หอคองคอเดีย พิพิธภัณฑ์แห่งแรก
วันที่ ๑๙ กันยายนทุกปีนั้น เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทยในวาระครบ ๑๕๐ ปี งาน “150 ปี พิพิธภัณฑ์ไทยสยามซิวิไลซ์ A Passage to Wisdom” สำนักพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ กรมศิลปากร จึงร่วมกับเครือข่ายฯจัดงานให้เห็นการเปลี่ยนพิพิธภัณฑ์มาสู่แหล่งเรียนรู้ในอนาคต คำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” จึงหมายว่าเป็น “สถานที่สำหรับรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เป็นต้น เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ โลกตะวันตก ได้มีการตื่นตัวในการเก็บรวบรวมมรดกของชาติ และสะสมทรัพย์สมบัติ ต่างๆ ทั้งที่เป็นวัตถุ สิ่งของมีค่า สิ่งเก่าแก่ ที่หายาก และแปลกๆ เพื่อเป็นหลักฐานทางมรดกวัฒนธรรมของชาติ เพื่อแสดงถึงความเป็นใหญ่และความมั่งคงทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เด่นชัด ซึ่งจะปรากฏได้ต่อเมื่อชาตินั้นๆ ได้มีการรวบรวมหลักฐานที่เป็นศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ สิ่งประดิษฐ์จากการคิดค้นหรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นสมบัติของชาติ มาเป็นหลักฐานให้ชนในชาตินั้นเกิดความภาคภูมิใจ
รัชกาลที่๔
ราชอาณาจักรสยาม หรือประเทศไทยนั้นได้มีการจัดพิพิธภัณฑ์ขึ้นเป็นครั้งแรก ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระองค์เป็นผู้ริเริ่มรวบรวมวัตถุที่เป็นมรดกของชาติและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ ณ พระที่นั่งราชฤดีเป็นครั้งแรก ต่อมาทรงโปรดฯ ให้ย้ายสิ่งของมาจัดแสดงมาในพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ในหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดฯ ให้ย้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และของแปลกประหลาดจากพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ มาจัดแสดงในหอคองคอเดีย ซึ่งเป็นอาคารใหม่ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพิธีเปิดหอมิวเซียมหรือพิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย ในวันที่๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๑๗ ถือเป็นวันกำเนิดของพิพิธภัณฑสถานของชาติแห่งแรกในราชอาณาจักรสยาม ครั้งนั้นการจัดพิพิธภัณฑ์ในหอคองคอเดียจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ทั่วไป โดยมีพระยาภาสกรวงศ์(พร บุนนาค) นายทหารกรมทหารมหาดเล็ก เป็นหัวหน้าฝ่ายไทย และมี นายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์ เป็นผู้อำนวยการจัดแสดงสิ่งของ ในพิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย ให้เป็นแบบสากลการ โดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ ๑.ศิลปะโบราณวัตถุของไทย ๒.ศิลปะโบราณวัตถุส่วนพระมหากษัตริย์ และ ๓.ศิลปะโบราณวัตถุจากต่างประเทศ ซึ่งนายเฮนรี่นั้น เป็นผู้ริเริ่มจัดทำแคตตาล็อกบัญชีสิ่งของดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาไทย
รัชกาลที่๕
หลังสุด พ.ศ.๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดฯ ให้ย้าย“มิวเซียม” จากหอคองคอเดียในพระบรมมหาราชวังไปจัดตั้งใหม่ที่พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) โดยใช้พระที่นั่งส่วนหน้าสามองค์เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุ คือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อวันที่๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๙ และต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ได้พระราชทานอาคารหมู่พระวิมานทั้งหมด เป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ทำให้มีการจัดแสดงนิทรรศการถาวร เรื่องประวัติศาสตร์ไทย ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เรื่องโบราณคดี ประวัติศาสตร์และศิลปกรรมในอาคารมหาสุรสิงหนาทและอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์เรื่องประณีตศิลป์และชาติพันธุ์วิทยา ในอาคารหมู่พระวิมาน
การพัฒนาการของพิพิธภัณฑ์จนถึงปัจจุบัน ๑๕๐ ปีนั้น ทำให้มีอาคารใหม่เพิ่มขึ้นและการจัดแสดง ตามรูปแบบสากลของศิลปวิทยาการที่เกิดขึ้นในโลก ทั้งทางศิลปะ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชาติพันธุ์วิทยา สังคมวิทยา และสาขาวิชาอื่นๆ โดยเข้าเป็นสมาชิกสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ หรือ ICOM ซึ่งให้คำจำกัดความว่า “พิพิธภัณฑ์” นั้นมิใช่เป็นแหล่งเก็บรวบรวม สงวนรักษาศึกษาวิจัย และจัดแสดงเฉพาะวัตถุเท่านั้น แต่ป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไดัรวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นหลักฐานสำคัญต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับสังคมวัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ จากหลักฐานในอดีต สิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สอดคล้องกับพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ.๒๕๔๒ ที่มีการสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ เช่นพิพิธภัณฑ์ อุทยานทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนและท้องถิ่น ห้องสมุด และอื่นๆเพื่อสร้างสังคมการเรียนรู้ การท่องเที่ยว สินค้าชุมชนและเศรษฐกิจรายได้ในท้องถิ่น และความมั่นคงของมนุษย์ด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี