สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงฉายพระรูปร่วมกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร ห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและห้องทรงงาน
ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และทอดพระเนตรผลงานนวัตกรรม การเรียนการสอนของนักศึกษาเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่6 สิงหาคม 2567 ณ คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์โดยมี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัย ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร นายกสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดารณี วัธนเวคิน นายกสมาคมศิลปศาสตร์ธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผศ.ดร.ภาสพงศ์ ศรีพิจารณ์คณบดีคณะศิลปศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาเฝ้าทูลละอองพระบาท
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯพระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาททูลเกล้าฯถวายของที่ระลึก และพระราชทานพระราชวโรกาสให้นายกสมาคมศิลปศาสตร์ธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ฯ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาททูลเกล้าฯถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และพระราชทานเข็มที่ระลึกแก่ผู้ทำคุณประโยชน์แก่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 70 ราย
ทรงฉายพระรูปร่วมกับคณะผู้บริหารคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและห้องทรงงาน ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปีวันประสูติ และน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงมีต่อคณะศิลปศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะที่ทรงเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ระหว่าง พ.ศ. 2513-2519 และทรงเป็นอาจารย์พิเศษระหว่าง พ.ศ. 2519-2526 ตลอดระยะเวลาดังกล่าว ทรงพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศในคณะศิลปศาสตร์ให้ก้าวหน้า โปรดให้สร้างหลักสูตรวิชาภาษาต่างประเทศสาขาใหม่ ทรงพัฒนาหลักเกณฑ์การประเมินผลการเรียนการสอนให้ทันสมัย ตลอดจนทรงบริหารและพัฒนาอาจารย์ผู้สอนภาษาต่างประเทศ
ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลและพระวิริยอุตสาหะส่งผลให้คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นที่รู้จักด้านการสอนภาษาต่างประเทศในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังทรงประกอบพระกรณียกิจและทรงอุปถัมภ์สมาคมหรือหน่วยงานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์การสาธารณสุข การดนตรี และการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงจัดสร้างห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติใน พ.ศ.2559 ที่ชั้น 5 ตึกคณะศิลปศาสตร์ติดกับห้องทรงงาน เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณในฐานะทรงเป็น “สมเด็จอาจารย์” แห่งคณะศิลปศาสตร์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป
ทั้งนี้ องค์การยูเนสโก ได้เล็งเห็นความสำคัญของการทรงงานและตระหนักถึงการอุทิศพระองค์อย่างเต็มพละกำลัง จึงอนุมัติให้เสนอ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นผู้มีความสำคัญควรค่าแก่การยกย่องของโลก (2565-2566) ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และวัฒนธรรม
ทรงฉายพระรูปร่วมกับคณะกรรมการสมาคมศิลปศาสตร์ธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์
ห้องทรงงานในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อยู่ที่ชั้น 5ตึกคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ขนาดพื้นที่ 24.60 ตารางเมตร ตกแต่งอย่างเรียบง่าย สอดคล้องกับพระอุปนิสัยและพระจริยวัตร ส่วนห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ มีขนาดพื้นที่ 60.88 ตารางเมตร จัดแสดงพระประวัติ พระปรีชาชาญด้านการบริหาร และพระปรีชาชาญด้านการสอน ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสอนภาษาต่างประเทศและหัวหน้าสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสควบคู่กับทรงเป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศส รวมระยะเวลากว่า 13 ปี ภายในห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติจัดแสดงนิทรรศการถาวรที่รวบรวมหลักฐานชั้นต้น เช่น เอกสารราชการที่เกี่ยวข้อง เอกสารลายพระหัตถ์ พระดำรัสในโอกาสต่างๆในรูปแบบดิจิทัล ของใช้ส่วนพระองค์ และสิ่งของพระราชทานแก่ผู้ร่วมงานและศิษย์ รวมทั้งภาพและวีดิทัศน์เกี่ยวกับพระกรณียกิจและคำสัมภาษณ์ผู้ที่ถวายงานและลูกศิษย์ นอกจากนี้ ยังมีภาพสามมิติ(Hologram) ที่แสดงคติพจน์ภาษาฝรั่งเศสที่ทรงแปลเป็นภาษาไทย และเกมปฏิสัมพันธ์ซึ่งถ่ายทอดมาจากแนวพระดำริ
ในส่วนของการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมการเรียนการสอนของนักศึกษา กิจกรรมด้านวิชาการ และการบริการสังคมของสาขาวิชาต่างๆ ของคณะศิลปศาสตร์ ได้แก่ สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส สาขาวิชาภาษาเยอรมัน สาขาวิชาภาษาจีน สาขาวิชาเกาหลีศึกษา สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น สาขาวิชาภาษารัสเซีย และสาขาวิชารัสเซียและยูเรเชียศึกษา โดยแต่ละสาขาวิชาได้จัดแสดงผลงานด้านการเรียนการสอน การเข้าร่วมแข่งขันทางวิชาการ การประชุมสัมมนาวิชาการ รวมถึงกิจกรรมด้านการให้บริการสังคม เป็นต้น
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดกิจกรรมทางวิชาการต่างๆ ร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีวันประสูติ และได้ปรับปรุงห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและห้องทรงงาน เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวาระอันเป็นมงคลนี้ด้วย โดยการปรับปรุงห้องแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2567
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี