“ผมว่าครั้งนี้ค่อนข้างหนักมาก เพราะจากสภาพที่ลงไปตั้งแต่ตอนน้ำท่วม แล้วก่อนนั้นจะมีเรื่องของการอพยพ ทีมผมก็ลงไปในพื้นที่ เป็นทีมแรกๆ ที่เข้าไปอพยพคนออกมา จนน้ำลดระดับหนึ่ง ได้นำถุงยังชีพพระราชทานเข้าไปมอบ น้ำลดแล้วเราก็มีแผนเรื่องการฟื้นฟูกันต่อ ซึ่งพื้นที่ตรงที่ค่อนข้างหนักมาก ด้วยบริบทของภูมิประเทศค่อนข้างลาดชัน ฉะนั้นน้ำมาเร็ว-มาแรง แล้วก็สูง บางพื้นที่คือจมดินอยู่ประมาณครึ่งบ้าน คือมีตะกอนดินอยู่ครึ่งบ้านเลย แล้วก็ของเสียหายทั้งหมด มีเหตุผู้เสียชีวิตในพื้นที่ด้วย”
ฐิติวัฒน์ ว่องวรรณกุล กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2567 ถึงการลงพื้นที่ของทีมงานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงราย ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนก.ย. 2567
และแม้หลายพื้นที่ระดับน้ำจะลดลงแล้ว แต่การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับคืนดังเดิมก่อนเกิดเหตุอาจต้องใช้เวลาเป็นปี ทั้งบ้านเรือนและทรัพย์สินอื่นๆ ที่เสียหาย ตลอดจนเส้นทางน้ำที่เปลี่ยนไป อาทิ ในพื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านแม่สาย ดินกองสูงขึ้นมาจากระดับแนวถนนถึง 1 เมตร
ก็ต้องขุดดินออก ขณะที่ผู้ประสบภัยหากมีฐานะยากจนอยู่แล้วก็ยิ่งลำบากมากขึ้นไปอีก รวมถึงสภาพจิตใจที่คงจะมีบาดแผลไปอีกนาน เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน
ทั้งนี้ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จัดตั้งขึ้นตามพระดำริของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงและสนับสนุนทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเป็นการช่วยเหลืออย่างครบวงจร ตั้งแต่การเฝ้าระวังการบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟู
นายฐิติวัฒน์ กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ได้พระราชทานพระนโยบายให้กับมูลนิธิฯ ไว้ว่า “มูลนิธิฯจะเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศในการจัดการอุทกภัย ในด้านสังคมและมนุษย์ โดยเชื่อมโยงภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ ทำงานเข้าด้วยกัน” ซึ่งตนได้ยึดพระนโยบายนี้ ออกมาเป็นกิจกรรมแต่ละด้าน
“เรื่องของน้ำท่วมเราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ 100% เพราะปัจจัยของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลง การไปสร้างที่ถมทับแหล่งน้ำธรรมชาติก็เป็นปัจจัย เพราะฝนตกลงมาไม่มีแหล่งก็ต้องท่วมเข้าบ้านเรือนคน ตรงนี้เป็นปัจจัยของมนุษย์ที่ได้ไปเปลี่ยนแปลงโลกทั้งโลกร้อนก็ดี ทั้งเรื่องของสภาพแวดล้อมเปลี่ยน แต่ว่าสิ่งสำคัญที่มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ได้ดำเนินการมาสักระยะหนึ่งแล้ว คือการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการเฝ้าระวังอุทกภัย” กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย กล่าว
ตัวอย่างการทำงานของมูลนิธิฯ เพื่อแก้ปัญหาในจุดที่หน่วยงานภาครัฐมีข้อจำกัด นายฐิติวัฒน์ เล่าถึงพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย นายอำเภอพยายามทำหนังสือไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอให้ติดตั้งระบบโทรมาตรสำหรับเตือนภัยน้ำท่วม แต่การต้องไปติดตั้งในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา ทำให้หน่วยงานของรัฐไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้มูลนิธิฯ จึงเข้ามาอุดช่องว่างในจุดนี้ เพราะเป็นนิติบุคคลที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐและมีงบประมาณมาจากเงินบริจาค จึงไปเจรจากับผู้มีอำนาจในฝั่งเมียนมา เนื่องจากจะได้ประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศในการลดความเสียหาย
โดยจะเริ่มโครงการนำร่อง ติดตั้งระบบโทรมาตรอัตโนมัติในเมียนมา ช่วงเดือนต.ค. 2567 ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั้งฝั่งเมียนมาและฝั่งไทยบริเวณ อ.แม่สาย จ.เชียงราย รู้ว่าฝนที่ตกลงมามีปริมาณเท่าใด ปริมาณน้ำในลำน้ำสูงขึ้นเท่าใด เพื่อจะได้เตรียมการอพยพ ซึ่งเส้นทางของมวลน้ำจะไหลจากฝั่งเมียนมาเข้ามาในฝั่งไทยบริเวณ อ.แม่สาย อย่างแน่นอน นอกจากนั้น มูลนิธิฯ ยังเชิญ 11 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาทำบันทึกความตกลง (MOU) ร่วมกันเพื่อติดตั้งระบบโทรมาตรในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถติดตั้งได้เพราะติดขัดเรื่องข้อกฎหมายป่าไม้หรืออุทยาน
“ทุกหน่วยงานยินดีให้ติด แต่เขาก็ไม่ได้มีหน้าที่ติด เพราะฉะนั้นเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ก็ทำลักษณะเป็นเหมือนเจ้าภาพเชิญ 11 หน่วยงานมาประชุมกันว่าเราต้องการจะทำในลักษณะนี้เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นท่านสามารถอนุญาตได้ไหม? เขาบอกอนุญาตได้เลยตามมาตรานี้ หน่วยงานนั้นก็อนุญาตได้ เราก็เลยมีการดำเนินโครงการนี้ ตอนนี้เราติดไปแล้ว 242 สถานี จาก 504 สถานี ซึ่งตรงนี้ทุกหน่วยงานสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ และเป็นการเฝ้าระวังพื้นที่ตัวเองได้” นายฐิติวัฒน์ ระบุ
นายฐิติวัฒน์ เล่าต่อไปว่า ขณะที่ในฝั่ง สปป.ลาว ดำเนินการติดตั้งระบบโทรมาตรไปแล้ว 28 สถานี และได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ใช้ข้อมูลในฝั่งลาวว่ามีประโยชน์มากในการแจ้งเตือนประชาชนให้อพยพหรือยกของขึ้นที่สูง และจะมีประโยชน์สำหรับจังหวัดทางฝั่งไทยที่ติดกับ สปป.ลาว ด้วย เพราะ “ภัยพิบัติไม่มีการแบ่งเขตแดน” ขณะที่ในเรื่องการเตือนภัยพิบัติ หากเป็นในแง่กฎหมายจะมีเพียงกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นหน่วยงานเดียวเท่านั้นที่สามารถประกาศภัยพิบัติได้ แต่ก็เข้าใจว่าหากให้หน่วยงานใดประกาศก็ได้อาจทำให้เกิดความตื่นตระหนก
ดังนั้นสิ่งที่ทางมูลนิธิฯ ทำคือการสร้าง “เครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)” มีต้นแบบจำนวน 19 แห่งทั่วประเทศ มุ่งเน้นการทำให้ชุมชนเป็นฐานจัดการภัยพิบัติ (Community Base Risk Management) ซึ่งเป็นหลักสากล เพราะแม้ส่วนกลางจะมีข้อมูลรับรู้ล่วงหน้า แต่คนที่อยู่ในพื้นที่สามารถจัดการได้ดีกว่า โดยทุกปีจะมีตัวแทนทั้ง 19 ชุมชน เข้ามารับการฝึกอบรมที่ส่วนกลาง เรียนรู้ร่วมกันว่าพื้นที่ที่มีบริบทใกล้เคียงกันจะรับมืออย่างไร เช่น ต้องทำฝายชะลอน้ำหรือไม่?ต้องลอกลำเหมืองหรือไม่? หรือจะติดตั้งโทรมาตรที่จุดใด?
รวมถึงฝึกอบรมทักษะการกู้ภัย เพื่อที่เมื่อเกิดเหตุการณ์จริงนอกจากจะเอาชีวิตรอดได้แล้วยังสามารถไปช่วยเหลือพื้นที่ใกล้เคียงได้ด้วย ซึ่งจาก 19 ชุมชนต้นแบบ ปัจจุบันสามารถขยายไปเป็น 200 ชุมชน โดยจากชุมชนต้นแบบก็ขยายออกไปยังชุมชนใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม ระยะหลังๆ ก็มีการบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เช่น ปภ. กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เป็นต้น
“ตรงนี้เราก็พยายามไปผลักดันสปป.ลาว เหมือนกัน บอกว่าคุณจะต้องบูรณาการข้อมูลให้ได้ ในอดีตประเทศไทยต่างหน่วยงานก็ไม่มีการแชร์ข้อมูลกันแล้วสุดท้ายก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะหน่วยงานนั้นก็ติดโทรมาตร หน่วยงานนี้ก็ติดโทรมาตร แล้วไม่มีการแชร์ข้อมูลด้วยกัน มันกลายเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนแล้วไม่ได้เกิดประโยชน์ บางจุดโทรมาตรใกล้กันเลย 2 หน่วยงาน ก็บอกว่าจริงๆ มันน่าจะมีการแชร์ข้อมูลกันได้แล้วนะเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยดำเนินการไปแล้วหลายสิบหน่วยงาน” นายฐิติวัฒน์ กล่าว
ส่วนข้อสังเกตเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ปีนี้ดูจะรุนแรงกว่าปีก่อนๆ เพราะเกิดน้ำท่วมทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ในเวลาไล่เลี่ยกัน นายฐิติวัฒน์ ให้ความเห็นว่า มีปัจจัยทั้งปรากฏการณ์ลานีญา ภาวะโลกร้อน และถือเป็นสัญญาณเตือนภัย เพราะสถิติทั้งในไทยและระดับโลกไปในทิศทางเดียวกันว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติในอนาคตมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ดังนั้น 1.ต้องรู้เรื่องการใช้ข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเฝ้าระวังป้องกันภัย กับ 2.ต้องเข้าใจเรื่องระบบนิเวศ น้ำท่วมก็เป็นผลจากสิ่งที่มนุษย์ได้ทำลงไป ซึ่งมนุษย์ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป
โดยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา การทำงานของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ภารกิจหลักคือการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น มอบถุงยังชีพพระราชทาน จัดรถประกอบอาหาร แต่ปัจจุบันได้มีการเพิ่ม “เครือข่ายทีมอาสาปฏิบัติการภัยพิบัติ” เป็นทีมที่มีศักยภาพเหมือนกับกู้ภัย แต่จะปฏิบัติงานเฉพาะเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม โดยมูลนิธิฯ สนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้และการฝึกอบรมให้มีทักษะ
ซึ่งทีมนี้ออกปฏิบัติงานแล้วทั้งที่ จ.แพร่ จ.สุโขทัย และ จ.เชียงราย ช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ตามบ้านเรือนได้หลายร้อยชีวิต “บ้านบางหลังต้องใช้วิธีเจาะหลังคาลงไป เพราะผู้ประสบภัยเป็นผู้สูงอายุที่นอนอยู่บนฝ้าและระดับน้ำสูงมาก” โดยมีเพื่อนบ้านแจ้งเหตุเข้ามาให้ไปช่วยเหลือ สำหรับการตัดสินใจว่าจะออกปฏิบัติงานในพื้นที่ใด จะดูจากข้อมูลระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบกับการสอบถามข้อมูลในพื้นที่ เช่น จากหน่วยงานรัฐหรือเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชน ว่าสถานการณ์ ณ ขณะนั้นเป็นอย่างไร
“อีกอันที่ผมประทับใจมากๆ คือ เครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) มีอยู่ที่หนึ่งมาจากเกาะขันธ์ จ.นครศรีธรรมราช นำอุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นมาช่วยผู้ประสบภัยที่เชียงราย เขามาจากคนละภาคกันเลย ตีรถขึ้นมาเพื่อมาช่วย แล้วเราก็ได้รับการสนับสนุนจากกู้ภัยอีกหลายแห่งที่มาร่วมการทำงานกับเราไม่ว่าจะเป็นกู้ภัยมังกร (มูลนิธิธรรมรัศมีมณีรัตน์) หรือว่ากู้ภัยบึงโขงหลงซึ่งเขาขอตีรถกลับไป จ.บึงกาฬ แล้วเพราะมีปัญหาเหมือนกันทางภาคอีสาน ตรงนี้ก็เป็นภาพของการบูรณาการการทำงานร่วมกัน
แต่ว่าเราไม่ได้มาทำโดยพลการนะหลังจากเราเช็คข้อมูลอะไรต่างๆ เราจะเข้าไปรายงานตัวกับจังหวัด เพื่อไปรายงานให้ทางผู้ว่าราชการก็ดีนายอำเภอก็ดี ทราบว่าเราเอาอะไรมาบ้างและพื้นที่ไหนที่มีปัญหา เพราะเราไม่ได้ชำนาญพื้นที่ เขาก็เป็นคนชี้พิกัดให้ว่าจะลงพื้นที่ไหน” กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย เล่าถึงสิ่งที่ประทับใจจากการทำงาน
นายฐิติวัฒน์ สรุปความเกี่ยวกับเครือข่ายทีมอาสาปฏิบัติการภัยพิบัติ ว่า เราพยายามสร้างชุมชนต้นแบบให้มีศักยภาพทั้งด้านความรู้และอุปกรณ์
ที่จำเป็น ผ่านการจัดสรรงบประมาณที่ได้รับจากการบริจาค เช่น จัดซื้อเรือ เสื้อชูชีพ เชือก ไฟฉาย ฯลฯ เพื่อให้ทีมกู้ภัยออกไปช่วยชีวิตคนจากสถานการณ์วิกฤตได้ “เพราะชีวิตคนประเมินค่าไม่ได้” ทุกการออกปฏิบัติงานจึงต้องทุ่มเทอย่างหนักเพื่อรักษาชีวิตเหล่านั้นให้รอดออกมา!!!
น้ำท่วมเชียงรายรอบนี้หนักจริง : นายฐิติวัฒน์ ว่องวรรณกุล กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เล่าถึงการลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนของมูลนิธิฯ ในพื้นที่ จ.เชียงราย ซึ่งเกิดเหตุอุทกภัย ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนก.ย. 2567 ว่า การทำงานของมูลนิธิฯ เจอปัญหาเรือล่มและฉีกขาดหลายครั้ง เนื่องจากกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากทำให้เรือถูกน้ำพัดไปกระแทกกับเสาไฟฟ้าบ้าง ผนังอาคารบ้าง จึงต้องเปลี่ยนมาใช้วิธีนั่งรถแบ๊กโฮเข้าไปแจกถุงยังชีพ และต้องขึ้นไปนั่งที่มือตักของรถเพื่อยกขึ้นไปแจกถุงยังชีพ เนื่องจากผู้ประสบภัยติดอยู่บนชั้น 2 ของบ้าน ไม่สามารถออกไปไหนได้เพราะเจอทั้งกระแสน้ำอีกทั้งชั้นล่างยังถูกดินโคลนถล่มปิดทางไว้
อีกทั้งกว่าจะเข้าไปได้ รถแบ๊กโฮยังต้องคอยตักดินโคลนออกเพื่อเปิดทางซึ่งมีเหตุการณ์หนึ่งที่ตนไม่ได้เข้าไปด้วยตนเอง แต่ได้รับรายงานว่าระหว่างกำลังตักดินก็พบศพคนที่จมอยู่ในโคลนติดขึ้นมาด้วย ดังนั้นก็ยังไม่รู้ว่ามีอีกกี่ชีวิตที่จมหายไป ส่วนอีกเหตุการณ์หนึ่ง ในวันที่ 16 ก.ย. 2567 ครั้งนี้ตนไปลงพื้นที่บ้านของผู้เสียชีวิต เป็นบ้านที่อยู่ติดกับแม่น้ำสาย เห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ถูกน้ำท่วมไปครึ่งองค์ รวมถึงได้ไปเจอผู้ประสบภัยที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบอาชีพรับจ้างหรือเป็นเกษตรกร ซึ่งมีรายได้น้อยมาก
“เขาบอกว่าใช้เวลาเกือบเป็น 10 ปีในการสร้างบ้านหลังหนึ่งขึ้นมา แล้ว ณ ตอนนี้เขาไม่เหลืออะไรแล้ว นี่คือความหดหู่ใจที่เราเห็น แล้วผมเรียนตรงๆว่าสภาพบ้านที่ผมไปดู ถ้าผมเป็นเจ้าของบ้านเองผมยังไม่รู้เลยว่าจะต้องจัดการอย่างไร ในเมื่อดินโคลนมันท่วมครึ่งบ้าน สิ่งที่เราทำได้ซึ่งเราได้รับความอนุเคราะห์อย่างดีจากบริษัทสยามคูโบต้า เขาลงมา เอารถแบ๊กโฮ รถขุดรถแทร็กเตอร์ลงมาช่วย ผมก็เลยชี้พิกัดให้เขาว่าจุดนี้ต้องการเครื่องจักรมาก” นายฐิติวัฒน์ กล่าว
หมายเหตุ : สามารถติดตามรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์”ในรูปแบบการพูดคุยกับแขกรับเชิญ ได้ทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ ส่วนทุกวันพุธในช่วงเวลาเดียวกัน จะเป็นรูปแบบการเล่าข่าวที่น่าสนใจในประเด็นการเมือง โดยมีสื่อมวลชนสายทหารอย่างวาสนา นาน่วม มาร่วมดำเนินรายการ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี