มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พร้อมภาคี ชี้ทางรอดจากหายนะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องใช้กระบวนการธรรมชาติบำบัดและการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใต้ข้อตกลงปารีส
ประเทศไทยร่วมลงนามในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้ไทยต้องเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 120 ล้านตันเทียบเท่าภายในปี พ.ศ.2580 นอกจากนี้ไทยก็ได้รับรองกรอบความร่วมมือคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montréal Global Biodiversity Framework) เพื่อที่จะหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ทางบก ทางทะเล และน้ำจืดให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 – หรือเป้าหมาย 30x30
ในเวทีเสวนา Mae Fah Luang Sustainability Forum 2024 หัวข้อ “ปลูกป่า ปลูกคน: ทางเลือก ทางรอด” หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าหัวใจของความสำเร็จที่ประเทศไทยจะบรรลุตามข้อตกลงประกอบด้วยการใช้กระบวนการทางธรรมชาติ (nature-based solution) และการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นการสรุปบทเรียนมาจากการปลูกป่าบนดอยตุงของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ดำเนินมาครบ 36 ปี
“การมีป่าเพียงอย่างเดียวกำลังจะไม่เพียงพอ เพราะโลกกำลังต้องการป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และนอกจากนั้นป่ากับความหลากหลายจะยั่งยืนได้ก็ต้องมีคนคอยดูแล ซึ่งก็คือชุมชน ดังนั้นในการเดินไปสู่เป้าหมายของประเทศจะต้องมีทั้งสองปัจจัยนี้ และจะแยกจากกันไม่ได้”
ตลอดระยะเวลา 36 ปีที่ปลูกป่าบนดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ฟื้นฟูป่าได้ประมาณ 90,000 ไร่ สร้างอาชีพที่ดีแก่ประชาชนกว่าหนึ่งหมื่นคน และได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกกว่า 419,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ภาคีต่าง ๆ ในระยะยาว
นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากกรมป่าไม้ และภาคีภาครัฐและเอกชน 25 องค์กร ที่ร่วมกับ 281 ชุมชน เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนกว่า 258,186 ไร่ โดยมีเป้าหมายขยายโครงการไปยังป่าชุมชน 1 ล้านไร่ ภายในปี 2570 จากพื้นที่ป่าชุมชนทั้งหมด 6.8 ล้านไร่ในปัจจุบัน
“ในช่วงไฟป่าที่ผ่านมา คนไทยพากันหวาดกลัว PM2.5 แต่เราพบว่าไฟป่าในป่าชุมชนที่ร่วมงานกันลดลงจากเฉลี่ย 22% เหลือเพียง 0.86% จึงพิสูจน์แล้วว่าชุมชนเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม สอดคล้องกับพระบรมราโชบาย “ปลูกป่า ปลูกคน” นี่จึงทำให้เห็นว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดี ตั้งแต่แก้ปัญหาหมอกควัน เพิ่มพื้นที่ป่า สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน และเอกชนได้รับคาร์บอนเครดิต”
นอกจากนี้ ในขณะที่การแสวงหาคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต หม่อมหลวงดิศปนัดดา ยังตั้งข้อสังเกตว่าประชาคมโลกกำลังจัดมาตรฐานคาร์บอนเครดิตกันใหม่ โดยมีแนวโน้มการพัฒนาคาร์บอนเครดิตที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างประโยชน์แก่ชุมชนในป่า
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "นโยบายและแนวทางการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ" ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญและรับมือกับปัญหาที่ตามมา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฤดูกาล การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีส จะต้องดำเนินการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อนำไปสู่การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับประชาคมโลก รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ทั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 รวมทั้งเป้าหมายการมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ประเทศไทยได้รับรอง กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: KM – GBF) เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ นำไปสู่การบรรลุพันธกิจปี ค.ศ. 2030 (2030 Mission ) และวิสัยทัศน์ ปี ค.ศ. 2050 ให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ ประกอบด้วย 4 เป้าประสงค์ ดังนี้ เป้าประสงค์ A เพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทุกระบบนิเวศ เป้าประสงค์ B ดำรงรักษาหรือเพิ่มพูนประโยชน์ที่ได้รับจากธรรมชาติ เป้าประสงค์ C แบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม เป้าประสงค์ D แก้ปัญหาช่องว่างทางการเงินและแนวทางดําเนินงานอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการบรรลุวิสัยทัศน์ ปี ค.ศ. 2050
ทั้งนี้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมจัดทำ ร่าง พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นการวางกรอบกฎหมาย กลไก และเครื่องมือในภาคบังคับและส่งเสริมที่จำเป็นและเหมาะสมกับการขับเคลื่อนประเทศไทย ให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน สำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 29 (COP 29) มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 22 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน โดยมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการผลักดันในการยกระดับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับที่ 2 (NDC 3.0) ซึ่งมีกำหนดจัดส่งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2025 ดร.พิรุณ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของโลกใบนี้ จึงต้องช่วยกันดูแล และส่งต่อโลกที่ดีและยั่งยืนให้คนรุ่นต่อไป”
ภายในงานยังพูดถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนควบคู่กับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนภายใต้โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งให้ผลพลอยได้เป็นคาร์บอนเครดิตที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. นายสมิทธิ หาเรือนพืชน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานพิเศษมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และ นางปราณี ราชคมน์ ประธานเครือข่ายป่าชุมชน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
ขณะเดียวกันยังมีการเสวนาหัวข้อ “ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ: จากทางเลือกสู่ทางรอด” โดยตัวแทนภาคเอกชนมาแบ่งปันวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน กลยุทธที่ปฏิบัติได้จริง ได้แก่ นางต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) นางสุศมา ปิตากุลดิลก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนและบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ นางสุมลรัตน์ ทวีกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัท ยูนิชาร์ม (ประเทศไทย) จำกัด
นอกจากนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังพร้อมนำองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนไปเสริมทัพกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรเอกชนเพื่อนำกลยุทธความยั่งยืนขององค์กรไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาชุมชน การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการระบบน้ำ การปลูกและฟื้นฟูป่า การจัดการของเสีย เป็นต้น และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังมุ่งมั่นต่อยอดแนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนควบคู่กับการฟื้นฟูและรักษาธรรมชาติ สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based solution) และการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพและประโยชน์จากระบบนิเวศเป็นแนวทางในการปรับตัว (Ecosystem-based adaptation)
การจัดงานครั้งนี้ยังได้รับตรารับรอง Net Zero Event งานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก “สุทธิเป็นศูนย์” จาก อบก. โดยมีการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในงานด้วย “คาร์บอนเครดิตจากการอนุรักษ์ป่าไม้” ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จังหวัดเชียงราย
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี