3 วิทยากรด้านการ Upcycling มาแชร์ความคิด“ชุบชีวิตขยะ เปลี่ยนโลก”
โค้งสุดท้าย...ก่อนมุ่งสู่งาน Sustainability Expo 2024 (SX2024) มาฟังเรื่องราวของ Upcycling ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมและเป็นที่กล่าวถึงในวงกว้างเพราะเป็นกระบวนการที่นำสิ่งของเหลือใช้ หรือสิ่งของที่กำลังจะถูกทิ้งเป็นขยะกลับมาใช้อีกครั้ง ด้วยการนำไปปรับปรุงและออกแบบให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่เหมือนของเดิม แต่มีคุณภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิมและนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง นับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของเหล่านั้นให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น SX TALK SERIES ครั้งที่ 6 เห็นความสำคัญได้จัดเสวนาหัวข้อ “Upcycling Waste ชุบชีวิตขยะ เปลี่ยนโลก”โดยมี 3 วิทยากรชั้นนำด้านการ Upcycling ที่มาแชร์พลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ เปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากรที่มีค่า พร้อมร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดใหม่ๆ ในการรักษ์โลกอย่างยั่งยืน ณ C asean Samyan CO-OP สามย่านมิตรทาวน์
จากขยะสู่ศิลปะ การ Upcycle และRegenative Art เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ กล่าวว่า “การสร้างงานศิลปะเราต้องคำนึงถึงที่มา-ที่ไป ต้องคิดตั้งแต่ต้นทางในการออกแบบ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นการสร้างขยะเต็มไปหมด ปัจจุบันใช้แนวคิดเรื่องของการ Regenative Art and Design ซึ่งไม่ใช่แค่การ Upcycle อย่างเดียว แต่ต้องฟื้นฟู และมองให้ลึกรอบด้านว่าจะทำอย่างไรให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นให้ได้ นอกจากนี้ ยังเน้นการทำงานให้ตอบโจทย์เรื่อง 3P คือ People มีการกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้เขาได้เรียนรู้ไปด้วยกันว่าตั้งแต่การคัดแยกขยะรวมไปถึงการสร้างอาชีพให้กับชาวบ้าน Profit ทุกงานจะมีการทำซ้ำเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ว่าจบโปรเจกท์แล้วก็หายไปจากชุมชน แต่มันคือการพัฒนาชุมชนไปด้วยกันกับการทำงานศิลปะร่วมกันกับเรา Planet ปัจจุบันได้มีการรวบรวมขยะกว่า 40 ประเภท และหมุนเวียนไปได้แล้วกว่าสอง 30,000 กว่ากิโลกรัม และอยากฝากข้อคิดกับทุกคนว่าโลกของเรามันมีเพียงแค่ใบเดียว ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงวันนี้แล้วเรามัวแต่คิดเราคงทำไม่ได้หรอกต้องให้คนอื่นทำมันก็คงจะกลายเป็นสิ่งที่อาจจะช้าเกินไปหรือสายเกินไป ทุกคนสามารถที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้”
วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์
ความยั่งยืนเริ่มต้นที่เรา : การออกแบบผลิตภัณฑ์และการมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม
ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้อำนายการฝ่ายออกแบบและผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Qualy กล่าวว่า “ศักยภาพของความคิดสร้างสรรค์สามารถพาเราไปได้ไกลมากกว่าที่คิด เราสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อโลกที่ยั่งยืนได้ และสิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของผู้ผลิตและผู้บริโภคในการมีความรับผิดชอบ ถ้าทุกคนรับผิดชอบคนละนิดก็จะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นได้ วัสดุที่เรานำมาใช้ผลิตสินค้า ก็เป็นของที่เห็นชีวิตประจำวัน ที่ถูกใช้แล้วทิ้งอยู่ทุกๆ วันแบรนด์ Qualy เปิดให้โอกาสให้ผู้บริโภคสามารถส่งขยะที่ตัวเองบริโภค และทำความสะอาดแล้ว ส่งมาให้เราได้ หรือการเข้าไปหาชุมชนที่เค้าทำโครงการต่างๆ เพื่อไปนำขยะพลาสติกมาทำงาน โดยการร่วมมือกับโครงการต่างๆ ที่รณรงค์ นอกจากนี้การช่วยสิ่งแวดล้อม ก็ไปช่วยสร้างความร่วมมือกับชุมชนด้วยการที่เรากระจายรายได้ไปถึงพวกเขาเพราะว่าเราไปซื้อวัสดุที่พวกเขาช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม
อีกทั้ง เราพยายามจะสร้างการรับรู้ให้ผู้คนว่าสิ่งที่เขาบริโภคแต่ละวัน เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังไง โดยการบอกเล่าผ่านบรรจุภัณฑ์ของเรา หรือเผื่อว่าคนที่อาจจะไม่ได้ซื้อแค่มาพบเห็น เค้าก็จะอาจจะได้ข้อมูลอะไรบางอย่างไป การที่เราใช้ไอเดียเนี่ยมันก็จะขยายความคิดของเราไปสู่ความยั่งยืนได้มากมาย อยากให้ทุกคนอย่าคิดว่าเราทำเพื่อความยั่งยืนนิดหน่อยมันจะไม่มีผล ซึ่งจริงๆแล้วทั้งเรื่องของการทำลายแล้วก็เรื่องของการสร้างสรรค์ มันเกิดจากการที่เราละเลยคนละนิดละหน่อย แต่จำนวนคนเยอะมันก็เลย Impact นะเพราะฉะนั้นถ้าทุกคนจะทำธุรกิจทำอาชีพทำกิจกรรมการบริโภคหรืออะไรต่างๆ เนี่ยก็ขอให้ความยั่งยืนเนี่ยลองคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่ง ทุกคนก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืนไปด้วยกันได้”
ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์
พัฒนาช่องทางการรับซื้อขยะ เพื่อเป้าหมายสู่การเปลี่ยนขยะให้เป็นศูนย์
สมภพ มาจิสวาลา ผู้พัฒนา Recycoex (รีไซโคเอ็กซ์) กล่าวว่า “เมื่อ 15 ปีที่แล้วเราเริ่มรู้สึกว่าเราต้องรักษาสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาในการคิดค้นผลิตวัสดุก่อสร้างเป็นไม้เทียมเพื่อทดแทนการใช้ไม้จริง แล้วเราบังเอิญพบว่ามันสามารถผลิตวัสดุก่อสร้างจากขยะได้ การ Upcycle คือการทำให้วัสดุมีมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น อยู่ตรงข้ามกับคำว่า
Downcycle คือถ้านำขยะไปเผา มูลค่ามันก็ลดลง เราก็ไม่ควรทำ เพราะฉะนั้นการ Upcycle ก็คือการทำให้ขยะเข้าสู่กระบวนการมากยิ่งขึ้น เราใช้ขยะในการผลิตวัสดุก่อสร้าง จำนวนเยอะมากๆ เดือนนึงประมาณ 300 ถึง 400 ตัน จึงทำให้เรารู้ว่าในฝั่งผู้ประกอบการ ขยะมันไม่พอ ทุกคนแย่งขยะกัน แต่ในส่วนภาคประชาชนกลับบอกว่าขยะกำลังล้นเมือง ทำไมขยะมันถึงมาไม่ถึงผู้ประกอบการ อย่างโฟมย่อยสลายได้ยาก อยู่ได้เป็น 1 ล้านปี แต่ก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้อยู่ในหลายส่วนธุรกิจ เราก็มีการตั้งจุดรับซื้อโฟมเป็นจุด Drive thru เพื่อนำมารีไซเคิลเป็นวัสดุก่อสร้าง อีกหนึ่งโครงการเราร่วมทำกับภาคเอกชนอยู่ก็คือ โรงการกลั่นน้ำมันเครื่องบินที่กลั่นจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว คาดจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2567 และยังมีโครงการที่คลองเตย ให้ชาวบ้านช่วยกรอกน้ำมันที่ใช้แล้วใส่ในขวด นำมาขายสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ซึ่งในอนาคตก็จะได้มีการพัฒนาโครงการและพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่นขยายโครงการต่อไป”
SX TALK SERIES ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของงาน Sustainability Expo 2024 (SX 2024) ในปีนี้ได้จัดครบ 6 ครั้งแล้ว หลังจากนี้เตรียมพบกันที่งาน SX2024 Sustainability expo 2024 มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน-6 ตุลาคม 2567 ติดตามข่าวสารและกิจกรรมดีๆ เพื่อความยั่งยืนได้ที่ www.sustainabilityexpo.com, Facebook :Sustainability Expo และแอปพลิเคชั่น SX
สมภพ มาจิสวาลา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี