ผลงานของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ
ฉลองเปิดบ้านใหม่อย่างยิ่งใหญ่ คริสตีส์ ฮ่องกง จัดการประมูลผลงานศิลปะ “20th-21st Century Sales” ครั้งแรกที่สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในวันที่26-27 กันยายน 2567 โดยมีผลงานทรงคุณค่าของศิลปินระดับโลกและผลงานชิ้นเอกของศิลปินไทยร่วมในการประมูลครั้งนี้
คริสตีส์ (Christie’s) เป็นสถาบันการประมูลระดับโลกที่ก่อตั้งเมื่อปี 2309 ปัจจุบันมีตัวแทนอยู่ทั่วโลก สำหรับคริสตีส์ ฮ่องกง ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้ย้ายที่ทำการไปยัง เดอะ เฮนเดอร์สัน อาคารใหม่ล้ำสมัย แลนด์มาร์คทางสถาปัตยกรรมของฮ่องกง ผลงานการออกแบบโดยซาฮา ฮาดิด อาร์คิเทคส์ บริษัทออกแบบชั้นนำของโลก
ประภาวดี โสภณพนิช
สำนักงานแห่งใหม่นี้เป็นศูนย์กลางครบวงจรซึ่งรวบรวมพื้นที่จัดนิทรรศการ หอศิลป์ และห้องจัดประมูลอันทันสมัยที่สุดในเอเชีย นอกจากนี้ ยังเป็นจุดนัดพบของนักสะสมและผู้ที่หลงใหลในงานศิลปะและสินค้าหรู โดดเด่นด้วยการออกแบบซึ่งรองรับการใช้งานที่หลากหลายโดยคำนึงถึงความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งคาดหวังว่าจะกลายเป็นต้นแบบสำหรับสถานที่จัดนิทรรศการและการประมูลระดับโลกอีกทั้ง การย้ายสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของคริสตีส์ไปยังอาคาร เดอะ เฮนเดอร์สันเป็นการตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดเอเชียระดับโลกตอกย้ำถึงความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่นของคริสตีส์ที่มีต่อภูมิภาคนี้
ในโอกาสสำคัญนี้ คริสตีส์ ได้จัดโปรแกรมการประมูลงานศิลปะและสินค้าหรูรวมทั้งนิทรรศการสร้างสรรค์และกิจกรรมพิเศษตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2567 เริ่มต้นด้วยการประมูลผลงานศิลปะจากศตวรรษที่ 20และ 21 ในวันที่ 26-27 กันยายน 2567 และจัดแสดงผลงานที่เข้าร่วมประมูลให้ชมระหว่างวันที่ 22-26 กันยายน 2567
ไฮไลท์ของ “20th-21st Century Sales” ครั้งนี้เป็นผลงานจากปรมาจารย์ด้านศิลปะที่ได้รับการยกย่องทั่วโลกรวมทั้งศิลปินร่วมสมัยที่มีชื่อเสียง อาทิ ผลงาน “Les canots amarrés” (2430) ภาพสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ ผลงานของ“วินเซนต์ แวนโก๊ะ” วาดในปารีสช่วงฤดูร้อนปี 2430 ซึ่งไม่เคยปรากฏให้สาธารณชนเห็นมานาน 3 ทศวรรษ
ผลงานของ โคลด์ โมเนต์
“Nymphéas” (วาดประมาณปี 2440-2442) ผลงานชิ้นเอกของ“โคลด์ โมเนต์” หนึ่งในภาพดอกบัวอันลือลั่น สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อ 125 ปีที่แล้วและกำลังจะปรากฏในการประมูลเป็นครั้งแรก ผลงาน “05.06.80-Triptyque” (2523) ภาพวาดสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ (3 ภาพ) ของ “จ้าวอู๋จี้” (ZaoWou-Ki) บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของจีน งานระดับมาสเตอร์พีซที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ถูกนำมาไปประมูลครั้งแรก ผลงาน “9-XII-71#216” (2514) ภาพวาดผสานจุดสีน้ำเงิน (Blue Pointillist) ซึ่งได้รับการยกย่องมากที่สุดจากช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ในนิวยอร์กของ “คิมวานกิ”(Kim Whan-ki) จิตรกรผู้บุกเบิกศิลปะนามธรรมของเกาหลี ฯลฯ
ที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือ ผลงานของศิลปินไทยชั้นนำ เช่น ผลงาน “Untitled”(2509) ภาพสีน้ำมันบนผืนผ้าใบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดย “ถวัลย์ ดัชนี”ศิลปินแห่งชาติผู้เป็นตำนาน งานจากยุคปารีสที่หายากและไม่เคยปรากฏต่อสายตาสาธารณะมาก่อน ผลงาน“Universe” (2515) ภาพสีน้ำมันบนผืนผ้าใบติดบนแผ่นไม้ของ “ประเทืองเอมเจริญ” ปรมาจารย์ด้านศิลปะที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศผลงาน “Untitled” (2506) ภาพสีอีพ็อกซีมารีนบนผืนผ้าใบของ “จ่างแซ่ตั้ง” ผู้บุกเบิกจิตรกรรมนามธรรมของไทย เป็นการเปิดตัวครั้งแรกในงานประมูล ผลงาน “Shore Scene with Boats, Rocks and Scaffold-Like Poles” (2504) สีน้ำมันบนผืนผ้าใบ และ “Buddha” (2510) ภาพคอลลาจและสีเทมเพอราบนผืนผ้าใบ ผลงานของ “ดำรงวงศ์อุปราช” หนึ่งในศิลปินผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของไทย เป็นการเปิดตัวครั้งแรกใน Evening Sales ผลงาน “The Yellow MET” (2550) สีน้ำมันบนผ้าใบโดย “นที อุตฤทธิ์” ศิลปินไทยร่วมสมัยผู้โดดเด่นในระดับนานาชาติ ฯลฯ
ผลงานของ ถวัลย์ ดัชนี
ประภาวดี โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการ คริสตีส์ ประเทศไทย, เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว, พม่า (CLMVT) กล่าวว่าการที่มีผลงานศิลปะจากไทยรวมอยู่ในงานประมูลระดับนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับในระดับสากล ที่ผ่านมาผลงานของศิลปินไทยได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ประมูลและผู้เข้าร่วมงานจากทั่วโลก โดยก่อนหน้านี้มีผลงานของศิลปินไทยที่ไปสร้างสถิติระดับโลกในการประมูลงานศิลปะ เช่น “Scream of Sorrowful” ของ ถวัลย์ ดัชนี และ “The Symphony of the Universe” ของประเทือง เอมเจริญ เป็นต้นสำหรับงานประมูลที่จะจัดขึ้นในครั้งนี้คาดหวังว่าผลงานศิลปะไทยที่มีคุณค่าและเอกลักษณ์จะได้การตอบรับอย่างดีจากนักสะสมและผู้รักศิลปะทั่วโลก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี