นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501-2516 ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์อีกช่วงหนึ่งของชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะในช่วงดังกล่าวนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินทรงดนตรี ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประจำทุกปี และในหลายปีนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงโดยเสด็จด้วย พร้อมกันนั้นในหลายปีเช่นกันที่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงทุกพระองค์ คือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธร และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (พระราชอิสริยยศของแต่ละพระองค์ในขณะนั้น) โดยเสด็จด้วย
ในครั้งอดีตนั้น เมื่อถึงวันเสด็จทรงดนตรี ณ จุฬาฯ เหล่าบรรดานิสิต และคณาจารย์ รวมถึงข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของจุฬาฯ ต่างตื่นเต้นที่จะได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิด และได้ชมการแสดงดนตรีพระราชทาน รวมถึงได้รับฟังพระราชดำรัสที่ทรงมีต่อชาวจุฬาฯ อย่างเป็นกันเองอย่างที่สุด
ภาพแห่งความทรงจำและประทับใจมิรู้ลืมเหล่านั้นยังตราตรึงฝังแน่นอยู่ในมโนสำนึกของชาวจุฬาฯ ผู้จงรักภักดีไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านเลยไปนานกี่ทศวรรษ หรือกี่ศตวรรษก็ตาม
ด้วยเหตุนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงจัดงานที่ระลึกวันทรงดนตรี ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาประมาณเกือบ 20 ปี โดยแต่ละปีจะมีรูปแบบการนำเสนองานตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละปี เช่น ในปีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสู่สวรรคาลัย คณะผู้จัดงานก็จัดงานเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อพสกนิกรทั่วพระราชอาณาจักรไทย
ส่วนปีนี้เนื่องจากเป็นปีที่ครบ 60 ปีในการเสด็จพระราชดำเนิน ณ คอนเสิร์ตฮอลล์ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยในวันนั้นคือวันที่ 3 ตุลาคม 2507 วงซิมโฟนี ออร์เคสตรา แห่งกรุงเวียนนา เชิญเพลงพระราชนิพนธ์ชุดมโนราห์ สายฝน ยามเย็น มาร์ชราชนาวิกโยธิน และมาร์ชราชวัลลภ ไปบรรเลง และต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2507 สถาบันดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยการดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา ทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตรให้ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ ลำดับที่ 23 และเชิญพระปรมาภิไธยไปจารึกบนแผ่นหินในสถาบันดนตรีฯ จึงทรงนับเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับเกียรติสูงสุดเช่นนี้ ในขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุ 37 พรรษา
ดังนั้น การแสดงดนตรีในงานวันที่ระลึกวันทรงดนตรีปีนี้จึงเลือกนำเสนอวาระครบ60 ปีที่เสด็จพระราชดำเนิน ณ คอนเสิร์ตฮอลล์ กรุงเวียนนา โดยตั้งใจจำลองบรรยากาศเมื่อ 60 ปีที่แล้วให้ย้อนคืนกลับมาอีกครั้ง โดยเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ที่ถูกเชิญไปแสดงในครั้งอดีตกลับมาแสดงอีกครั้ง พร้อมทั้งมีการแสดงประกอบ เช่น บัลเลต์ชุดมโนราห์ที่ผู้แสดงแต่งกายให้เหมือนกับการแสดงในอดีต ซึ่งการออกแบบท่าเต้นและชุดโดยคุณหญิงเจเนเวียฟ เลสปันยอล เดมอนนักบัลเลต์ฝรั่งเศส-อเมริกัน แห่งคณะบัลเลต์รุส เดอ มอนติคาร์โล
และสิ่งที่สำคัญในงานวันที่ระลึกวันทรงดนตรีที่ทำต่อเนื่องมาโดยตลอดคือการร่วมสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ซึ่งเป็นมูลนิธิที่สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 เพื่อหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษา และบัณฑิตไทยที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการได้เดินทางไปศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศเพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศชาติของเรา โดยในครั้งแรกเริ่มนั้นพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนประเดิมจำนวน 2 หมื่นบาทครั้นต่อมาเมื่อ 3 เมษายน 2502 ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้เปลี่ยนจากทุนอานันทมหิดลเป็นมูลนิธิอานันทมหิดล
ทั้งนี้ คุณผู้อ่านร่วมบริจาคสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดลได้ต่อเนื่องทุกวัน โดยบริจาคเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี สมทบทุนอานันทมหิดล วันที่ระลึก
วันทรงดนตรี หมายเลขบัญชี 045-298139-9
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี