หลายวันก่อนมีเหตุการณ์เกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่น่าสนใจ ซึ่งผู้เขียนอยู่ร่วมในเหตุการณ์และคิดว่าควรนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ผู้อ่านตระหนักถึงปัญหา และสร้างความปลอดภัยในการใช้ยา และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมาจากต่างประเทศ
ญาติผู้ใหญ่รายหนึ่งของผู้เขียน เวลาไปต่างประเทศชอบซื้อหาผลิตภัณฑ์วิตามิน อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์สมุนไพร จากห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาเก็ตในหลายประเทศที่ขายกันอย่างดาษดื่น และอิสระ รวมถึงยาแผนปัจจุบันบางชนิดที่กฎหมายในบางประเทศอนุญาตให้ประชาชนเลือกซื้อได้ โดยไม่ต้องมีคำแนะนำจากเภสัชกร ยากลุ่มนี้บางประเทศเรียกว่า Over-the-counter medicines หรือเรียกว่า ยา OTC ซึ่งต่างจากร้านยาส่วนใหญ่ในเมืองไทย ที่เราเดินเข้าไปหยิบยาที่ต้องการเองไม่ได้ หรือร้านที่ใหญ่ๆ บางร้านอาจจะมีการกั้นส่วนชัดเจนว่า บริเวณไหนที่เป็นยาอันตรายซึ่งต้องให้บริการโดยเภสัชกร บริเวณไหนที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ค่อนข้างปลอดภัยที่ลูกค้าสามารถเลือกใช้เองได้
เวลาหมู่ญาติมาเจอกัน ก็มักจะสาธยายสรรพคุณว่าผลิตภัณฑ์ไหน ดีอย่างไร แล้วก็นำมาเป็นของฝากให้กัน ญาติท่านหนึ่งบ่นเรื่องปัญหาการนอนไม่หลับ ท่านก็หยิบหนึ่งขวดออกมา บนฉลากเขียนว่า “Sleep Aid” บรรจุ 96 เม็ด พร้อมบรรยายสรรพคุณว่า อาหารเสริม/สมุนไพรจากตะวันตกขวดนี้ดี กินแล้วช่วยเรื่องหลับดีมาก ผู้เขียนฟังแล้วก็สงสัย จึงขอดูรายละเอียดส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ปรากฏว่า ข้อมูลที่ระบุในฉลาก บ่งว่ามันไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่มันเป็นยาต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 1 (ยาแก้แพ้) ซึ่งเป็นตัวยาเคมี ซึ่งในประเทศไทยเป็นยาซึ่งคนไข้จะต้องผ่านการประเมินความเหมาะสมในการใช้ยาก่อน จึงจะได้ยาจากเภสัชกร หรือแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น ยาชนิดนี้มีฤทธิ์หลักคือรักษาอาการแพ้ต่างๆและอาการข้างเคียงที่เด่นก็คือ ทำให้ง่วงนอน ทำให้ในบางประเทศออกมาเป็นยาช่วยให้หลับ ยากลุ่มนี้มีอีกหลายชนิด เช่น คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ดอกซีลามีน (Doxylamine) เป็นต้น
ที่น่ากังวลไปกว่านั้นก็คือ อยู่ในหมวดหมู่ยาที่ไม่ควรใช้ในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีโรคต้อหิน โรคต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะขัด เพราะจะทำให้อาการของโรคดังกล่าวรุนแรงขึ้น ในรายที่ไม่ได้มีโรคประจำตัว ก็เพิ่มความเสี่ยงของการพลัดตกหกล้มจากอาการข้างเคียงง่วง มึนงงดังที่กล่าวไปแล้ว ถ้ารับประทานนานๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความจำเสื่อมด้วย
ด้วยเหตุที่กฎหมาย หรือข้อบังคับเกี่ยวกับยาของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน ยาบางอย่างที่เป็นอันตรายในประเทศไทยมีกฎหมายที่ช่วยป้องกันไม่ให้คนไข้ได้รับอันตรายจากการใช้ยาเองโดยไม่ผ่านการดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร แต่ในบางประเทศยาพวกนี้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึได้จากชั้นวางยาได้เองในซูเปอร์มาร์เก็ต สิ่งที่น่ากังวลก็คือผู้ที่ซื้อสินค้าเหล่านี้นำกลับเข้ามาในประเทศ ไม่ว่าจะไว้ใช้เองหรือซื้อฝากกันโดยไม่รู้ ซึ่งต้องระวังอย่างมาก เพราะด้วยลักษณะบรรจุภัณฑ์และความสะดวกในการเข้าถึง ทำให้เข้าใจว่าเป็นสิ่งมาจากธรรมชาติมีความปลอดภัย หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั่วไป เป็นซึ่งอาจจะเป็นการเข้าใจผิดและนำไปสู่ปัญหาสุขภาพได้
นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ขายในหลายประเทศก็ไม่ได้มีกฎหมายที่เข้มงวด และให้ผู้บริโภคพิจารณาเอง โดยต้องพิจารณาตั้งแต่คุณภาพ และความปลอดภัยต่อร่างกายว่าจะเป็นคุณหรือโทษต่อร่างกายแต่ละท่าน ซึ่งแต่ละท่านก็มีปัญหาและข้อจำกัดทางสุขภาพที่ไม่เหมือนกัน
ยังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกจำนวนหนึ่งที่มีส่วนประกอบสำคัญ ที่กฎหมายในประเทศไทยจัดเป็นยา ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฉะนั้นการกำกับดูแลทางกฎหมาย และการควบคุณภาพของยาจะเข้มงวดกว่ามาก หรือกล่าวง่ายๆคือ ในการผลิตยาจะต้องมีการควบคุณภาพเป็นอย่างดี ขณะที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นจะหย่อนกว่ามาก
โดยสรุปแล้ว การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพจากต่างประเทศก็ต้องพิจารณาให้ดี การเข้าถึงได้ง่ายไม่ได้แปลว่าปลอดภัยกับคนทุกเพศทุกวัย การอ่านฉลากให้เข้าใจว่าองค์ประกอบของสิ่งที่เราจะเลือกใช้คืออะไรนั้นสำคัญมาก ส่วนผสมบางชนิดก็อาจไม่เหมาะ ไม่ปลอดภัยกับบางท่าน และยังมีอีกหลายผลิตภัณฑ์ที่เป็นยา ก่อนใช้เองหรือนำไปให้ใครใช้ก็ควรตรวจสอบว่า มีประวัติแพ้ยา หรือสารอื่นๆที่เป็นส่วนประกอบหรือไม่ ผลิตภัณฑ์หรือยานั้นมีข้อควรระวัง หรือข้อห้ามใช้ในคนกลุ่มใด หรือคนทึ่มีโรคประจำตัวใดและหลังการใช้ก็ควรตระหนักว่าอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใดๆ ไม่ว่าจากในประเทศ หรือต่างประเทศที่ท่านใช้อยู่ หรือกำลังคิดจะใช้ สามารถปรึกษาเภสัชกรได้ หรือสอบถามได้ทาง line @guruya ศูนย์ข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี