4 สส. พรรคประชาธิปัตย์ ค้านร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย (จากซ้ายไปขวา) ชวน หลีกภัย,บัญญัติ บรรทัดฐาน, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, สรรเพชญ บุญญามณี
“โพลล์” หรือการสำรวจความคิดเห็น (รวมถึงอารมณ์ความรู้สึก) ของผู้คนต่อเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ซึ่งแม้หลายคนจะมองว่า “กลุ่มตัวอย่าง” ที่สอบถามจะมีจำนวนเฉลี่ยเพียงหลักพันคน แต่การทำโพลล์นั้นก็อยู่บน “หลักวิชาการ” จึงเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในทางการเมือง โพลล์ที่ทำโดยมหาวิทยาลัยหรือสถาบันทางวิชาการว่าด้วย “คะแนนนิยมของพรรคการเมือง-นักการเมือง”มักได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน นำไปเสนอเป็นข่าวอย่างกว้างขวาง
ดังตัวอย่างจากกรณี “การกลับหลัง 180 องศา ของพรรคประชาธิปัตย์” จากที่เคยขับเคี่ยวแข่งขันกับขั้วการเมืองที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร มาตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มาจนถึงรุ่นที่ 3 คือพรรคเพื่อไทย แม้จะไม่เคยชนะการเลือกตั้งแต่ก็ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านอย่างขยันขันแข็ง กระทั่งเมื่อวันที่ 28-29 ส.ค. 2567 พรรคเพื่อไทยได้ส่งเทียบเชิญให้พรรคประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของอดีตนายกฯ ทักษิณ และพรรคประชาธิปัตย์ก็มีมติตอบรับเข้าร่วม
หลังเรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าว มีโพลล์อย่างน้อย 2 สำนักที่พูดถึงการร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยของพรรคประชาธิปัตย์ อาทิ “ซูเปอร์โพล” ซึ่งในวันที่ 1 ก.ย. 2567 ได้เผยแพร่ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,346 คน สอบถามความคิดเห็นระหว่างวันที่ 29-31 ส.ค. 2567 พบว่า หลังมีข่าวเข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คะแนนนิยมต่อพรรคประชาธิปัตย์เพิ่มขึ้นหรืออยู่ในแดนบวก เพียงร้อยละ 39.9 ในขณะที่คะแนนนิยมส่วนใหญ่ต่อพรรคประชาธิปัตย์ลดลงหรืออยู่ในแดนลบ ถึงร้อยละ 60.1ในกลุ่มคนเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์
และต่อมาในวันที่ 8 ก.ย. 2567 “นิด้าโพล” ซึ่งเป็นโพลล์ที่จัดทำโดย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยแพร่ผลสำรวจเรื่อง “เสียงพี่น้องชาวใต้ถึงพรรคประชาธิปัตย์” สำรวจกลุ่มตัวอย่างที่อาศัยอยู่ในภาคใต้จำนวน 1,310 คน ช่วงวันที่ 2-3 ก.ย. 2567 พบว่า “กว่า 2 ใน 3 ไม่เห็นด้วยที่พรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ” แบ่งเป็นร้อยละ 54.19 ที่ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ14.58 ที่ไม่ค่อยเห็นด้วย
อีกทั้ง “มีไม่ถึง 1 ใน 5 หรือร้อยละ 17.48 เท่านั้น ที่ยืนยันว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะยังเลือกพรรคประชาธิปัตย์” ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างอีกร้อยละ 41.37ไม่ขอเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนร้อยละ 41.15 ยังไม่แน่ใจ ซึ่งผลโพลล์นี้สำคัญมาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า “พรรคประชาธิปัตย์ครองภาคใต้มานานหลายสิบปี” แม้กระทั่งช่วงที่พรรคไทยรักไทยของอดีตนายกฯ ทักษิณ มีคะแนนนิยมทางการเมืองถึงจุดสูงสุด กวาดที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เก็บเรียบเกือบทั่วประเทศ ก็ยังไม่สามารถพิชิตภาคใต้ได้แม้แต่เขตเลือกตั้งเดียว
รายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ“แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2567 สรรเพชญ บุญญามณี สส.จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็น “1 ใน 4 สส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่คัดค้านการร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย” กล่าวถึงการที่พรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ว่า เอาจริงๆ สถานการณ์ก็มีแนวโน้มเดินมาถึงจุดนี้ โดยมองเห็นสัญญาณ
เช่น การยกมือสนับสนุน เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี หรือตอนโหวตงบประมาณเพิ่มเติมของปีงบฯ 2567 ก็มี สส.ในพรรคบางคนไม่เข้าร่วม แต่สุดท้ายก็อยู่ที่มติพรรค แต่ถึงจะเป็น สส.เสียงส่วนน้อย ก็พยายามทำหน้าที่รักษาเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของพรรค รักษาหน้าตาของคนที่เคยสนับสนุนพรรค แต่รอบนี้จะเห็นพรรคประชาธิปัตย์โดนกระแสถาโถมเข้ามา หากใช้โอกาสตรงนี้สื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจนว่าจุดยืนของเราเป็นอย่างไร เราอาจพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้แต่ก็ไม่ได้เลือกแนวทางนั้น โดยเห็นว่าการร่วมรัฐบาลเหมาะสมมากกว่า
อย่างไรก็ตาม “การที่พรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มี แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯซึ่งวิญญูชนคนทั่วไปทราบว่ารัฐบาลชุดนี้มีใครอยู่เบื้องหลัง คิดว่าความไม่เห็นด้วยและกังวลในสังคม มีมากกว่าสมัยที่ไปร่วมรัฐบาลนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เพราะให้พูดกันตรงๆ คนที่ไม่ชอบระบอบทักษิณก็จะไปยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม แต่การเลือก พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะเห็นว่าเหมาะสมในการต่อสู้กับระบอบหรือวงจรเดิมๆ
“แต่วันนี้มันมีความต่างกันตรงที่ว่า ทั้งคนที่เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ คนที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อยู่ คนที่เคยไปเลือก พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงพี่น้องประชาชนทั่วไป คนที่ไม่ได้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราก็ต้องสะท้อนดูตัวเราเองว่า ณ วันนี้สังคมเขามองพวกเราอย่างไร อยากให้ลองคิดดู” นายสรรเพชญ กล่าว
นายสรรเพชญ กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ “นอกจากการทำงานและการมีนโยบายที่โดนใจประชาชนแล้ว ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดยืนทางการเมืองก็เป็นสิ่งที่ประชาชนสนใจ” และการตัดสินใจของประชาชนก็ดูว่าพรรคการเมืองยืนอยู่บนหลักคิดอย่างไร เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่
ต้องตีให้แตกจึงจะเดินไปข้างหน้าได้ และแม้จะเป็นเสียงส่วนน้อยก็ไม่อยากให้เสียงส่วนใหญ่ละเลย ตนก็ไม่อายที่จะแสดงความคิดเห็นแม้เพิ่งเป็น สส.สมัยแรก ดีกว่ามานั่งอยู่แล้วสุดท้ายโทษกันไป-มา ว่าวันนั้นมีโอกาสแต่เหตุใดไม่พูด
แต่สำคัญคือพูดแล้วก็จบไปแล้วด้วยมติของพรรค ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์อยู่มาได้นานกว่า 70 ปี เพราะอยู่กันด้วยการเคารพมติพรรค ทั้งนี้ แม้จะอายุน้อยและมีความคิดต่างไปจาก สส. ส่วนใหญ่ในพรรค ตนก็ไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะเดินอยู่ในสภาก็เจอ สส. ทั้งพรรคเดียวกันและพรรคอื่นๆพูดคุยกันได้ตามปกติ ซึ่งความเห็นต่างสามารถเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เรื่องแปลก คนเห็นต่างไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกัน ตนยังมองว่าหากเราเคารพความรู้สึกและความเห็นที่แตกต่างกัน สังคมโดยรวมก็ยังไปได้ โดยเฉพาะสังคมประชาธิปไตย และการเห็นตรงกันทุกเรื่องอาจมีปัญหาก็ได้
ทั้งนี้ สส. ในพรรคอีก 3 ท่าน ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคประชาธิปัตย์จะไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย คือ ชวน หลีกภัย,บัญญัติ บรรทัดฐาน และ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ซึ่งล้วนเป็นอดีตหัวหน้าพรรคและอยู่กับพรรคมานาน เรื่องอุดมการณ์และหลักคิดในการทำงานนั้นปราศจากข้อโต้แย้ง จะเห็นด้วยหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่การที่ตนได้เข้าไปพูดคุยและซึมซับ ก็ยิ่งทำให้เห็นว่า DNA ของพรรคประชาธิปัตย์ควรเป็นแนวทางนี้
“ทุกท่านก็บอกว่า อะไรที่เห็นตรงกันว่าที่ต้องปรับเปลี่ยนมันก็ต้องปรับเปลี่ยน อะไรที่ดีมาและทำมาอย่างดีแล้วเราก็ต้องยึดเหนี่ยวแนวทางนั้นให้มันหนักแน่น อะไรที่ปรับเปลี่ยนให้ทันยุคทันเหตุการณ์ก็ต้องปรับไป แต่เราไม่จำเป็นต้องปรับอุดมการณ์ของเรา พรรคการเมืองมันเป็นที่รวมกันของคนที่มีความคิดหรือว่าชุดความคิดคล้ายๆ กัน มันถึงเกิดพรรคการเมืองขึ้น ฉะนั้นถ้าเรามีชุดความคิดที่เริ่มต้นอาจไม่ตรงกันแล้ว หรือว่าห่างกันเหลือเกิน มันก็อาจจะคุยกันลำบาก” นายสรรเพชญ ระบุ
สส.หนุ่มผู้นี้ยังมองว่า มีความท้าทายหลายเรื่องที่อาจทำให้ไม่เหมือนเดิม แต่สิ่งที่ตนคิดว่าจะสามารถรักษาพรรคประชาธิปัตย์ไว้ได้ก็คืออุดมการณ์ อุดมคติที่อย่างน้อยเคยมีพรรคการเมืองที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มแข็งจนคนผิดถูกลงโทษจากการทุจริตต่างๆ ที่เห็นแล้วว่าสร้างความเสียหายกับประเทศชาติร้ายแรงเพียงใด หรือตอนเป็นรัฐบาลก็เคยวางรากฐานให้กับประเทศ ทั้งเรื่องการศึกษา การแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจถึง 2 ครั้ง แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีโอกาสสร้างประเทศ ซึ่งตนคิดว่าก็ต้องรอโอกาสต่อไป
ส่วนคำถามว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไปต่อได้หรือไม่ เรื่องนี้ไม่มีอะไรการันตีได้ แต่สิ่งที่ตนคิดว่าทุกคนได้สะท้อนความห่วงใยเข้ามาก็เป็นส่วนหนึ่งในการอยู่รอดของพรรคการเมือง นั่นก็คือฐานเสียง อย่างตนก็กังวลเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่พอสมควร เพราะใน จ.สงขลา มีความรู้สึกไม่เห็นด้วยค่อนข้างรุนแรงนี่เป็นสิ่งที่ได้สัมผัสเองโดยตรงในช่วงกลับไปลงพื้นที่เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแม้กระทั่งเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ตนก็รู้ว่าเลือกตั้งครั้งก่อนไม่ได้เลือกตน แต่ก็เข้ามาขอถ่ายรูปแล้วบอกว่าให้กำลังใจ ขอให้รักษาอุดมการณ์ของพรรค
เพราะจะว่าไปแล้วพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่อยู่มานาน หากเปรียบเทียบกับต้นไม้ก็เป็นต้นไม้ใหญ่พอสมควร และต่างจากพรรคอื่นๆ เพราะเป็นต้นไม้ที่มีรากแก้วพรรคประชาธิปัตย์เติบโตผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านพายุฝนมาอย่างยาวนาน ในบางช่วงเวลาอาจมีบางกิ่งที่แห้งเหี่ยวไป ใบไม้อาจดูไม่สดใสเหมือนเมื่อก่อน แต่สุดท้ายหากต้นไม้ยังยืนอยู่ได้มันก็ไม่ตาย
“ผมคิดว่าไปได้หรือไม่ได้ ประชาชนจะเป็นผู้ให้คำตอบกับเรา แต่ที่ผมแสดงความห่วงใยคือการที่ทำให้พรรคโตได้ ผมไม่เห็นว่าจะมีพรรคการเมืองที่ไหนที่จะมียุทธศาสตร์การนำพาพรรคให้เติบโตได้โดยเริ่มต้นจากการทำลายฐานเสียงตัวเอง นั่นคือสิ่งที่ผมได้เรียนท่านผู้บริหารและเพื่อนสมาชิกอย่างตรงไปตรงมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว”นายสรรเพชญ กล่าว
ต่อคำถามที่ว่า การเป็น สส.สงขลา จังหวัดเดียวกับ เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่อยู่ในฝ่ายสนับสนุนให้ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย รู้สึกลำบากใจบ้างหรือไม่ นายสรรเพชญกล่าวว่า คงเป็นเฉพาะเวลานี้ เพราะในฐานะผู้น้อยก็ต้องเคารพผู้ใหญ่ ได้เจอกันที่สภาก็ยกมือไหว้ทักทาย แสดงความยินดีกับนายเดชอิศม์ ที่ได้รับตำแหน่งในรัฐบาล น.ส.แพทองธาร และบอกว่ามีอะไรก็ต้องช่วยกันทำงาน แต่ไม่มีปัญหาอะไร และ ณ เวลานี้พรรคประชาธิปัตย์ยังคงไม่มีปัญหา ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไรค่อยว่ากันอีกที
ส่วนบทบาทในสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นอย่างไรต่อไปเมื่อพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนจากฝ่ายค้านเป็นฝ่ายรัฐบาลนายสรรเพชญตอบว่า การทำงานมีหลายรูปแบบ เช่น ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี นำข้อร้องเรียนมานำเสนอผ่านประธานสภาฯ หรือเมื่อมีประเด็นที่เห็นว่ามีผลกระทบต่อประชาชน และเป็นเรื่องที่ตนถนัดหรือสนใจ ก็สามารถลุกขึ้นให้ความเห็นในที่ประชุมได้ สิ่งเหล่านี้ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถทำได้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล
“ในส่วนของการทำหน้าที่อาจจะไม่เข้มข้น อันนี้ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะไม่ได้เข้มข้นเหมือนตอนเราอยู่พรรคฝ่ายค้านเวลาพูดอะไรออกไป สถานะของพรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้ก็กลายเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ฉะนั้นการจะพูดอะไรออกไปก็ต้องมีการที่จะรักษามารยาททางการเมืองหรือให้เกียรติพรรคร่วม อันนี้ผมเข้าใจดี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่เฉยๆ พูดอะไรไม่ได้” นายสรรเพชญ กล่าว
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี