กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต “ชุดทดสอบสารพาราควอตตกค้างในผักและผลไม้สด” ให้เอกชนผลิตจำหน่ายให้กับประชาชน และหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เข้าถึงชุดทดสอบนี้ได้ง่ายขึ้นใช้เป็นเครื่องมือตรวจคัดกรองผักผลไม้เบื้องต้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชุดทดสอบอิมมูโนโครมาโตกราฟี สำหรับตรวจหาสารพาราควอตตกค้างในผักและผลไม้สด ระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับ บริษัท ยูแอนด์วี โฮลดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด โดยมี นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นางวิชาดา จงมีวาสนา ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายนิรันดร์ ตั้งกิจวาระฐี กรรมการ บริษัท ยูแอนด์วี โฮลดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมลงนาม และมีผู้บริหารเจ้าหน้าที่ ทั้งสองฝ่าย เป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 110 อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดนนทบุรี
นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในฐานะที่เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงของประเทศ ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข มีภารกิจหลักในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย พัฒนาองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม เพื่อนำไปใช้ ในงานเฝ้าระวังสุขภาพ และคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากพาราควอต เป็นสารกำจัดวัชพืชที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงได้พัฒนา ชุดทดสอบสารพาราควอตตกค้างในผักและผลไม้สด ด้วยเทคนิคอิมมูโนโครมาโตกราฟี เป็นวิธีการตรวจสอบคัดกรองเบื้องต้น ที่มีความถูกต้องแม่นยำ และทราบผลภายใน 30 นาที สำหรับ
นำไปตรวจคัดกรองผักและผลไม้สด ที่มีการจำหน่ายและนำเข้าประเทศไทย
สำหรับชุดสอบนี้ใช้เทคนิคการวิเคราะห์ทางอิมมูโนโครมาโตกราฟี (Immunochromatography) หรือ IC ซึ่งอาศัยหลักการจับกันระหว่างแอนติบอดี และแอนติเจนแบบแข่งขัน (Competitive immunoassay) เป็นวิธีที่สะดวก มีประสิทธิภาพ มีความไวในการตรวจสอบ และไม่ต้องใช้เครื่องพิเศษเพิ่มเติม ซึ่งมีลักษณะการใช้งานคล้ายกับชุดตรวจโรคโควิด-19 หรือ ATK ใช้งานง่าย ประชาชนทั่วไปก็สามารถทำได้ นอกจากนี้ ยังได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบผลการตรวจของชุดทดสอบกับการตรวจด้วยวิธีมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ พบว่า ชุดทดสอบมีความจำเพาะเจาะจง 100% ความไว 92.5% ความแม่นยำ 95% ความเที่ยง 100% และมีเกณฑ์การวัดขั้นต่ำสุดที่สามารถตรวจพบได้ที่ 0.005 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม(mg/kg) ซึ่งตรงตามระดับที่กฎหมายกำหนด ชุดทดสอบนี้ผ่านการทดสอบภาคสนาม และจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความห่วงใยใส่ใจผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะให้ความร่วมมือกับบริษัท ยูแอนด์วี โฮลดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชุดทดสอบ สารพาราควอตตกค้างในผักและผลไม้สด ด้วยเทคนิคอิมมูโนโครมาโตกราฟี ให้บริษัทสามารถผลิตเผยแพร่ชุดทดสอบ และจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค และประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ สามารถนำไปใช้ตรวจสอบคัดกรองเบื้องต้น สร้างความเชื่อมั่นถึงความปลอดภัย ของผักและผลไม้สดที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดของประเทศ” นายแพทย์ยงยศ กล่าวในที่สุด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี