุ์ ในขณะที่ปุ๋ยเป็นปัจจัยลำดับที่ 4 และต้องไม่ลืมว่าทางเลือกของเกษตรกรไม่ได้มีแต่ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ก็มีเกษตรกรที่ใช้อยู่แล้วเพื่อลดต้นทุน โดยนำมาใช้รองพื้น ขณะที่ปุ๋ยเคมีนำมาใช้เสริมในช่วงรับรวง
ส่วนเรื่องเกษตรแม่นยำ ตนต้องถามรัฐบาลว่า ณ เวลานี้ หน่วยงานที่ถูกอ้างถึงบ่อยๆ คือหมอดิน ที่เป็นอาสาสมัครในแต่ละพื้นที่ระดับหมู่บ้านหรือตำบล คนกลุ่มนี้มีความรู้และเครื่องมือเพียงพอมาก-น้อยเพียงใด อย่างเครื่องวัดค่ากรด-ด่าง (PH) ของดิน ซึ่งเป็นค่าที่เกษตรกรต้องรู้ก่อนตัดสินใจเลือกใช้ปุ๋ย เพื่อให้สูตรปุ๋ยที่ใช้เหมาะสมกับดินในแปลงของตนเองหากอ้างเรื่องเกษตรแม่นยำ แต่คนในฟันเฟืองที่มีหน้าที่ผลักดันยังไม่มีเครื่องมือ ตนจึงมองว่าเรื่องนี้เป็นการกล่าวอ้างที่เกินไป
จากเรื่องโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย ผู้นี้ กล่าวต่อไปถึง “การจัดหาปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรอย่างครบถ้วน” เช่น แหล่งน้ำที่เอื้อต่อการปลูกข้าวได้หลายรอบเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนา ขณะเดียวกัน “ราคาขายผลผลิตก็ต้องเป็นธรรม” เช่น ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 3,500-3,800 บาท แต่ทุ่งกุลาร้องไห้ ปลูกข้าวหอมมะลิได้ผลผลิตเพียง 350 กิโลกรัม/ไร่ แต่ขายได้เพียง 10-11 บาท หรือเฉลี่ย 3,500 บาทต่อไร่ คิดต้นทุน-กำไรก็ไม่เหลืออะไรแล้ว
“มันไม่เหลืออะไรเพราะต้นทุนมันสูง ราคาผลผลิตตกต่ำ เกษตรกรชาวนามันอยู่ไม่ได้สถานการณ์อย่างนี้ ฉะนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องดูแล แต่จะดูแลแบบไหนก็ต้องแล้วแต่รัฐบาลจะมีวิธีการ แต่บอกว่าตัดทิ้งเลยมันตัดไม่ได้ผมเห็นด้วยถ้าสมมุติว่าในอนาคตข้างหน้าเราไม่ควรมีมาตรการแทรกแซง แต่คุณต้องจัดหาปัจจัยให้เขาให้พร้อม คุณต้องทำให้ราคาผลผลิตเขาสูงขึ้นมาให้ได้” ชัชวาลกล่าว
ชัชวาล ยกตัวอย่าง ประเทศเวียดนามที่ตนมีโอกาสไปดูงาน ในภาคใต้ของเวียดนามสามารถทำนาได้ 3 รอบต่อปี มีระบบชลประทานร้อยละ 80 ซึ่งที่มีข่าวในปี 2566 ว่าข้าวเวียดนามชนะข้าวไทย พบว่าเวียดนามสามารถผลิตข้าวได้ 1,400 กิโลกรัม/ไร่มากกว่าไทยถึง 3 เท่าตัว เพราะปัจจัยการผลิตมีความพร้อม อย่างเมล็ดพันธุ์ก็มีการปรับปรุงพันธุ์ คือไม่ต้องพูดถึงราคา แต่เวียดนามสามารถทำนาได้จำนวนรอบมากกว่าและได้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่า หากทำแบบนี้ได้ก็ไม่ต้องมีมาตรการช่วยเหลือแบบลด-แลก-แจก-แถม แต่หากทำไมได้แล้วปล่อยตามยถากรรมชาวนาก็ตาย
ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือก็ต้องมีต่อไป แต่ระยะยาวรัฐบาลก็ต้องไปคิดเรื่องปัจจัยการผลิตและราคาผลผลิตด้วย ส่วนที่รัฐบาลบอกว่าราคาข้าวขยับตัวสูงขึ้นจึงจะยกเลิกมาตรการเยียวยา เรื่องนี้ตนมองว่า คนที่พูดอาจไม่เคยได้มาสัมผัสชีวิตของชาวนา จริงอยู่ราคาข้าวอยู่ที่ 16-17 บาท/กิโลกรัม ถือว่าสูง แต่จริงๆ แล้วเป็นราคาข้าวนอกฤดูกาล และเป็นราคาข้าวแห้ง แต่เมื่อไปดูวิถีชีวิตของชาวนาในปัจจุบัน โดยเฉพาะการทำนาปี เมื่อชาวนาจะขายข้าว ร้อยละ 80-90 จะขายเป็นข้าวสด หมายถึงข้าวที่เพิ่งเกี่ยวใหม่ๆ
กล่าวคือ การทำนาของชาวนาในอดีต เมื่อเกี่ยวข้าวจะใช้วิธีเกี่ยวด้วยมือ รวมเป็นกองไว้แล้วนำไปสีในคราวเดียวกัน ทำให้ข้าวไม่มีความชื้นหรือมีความชื้นต่ำ ในขณะที่ชาวนายุคปัจจุบันใช้รถเกี่ยวข้าว ทำให้เกี่ยวข้าวได้มากขึ้น อย่างทุ่งกุลาร้องไห้ เนื้อที่ 2 ล้านไร่ ใช้เวลาเกี่ยวข้าวทั้งหมดไม่เกิน 3 สัปดาห์ ต่างจากในอดีตที่การเกี่ยวด้วยมือต้องใช้เวลานาน 3-4 เดือน เกี่ยวเสร็จข้าวก็แห้งพอดี นอกจากนั้น ข้าวในทุ่งกุลาร้องไห้ 2 ล้านไร่ ออกพร้อมกันทีเดียว จึงมีแต่ข้าวสดไปขาย ทำให้โรงสีใช้เกณฑ์ความชื้นมากดราคาข้าวให้ต่ำลง
“ผมให้ย้อนหลัง 8 ปีเลยก็ได้ ราคาข้าวตอนที่ขายในฤดูกาลผลิตนาปี ช่วงเดือนตุลา-พฤศจิกา-ธันวา อยู่ที่ 10 บาท 11 บาท บางปีต่ำลงไปที่ 7-8 บาทก็มี เพราะฉะนั้นราคานี้มันไม่มีทางจะทำให้พี่น้องเกษตรกรอยู่ได้ในต้นทุนที่ผมนำเรียนเลย เชื่อผมนะว่าปีนี้ ตุลา-พฤศจิกา ราคาข้าวก็อยู่ 10 บาท บวกลบ 8 บาท 9 บาท 10 บาท 11 บาท อยู่แค่นี้ ไม่มีทางที่จะขึ้นไปถึง 16-17 บาท เพราะนั่นคือราคาข้าวแห้ง ข้าวที่ความชื้นต่ำ คนที่จะไปขายข้าวช่วงนี้มีแต่ข้าวความชื้นต่ำ ที่เขาเก็บไว้ในยุ้งฉางแล้วเอาออกมาขาย
แล้วอีกปัจจัยอย่างหนึ่ง อย่าลืมนะปีที่แล้วที่ราคาข้าวสูง มันมีปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือประเทศที่ส่งออกรายใหญ่ก็คืออินเดีย เขาเจอเรื่องภัยธรรมชาติ ผลผลิตเขาไม่เยอะ เขาก็เลยไม่ขายข้าวในประเทศเขาออกสู่ตลาดโลก ฉะนั้นคนที่พูดเรื่องราคาข้าว ผมถึงบอกน่าจะไม่ใช่ชาวนา แล้วก็ไม่เข้าใจบริบทการทำงานของพี่น้องเกษตรกรชาวนาในยุคปัจจุบัน มันยากที่ชาวนาจะตากข้าวแล้วเอาไว้รอขายในช่วงข้าวขึ้นราคา เพราะต้นทุนมันก็ไล่หลัง บางคนติดหนี้ยืมอะไรมาก็ต้องรีบเกี่ยวรีบไปขาย เพื่อที่จะเอาเงินมาใช้” ชัชวาล ระบุ
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี